“เลี้ยงวัวนม” อาชีพนี้ไม่จน ฟันกำไร 50% อ.ส.ค. นำร่องพัฒนาฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง

“การเลี้ยงโคนม” เป็นอาชีพพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลย​เดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมอบให้แก่เกษตรกรไทยมานานกว่า 60 ปี ด้วยทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคนมที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เข้ามาให้ความรู้ทางวิชาการแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนม เพื่อยกระดับฟาร์มโคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้ได้มาตรฐาน จีเอ็มพี (GMP) และ HACCP ทำให้การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ฟาร์มวัวนมของคุณป้าสุนันทา กาญจนศิลป์ และลูกสาว

“เลี้ยงวัว” เป็นอาชีพเสริม

แต่ทำเงินดีแซงหน้าอาชีพหลัก

คุณสุนันทา กาญจนศิลป์ อาศัยอยู่เลขที่ 57/1 หมู่ที่ 6 ซอย 8 ถนนสาย 2 ซ้าย ตำบลโคกตูม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี 15210 โทร. 089-806-6958 หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนครอบครัวปลูกพืชไร่เป็นอาชีพหลัก แต่เจอปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สามีคือ คุณสมบูรณ์ กาญจนศิลป์ จึงมองหาลู่ทางสร้างอาชีพเสริม ประมาณปี 2531-2532 ภาครัฐได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงวัวนม จึงสนใจเข้าอบรมอาชีพการเลี้ยงวัวนม กับ อ.ส.ค. ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ได้เอกสารรับรอง สามารถขายน้ำนมดิบให้แก่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบได้

หลังจากนั้น ป้าสุนันทาได้ลงทุนซื้อวัวนม ในราคาตัวละ 30,000-35,000 บาท เข้ามาเลี้ยง จำนวน 3 ตัว ต่อมามีการผสมพันธุ์เทียม และขยายพันธุ์วัวนมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนกระทั่งมีจำนวนแม่นมมากกว่า 50 ตัว สร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำนมดิบทุกวัน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200,000 บาท ทำให้ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

“เมื่อ 30 ปีก่อน สนใจเลี้ยงโคนม เป็นรายได้เสริม ปรากฏว่า สร้างรายได้ที่ดีและมั่นคง ทำรายได้แซงหน้ากิจการเพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งเป็นอาชีพหลัก จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำอาชีพเลี้ยงวัวนมเป็นรายได้หลักของครอบครัวจนถึงทุกวันนี้ อาชีพเลี้ยงวัวนม ทำให้ครอบครัวเรามีเงินซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำอาชีพการเลี้ยงวัวนม บอกลูกทั้ง 3 คน ว่า ไหว้วัวบ้างนะ ลูกเรียนจบปริญญาได้เพราะรายได้ของวัวนมทั้งนั้น อย่าลืมบุญคุณของวัวนะ” ป้าสุนันทา กล่าวด้วยรอยยิ้ม

Advertisement
คุณป้าสุนันทา กาญจนศิลป์ (ขวา) และ คุณจันทร์จิรา กาญจนศิลป์ (ซ้าย)

ส่งต่ออาชีพจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบัน ป้าสุนันทา ได้ส่งต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมให้บุตรสาวคนเล็ก คือ คุณจันทรจิรา กาญจนศิลป์ วัย 39 ปี เป็นผู้สืบทอดกิจการแทน ซึ่งเธอบริหารกิจการได้ดีไม่แพ้รุ่นคุณแม่ เพราะได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงวัวนมมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ช่วยแม่เลี้ยงวัวในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ พาวัวไปกินหญ้า-รีดนมวัวด้วยมือ

Advertisement

คุณจันทรจิรา เล่าว่า หลังเรียนจบปริญญา เธอได้ทำงานประจำที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเมื่อ 2-3 ปีก่อน คุณแม่ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะ คุณพ่อของเธอมีอายุมาก ทำงานหนักไม่ไหว คุณจันทรจิรากับสามีจึงตัดสินใจลาออก กลับมาอยู่บ้านที่ลพบุรี เพื่อช่วยครอบครัวดูแลกิจการเลี้ยงวัวนม ดังนั้น แม้เปลี่ยนอาชีพจากทำงานในห้องแอร์มาเลี้ยงวัวนม แต่คุณจันทรจิราก็ไม่ยุ่งยากที่จะสานต่ออาชีพจากคุณแม่ เพราะได้ซึมซับความรู้เรื่องการเลี้ยงวัวนมมาตลอด

“อาชีพการเลี้ยงวัวนม ต้องใช้เงินลงทุนสูง กว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลานานหลายปี หากกู้เงินมาลงทุน อาจเสียค่าดอกเบี้ยแพง คุณแม่ไม่แนะนำให้ซื้อวัวนมจากภายนอกเข้ามาเลี้ยง เพราะเสี่ยงเจอปัญหาวัวติดโรคและปากเท้าเปื่อยได้ แนะนำให้ขยายพันธุ์วัวในฟาร์มไปเรื่อยๆ ทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน นอกจากนี้ เพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพดี ปริมาณไขมันสูงและให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน จะปล่อยให้แม่วัวนมตั้งท้อง 4-5 ครั้ง ก่อนปลดออกจากฝูง หากปล่อยเลี้ยงนานไป แม่วัวจะสุขภาพไม่ดี และคุณภาพน้ำนมก็ไม่ดีตามไปด้วย” คุณจันทรจิรา กล่าว

โรงเรือนเลี้ยงวัวนม

ทุกวันนี้ คุณจันทรจิราและสามีดูแลเลี้ยงวัวนม จำนวน 33 ตัว มีรายได้จากการขายน้ำนมดิบทุกวัน ในราคาประกันที่ กิโลกรัมละ 17.50 บาท มีรายได้เฉลี่ย 60,000-80,000 บาท ต่อเดือน หลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่ายาวัคซีน ค่าอาหารสัตว์ และค่าสัตวแพทย์แล้ว ยังเหลือผลกำไรถึง 50% หรือประมาณ 30,000-40,000 บาท ต่อเดือน

เนื่องจากกระแสความนิยมบริโภคเครื่องดื่มชาไข่มุกมาแรง คุณจันทร์จิราจึงเกิดแนวคิดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า โดยนำน้ำนมดิบในฟาร์มไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มชานมไข่มุกพร้อมดื่มหลากหลายรสชาติ เช่น รสชาเขียว รสชาไทย รสโกโก้ ฯลฯ เมื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มชานมไข่มุกสามารถขายได้ในราคากว่า 100 บาท ต่อกิโลกรัม

อาหารข้นสำหรับเลี้ยงวัว

“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายคนตกงาน กลับบ้านมาทำอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้น เช่น เลี้ยงวัวเนื้อ และวัวนม แต่สัดส่วนการเลี้ยงวัวนมยังไม่สูงมากเท่าไร เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง หากเป็นฟาร์มขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000-200,000 บาท ฟาร์มขนาดกลาง ต้องใช้เงินลงทุน 600,000-700,000 บาท กว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลานานหลายปี แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพเลี้ยงโคนมก็สร้างรายได้ทุกวัน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงไม่แพ้อาชีพอื่นๆ เช่นกัน” คุณจันทรจิรา กล่าวในที่สุด

ต้นหญ้าเนเปียร์ อาหารที่วัวนมชื่นชอบ

อ.ส.ค. เร่งพัฒนา “ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง”

เสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกรไทยสู้ตลาดค้าเสรี

อ.ส.ค. เตรียมเปิด “ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง” ชูเป็นฟาร์มสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการฟาร์มที่ทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดให้เกษตรกร นักวิชาการ เข้ามาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตและเสริมเขี้ยวเล็บความสามารถด้านการแข่งขันการเลี้ยงโคนมเชิงพาณิชย์ในประเทศและการแข่งขันได้ในกรอบการค้าเสรีในอนาคต

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เร่งดำเนินการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm)ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นั้น ล่าสุดโครงการดังกล่าวเตรียมเปิดบริการให้เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพสูงในเดือนมิถุนายน 2564 นี้

วัวพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน ที่คนไทยนิยมเรียกว่า “วัวขาวดำ”

สำหรับโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ อ.ส.ค. ยืมเงิน จำนวน 51.7 ล้านบาท จากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สำหรับลงทุนในการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงขึ้นในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อปี 2562 ซึ่งฟาร์มดังกล่าวถือเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศในอนาคต

“อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจหลักด้านส่งเสริมการเลี้ยงโคนม มุ่งพัฒนากิจการโคนมของประเทศ รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านกิจการโคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยจัดแหล่งเรียนรู้การพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มที่จะทำให้โคนมได้ผลผลิตตามความสามารถทางพันธุกรรม สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันการเลี้ยงโคนมเชิงพาณิชย์ รองรับการแข่งขันภายใต้กรอบการค้าเสรีในอนาคต” นางสาวมนัญญา กล่าว

คุณสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์

ด้าน คุณสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อ.ส.ค. มุ่งพัฒนาฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง เพื่อเป็นฟาร์มสาธิตเชิงธุรกิจ ในลักษณะ Smart Dairy Farm ที่ใช้เทคโนโลยีด้านการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรยุคใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ใช้เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติและสร้างบุคลากรมืออาชีพด้านการเลี้ยงโคนม ที่มีระบบบริหารจัดการฟาร์มที่สะดวกทันสมัย แบ่งกลุ่มโคนมตามผลผลิตน้ำนม เทคนิคการผลิตอาหารผสมสำเร็จ (Total Mixed Ration, TMR) ที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของโคแต่ละกลุ่ม เป็นต้น

สำหรับโครงการฟาร์มโคนมสาธิต มีจำนวนแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 100 ตัว ให้น้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน และมีองค์ประกอบน้ำนมสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อ อ.ส.ค. ตั้งเป้าหมายจัดกิจกรรมฝึกอบรมฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง แก่นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่น้อยกว่าปีละ 680 คน และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 จากจำนวนนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง

เพื่อเป็นต้นแบบแห่งแรกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตโคนม รองรับการเปิดเขตการค้าเสรีกรอบทวิภาคีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโคนมมากกว่าประเทศไทย อ.ส.ค. จึงจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมโคนมของไทยในอนาคต