เผยแพร่ |
---|
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ มาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมขยายเครือข่ายที่กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 11,742 ศูนย์ ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการและแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานต่างๆ แก่เกษตรกร เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมกับชุมชน ด้วยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรด้านการเกษตร จนสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน และเป็นการพึ่งพาตนเองในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน
สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์และเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ได้ติดตามพื้นที่ 17 จังหวัด สำรวจศูนย์เครือข่าย 87 ศูนย์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 พบว่า ในแต่ละปี มีเกษตรกรเข้ามาใช้บริการในศูนย์เครือข่าย ศพก. ปีละ 2-3 ครั้ง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 83 มีความประสงค์เข้ามาเพื่อขอรับการอบรมเพิ่มความรู้ ด้านการเกษตร เช่น การเพาะปลูกข้าว การผสมปุ๋ยใช้เอง จุลินทรีย์ไล่แมลง การทำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า และบิวเวอเรีย รองลงมา คือ เข้ามารับปัจจัยการผลิต เช่น สาร พด. เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว และพันธุ์ไม้ยืนต้น รวมทั้งเข้ามาขอรับคำปรึกษาปัญหาด้านการเกษตร เช่น การระบาดของศัตรูพืช ปัญหาหนี้สินการเกษตร เป็นต้น ซึ่งทางศูนย์เครือข่ายได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีความต้องการเข้ามาขอรับข้อมูลข่าวสาร หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นภายในศูนย์เครือข่าย เช่น การรวมกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำสารชีวภัณฑ์ รวมถึงแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น และศูนย์เครือข่ายยังได้จัดงานกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมหลักสูตรที่จัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในศูนย์ครือข่าย ปกติมีการจัดทุกเดือนโดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ปศุสัตว์ ประมง รวมทั้งประธานศูนย์เครือข่ายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ลดจำนวนการฝึกอบรมลง แต่ยังให้คำแนะนำและคำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการฝึกอบรม การทำปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยชีวภาพ การทำสารชีวภัณฑ์ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรในแปลงของตนเองตามความเหมาะสม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านต้นทุนการผลิต โดยเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ซึ่งพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้านาปี สามารถลดต้นทุนเฉลี่ยปีละ 468.84 บาท/ไร่ และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 149.87 กิโลกรัม/ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1,967.54 บาท/ไร่ สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวนาปี สามารถลดต้นทุนได้เฉลี่ยปีละ 117.71 บาท/ไร่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 94.70 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1,064.71 บาท/ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รับการส่งเสริมให้ปลูกผักไว้กินเอง โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าของเกษตรกรปลูกผักเพื่อบริโภค ในครัวเรือนและแบ่งปันให้เพื่อนบ้านทำให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ถึง 1,258.41 บาท/เดือน
“ผลการดำเนินงานของศูนย์ ศพก. และเครือข่าย ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในส่วนของ สศก. นอกจากจะติดตามผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกปีแล้ว ยังร่วมสนับสนุนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชั่น ฟาร์ม D และกระดานเศรษฐี การส่งเสริมองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมอบรมและสาธิตการเกษตรไทยด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง 9 ฐานการเรียนรู้ ซึ่งทางศูนย์ในแต่ละเครือข่ายต่างมีความตั้งใจในการพัฒนาศูนย์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และทางกระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตร ให้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ให้เกษตรกรในชุมชน รวมถึงเป็นจุดบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐต่อไป” รองเลขาธิการ กล่าว