ทุเรียนหนองบัวลำภู ปลูกได้ผลผลิตแล้ว

หนองบัวลำภู เกษตรกรหัวไวใจสู้ ลุยพลิกผืนดินที่ราบสูงอีสานตอนบนปลูกทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ วันนี้ทุเรียน 4 ปีกว่า เริ่มเป็นความหวังแล้ว ผลผลิต หมากผลเริ่มออก เกษตรกร หน่วยงานพื้นถิ่นเข้าเยี่ยมชม เตรียมส่งเสริมให้ตั้งกลุ่มปลูกเป็นพืชทางเลือกใหม่

คุณสมบัติ เคนคำ และ คุณวัญเพ็ญ เคนคำ

ทุเรียน เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก จังหวัดนนทบุรี แต่หลายคนมักจะถามไถ่กันว่า พื้นที่อื่นนอกจากสภาพภูมิอากาศดังกล่าวแล้ว ยังมีปลูกได้ที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะคนพื้นถิ่นอีสานที่แลเห็นว่า ราคาของทุเรียนโดยประมาณทุกวันนี้ พุ่งไปอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150-160 บาท ทำให้ความคิดความหวังว่า หากปลูกได้ที่พื้นถิ่นของตัวเองบ้าง ก็น่าจะทำเงินให้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งต่อมาก็เริ่มมีเกษตรกรในพื้นที่ราบสูงของอีสาน ได้เริ่มนำทุเรียนมาทดลองปลูก และเริ่มเห็นผลผลิตที่ดีมีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ และอีกหลายจังหวัดของภาคอีสานได้มีทั้งการปลูกแบบทดลองเป็นผลไม้หลังบ้าน ปลูกแบบเป็นการค้า ดูว่านอกจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นแล้ว ภูมิอากาศแบบผืนดินอีสาน หากเกษตรกรผู้ปลูกมีความรู้ ความเข้าใจโดยธรรมชาติของทุเรียน ที่ได้ชื่อว่า ราชาผลไม้นี้แล้วก็น่าจะทำให้เจริญเติบโตให้ผลผลิตได้เช่นกัน

คุณอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู เยี่ยมชมสวน
ผลผลิตที่ได้

สองพี่น้อง ตระกูล “เคนคำ” เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่หลังจากหาข้อมูลทั้งในอินเตอร์เน็ต ยูทูบ ดูการปลูกของเกษตรกรรายอื่น ดูจากเกษตรกรที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ที่เห็นว่า ทุเรียน ปลูกได้ในผืนดินอีสาน แม้ว่าตอนนี้ข้อมูลในพื้นที่ของจังหวัดหนองบัวลำภู จะยังไม่มีเกษตรกรรายใดปลูกได้ แต่จากการที่เขาดูจากสภาพพื้นที่ดินของตัวเองที่อยู่ติดเชิงเขาอากาศ ดิน น่าจะทำให้พืชชนิดนี้เจริญเติบโตได้ เหมือนกับผลไม้ชนิดอื่นที่มีอยู่

ทั้งคู่ เมื่อ 4 ปีกว่าที่ผ่านมา คุณชัยวัฒน์ เคนคำ ผู้เป็นพี่ และ คุณสมบัติ เคนคำ น้องชาย เป็นชาวบ้านโคกสง่า ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ตัดสินใจลงทุเรียนในพื้นที่ดินของตนเองอย่างไม่ลังเล โดยพี่ชาย ปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ น้องชายปลูกในพื้นที่ 5 ไร่

คุณอำพล ชัยโคตร ตัวแทน คุณชัยวัฒน์ เคนคำ ให้ข้อมูลเรื่องการปลูกทุเรียน
สภาพแปลงปลูก

ทั้งสองพี่น้องและครอบครัวได้บอกเล่าถึงสิ่งที่ทำให้เลือกที่จะนำเอาทุเรียน ผลไม้ตัวใหม่มาลงในพื้นที่ก่อนเกษตรกรรายอื่น ซึ่งยังไม่มีใครในพื้นที่ทำเลย และมั่นใจได้อย่างไรนั้น

สำหรับ คุณชัยวัฒน์ เคนคำ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7/2 บ้านโคกสง่า ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู จบการศึกษา ปวช. ช่างยนต์ ส่วน คุณสมบัติ  เคนคำ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่บ้านเดียวกันกับพี่ชาย จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งคู่เติบโตมาจากครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยบิดามารดาเป็นผู้ที่ทำการเกษตรอยู่ที่บ้าน เมื่อเรียนจบการศึกษาพี่ชายได้ไปทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนน้องไปทำงานในโรงงานที่กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน และในเวลาต่อมาทั้งคู่ได้แต่งงานมีครอบครัว โดยพี่ชายมีภรรยาคือ คุณอำพล ชัยโคตร เป็นคนอุบลราชธานี น้องชายได้ภรรยา คือ คุณวันเพ็ญ เคนคำ ชาวศรีสะเกษ ภรรยาทั้งคู่ซึ่งได้เคยพบเห็นการทำสวนทุเรียนในพื้นที่มาก่อน จึงเป็นส่วนสนับสนุนทำให้มีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตให้หมากผลในพื้นดินหนองบัวลำภูได้ จากนั้นทั้งคู่ก็ลาออกจากงาน กลับบ้านเกิดมาทำการเกษตร เพื่อดูแลบิดามารดาที่เริ่มมีอายุมากขึ้นและสืบทอดอาชีพเกษตรกรรม

เยี่ยมชมดูงาน

ความไม่สบายใจที่สองคนพี่น้องเป็นห่วงก็คือ ไม่มีคนที่จะดูแลพ่อแม่ อยากกลับมาอยู่บ้าน และสุดท้ายจึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาอยู่บ้านและทำการเกษตร โดยเริ่มจากการปลูกมะนาวไร้เมล็ด จำนวน 200 ต้น เพื่อจำหน่ายที่ตลาดเมืองทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยขายส่ง กิโลกรัมละ 20 บาท ผลผลิตออก 2 รอบ ต่อเดือน เฉลี่ยเดือนละ 300 กิโลกรัม แต่มะนาวให้ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะส่งไปจำหน่าย ในระหว่างนั้นพี่ชายได้ศึกษาหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ ว่า พืชชนิดไหนเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีความสนใจเกี่ยวกับอยากปลูกทุเรียน ได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนว่ามีที่ไหนในภาคอีสานที่สามารถปลูกได้ พบว่า มีการปลูกอยู่ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี แล้วยังได้ไปศึกษายังสถานที่จริง และสอบถามข้อมูลในการปลูกดูแลรักษาที่บ้านญาติที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ว่ามีแหล่งจำหน่ายพันธุ์ที่ไหนที่น่าเชื่อถือ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงได้ซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนมาปลูก เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ได้ซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง ที่เสียบยอดจากร้านขายพันธุ์ไม้อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี จำนวน 300 ต้น ราคาต้นละ 60 บาท

ผักก็สร้างรายได้

ในขณะที่น้องชาย คุณสมบัติ เคนคำ เริ่มปลูกทุเรียน 115 ต้น ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งมูลเหตุของการปลูกทุเรียน แต่ก่อนทำการเกษตรโดยเริ่มจากการปลูกผักและปลูกยางพารา ยางพาราเริ่มให้ผลผลิตได้ 1 ปี แต่ราคาต่ำ จึงคิดจะเปลี่ยนมาปลูกอย่างอื่น บิดาเลยแนะนำให้ปลูกทุเรียน กอปรกับลูกและตัวเองชอบกินทุเรียน ราคายังแพงอีกด้วย เมื่อเห็นพี่ชายปลูก จึงคิดจะปลูกเช่นกัน และได้ไปศึกษาการปลูกทุเรียนจากอินเตอร์เน็ต แล้วจึงลงมือปลูกทุเรียน

แรกเริ่มในปีแรก เมื่อเดือนกันยายน 2559 พี่ชายได้นำทุเรียนลงปลูก 300 ต้น ในพื้นที่ 10 ไร่ ในขณะที่น้องชาย เริ่มปลูกทุเรียน 115 ต้น ในพื้นที่ 5 ไร่ โดยขุดหลุมขนาด กว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และระยะปลูกระหว่างต้น ระหว่างแถว 8 เมตร และใช้ฟางคลุมดิน การให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ โดยให้วันเว้นวัน วันละ 30 นาที เจ้าของสวนบอกว่า น้ำ คือหัวใจสำคัญมาก สำหรับผู้ปลูกทุเรียนให้น้ำน้อยมีโอกาสตาย ให้มากชื้นแฉะก็เสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่า ขาดน้ำไม่ได้ แต่ก็ไม่ชอบน้ำขัง

มีหลายรุ่น
ดูงาน

การบำรุงรักษา ให้ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 10 กรัม ต่อต้น โดยใส่เดือนละครั้ง และฉีดพ่นปุ๋ยทางใบธาตุอาหารรอง ในส่วนการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูทุเรียน แมลงที่พบในแปลงมี หนอนชอนใบ ด้วงหนวดยาว แมลงกัดกินใบ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีทุก 3-4 เดือน โรคที่พบ โรคใบจุด โรคที่เกิดจากเชื้อรา ฉีดพ่นด้วยคาเบนดาซิน ในการกำจัดวัชพืช ใช้วิธีการตัดหญ้ารอบบริเวณโคนต้น และฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช

ปีที่ 2 การให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ โดยให้วันเว้นวัน วันละ 40 นาที ใส่ปุ๋ย สูตร 24-7-7 อัตรา 20 กรัม ต่อต้น สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม โดยใส่เดือนละครั้ง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูทุเรียน แมลงที่พบในแปลงมีหนอนชอนใบ ด้วงหนวดยาว แมลงกัดกินใบ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีทุก 3-4 เดือน โรคที่พบ โรคใบจุด โรคที่เกิดจากเชื้อรา ฉีดพ่นด้วยคาเบนดาซิน การกำจัดวัชพืช ใช้วิธีการตัดหญ้ารอบบริเวณโคนต้น และฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช การตัดแต่งทรงพุ่ม

ในปีที่ 3 การให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ เพิ่มรัศมีวงน้ำ โดยให้วันเว้นวัน วันละ 40 นาที การใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 0.7-1.2 กิโลกรัม ต่อต้น โดยใส่เดือนละครั้ง และฉีดพ่นปุ๋ยทางใบธาตุอาหารรอง ในส่วนของการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูทุเรียน แมลงที่พบในแปลงมีหนอนชอนใบ ด้วงหนวดยาว แมลงกัดกินใบ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีทุก 3-4 เดือน โรคที่พบ โรคใบจุด โรคที่เกิดจากเชื้อรา ฉีดพ่นด้วยคาเบนดาซิน การกำจัดวัชพืช ใช้วิธีการตัดหญ้ารอบบริเวณโคนต้น และฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช การตัดแต่งทรงพุ่ม มีการตัดแต่งทรงพุ่ม และตัดดอกทิ้ง

มาถึงปีที่ 4 การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ โดยให้วันเว้นวัน วันละ 1 ชั่วโมง ในเดือนพฤศจิกายนให้น้ำวันเว้นวัน 20 นาที การใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 200 กรัม ต่อต้น โดยใส่เดือนละครั้ง ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบธาตุอาหารรอง ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อัตรา 500 กรัม ต่อต้น ในเดือนตุลาคม 1 ครั้ง ฉีดพ่นแคลเซียมโบรอนช่วงติดผลทุก 15 วัน การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูทุเรียน แมลงที่พบในแปลงมี หนอนชอนใบ ด้วงหนวดยาว แมลงกัดกินใบ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีทุก 3-4 เดือน โรคที่พบ โรคใบจุด

สำหรับการดูแลในช่วงที่ทุเรียนเริ่มออกดอก แม้ว่าจะเป็นเพียงก้าวแรกที่เริ่มเรียนรู้ ก็ได้ค้นคว้าทดลองทำ ด้วยการช่วยในการผสมเกสรและการตัดแต่งผล ซึ่งดอกทุเรียนจะเริ่มแทงช่อดอกช่วงเดือนธันวาคม พอถึงเดือนมกราคมดอกจะเริ่มบาน เมื่อดอกบาน หากลมช่วงนั้นไม่ค่อยมีแมลงมาช่วยในการผสมเกสร ต้องช่วยผสมเกสร โดยจะผสมช่วงค่ำ เวลา 19.00-21.00 น. เมื่อผลติดขนาดเท่ากำปั้น จะตัดแต่งเลือกผลที่สมบูรณ์ไว้

ส่วน คุณสมบัติ เคนคำ เล่าถึงการทำสวนทุเรียน ที่พบเจอปัญหากับตัวเอง ลมแรงต้องหาไม้บังลมมาปลูกอีกส่วนหนึ่ง คือ ช่วงอายุ 2 ปี ทุเรียนจะตาย 10% ผลร่วงเมื่อผสมติดแล้ว การแตกใบอ่อนช่วงติดผล ซึ่งก็ได้เรียนรู้แก้ไขไป คิดว่าน่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และคิดว่า พืชตัวนี้เริ่มเป็นความหวังได้บ้างแล้ว แม้ว่าวันนี้จะเริ่มมองเห็นผลผลิตที่เริ่มออกมาไม่มาก พอให้ได้ชิมลิ้มรส แล้วรสชาติไม่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราได้รู้ว่า อนาคตของทุเรียนกับสภาพภูมิอากาศบ้านเราน่าจะพอไปกันได้ จึงเป็นพืชความหวัง พืชที่คิดว่าจะสร้างเศรษฐกิจให้กับชาวอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ของเราได้

สำหรับที่ผ่านมา หลังพบว่า มีเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนได้ผล ทำให้มีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านให้ความสนใจได้เดินทางมาขอเยี่ยมชมผลผลิต สอบถามการปลูก การดูแลรักษา เช่น ที่ผ่านมา ได้มี คุณวัชรินทร์ สุตลาวดี ปลัดจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วย คุณกนกกานต์ ใจสุภาพ ปลัดอาวุโสอำเภอนาวัง คุณวาสนา ไกยสวน เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาวัง เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู คุณอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้คำแนะนำในการดูแลรักษาทุเรียน

ผลผลิตดูกันชัดๆ

ทางด้าน คุณอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ภายหลังทราบว่าเกษตรกรชาวอำเภอนาวัง  โดยเฉพาะ 2 พี่น้องตระกูล “เคนคำ” ได้ใช้ความพยายามในการปลูกและดูแลรักษาต้นทุเรียน ร่วม 350 ต้น ชื่นชมในความพยายามทั้ง 2 ครอบครัว ทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการปลูกทุเรียน แต่ด้วยความขยันหมั่นเพียรและศึกษาหาความรู้ ตลอดจนเอาใจใส่ในการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และทราบว่าปัญหาและอุปสรรคในการปลูกทุเรียนคืออะไร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ในส่วนของเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มอบหมายให้เกษตรอำเภอนาวัง เจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบล ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเทคนิคในการปลูกการดูแลรักษาการควบคุมโรคแมลงศัตรู และให้กำลังใจติดตามการเจริญเติบโตของทุเรียนในแปลงเกษตรดังกล่าว และคาดหวังว่าหากปีนี้มีดอก ผล เป็นเช่นนี้ในปีต่อไปพืชตัวนี้ก็จะสามารถให้ดอกผล เข้ากับสภาพพื้นดิน สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมของพื้นดินถิ่นนี้ได้ดีเช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่น

ส่วนในมุมมองการตลาดของเจ้าของสวนคิดว่า หลังจากทุเรียนเริ่มมีผลผลิตในปีที่ 5 ก่อให้เกิดความมั่นใจว่านับจากนี้ไป ทุเรียน เริ่มส่งผลผลิตและจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของหนองบัวลำภู ต้องมาตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ต้องได้กินทุเรียน ในส่วนของการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งฝ่ายปกครอง ท้องที่ และสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมเกษตรอำเภอนาวัง ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้คำแนะนำในการดูแลรักษาทุเรียน ให้กำลังใจในการก้าวเดินที่จะพัฒนานำพาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้คนที่ต้องการก้าวเดินบนเส้นทางวิถีเกษตร

ในขณะที่ คุณสุรจิตร เพ็งสา ปลัด อบต. ปฏิบัติหน้าที่ นายก อบต. วังทอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาชีพส่วนใหญ่ของเกษตรกรตำบลวังทอง อำเภอนาวัง คือการเกษตร และผลผลิตทางการเกษตรได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดหนองบัวลำภู มานานร่วม 20 ปี นั่นคือ กล้วยหอมทอง ซึ่งปัจจุบันนี้ กล้วยหอมทอง ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรกรที่นี่ และต่อจากนี้ไปนับเป็นความโชคดีของพื้นที่ตำบลวังทอง เมื่อได้มาเห็นแปลงทุเรียนที่กำลังส่งดอก ออกผลพร้อมที่จะจัดจำหน่าย ชื่นชม 2 พี่น้องตระกูล “เคนคำ” ที่ได้ใช้ความพยายามทดลองปลูกทุเรียนมาร่วม 5 ปี ผลผลิตนับวันจะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น และในอีกไม่นาน อำเภอนาวัง จะได้มีชื่อเสียงผลผลิตจากทุเรียน และเชื่อมั่นว่าอีกไม่นาน ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่นี่จะมีทุเรียนรสชาติแปลกใหม่กว่าทุเรียนภาคอื่นๆ อย่างแน่นอน

ทุเรียน แม้ว่าเป็นพืชต้นใหม่ในพื้นถิ่นหนองบัวลำภู ในวันนี้ ที่หลายคนยังไม่มีความมั่นใจว่าจะเติบใหญ่ได้บนผืนดินและสภาพแวดล้อมนี้ แต่วันนี้ พี่น้องตระกูล “เคนคำ” เกษตรกรหัวไวใจสู้ ได้ทำให้ประจักษ์แล้วว่า ทุเรียน สามารถเจริญเติบโตได้ อายุ 4 ปี ย่างเข้า 5 ปี เริ่มให้ผลผลิตได้ในพื้นดินอีสานตอนบน จึงน่าจะเป็นข้อมูลให้กับพี่น้องเกษตรกร ในการประกอบการตัดสินใจ กับการปลูกราชาไม้ผลชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้หลังบ้านก็ยังได้ไว้ชิมลิ้มรสในยามที่ราคาแพงหรือที่จะลงทุนทำเป็นเชิงพาณิชย์ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง