ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร

จากบทความของ รองศาสตราจารย์ ภญ.ยุวดี วงษ์กระจ่าง และ เภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ ในหัวข้อ ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร บางส่วน ระบุว่า ปัจจุบันสมุนไพรเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมากขึ้น ในการรักษาโรคหรือการใช้เป็นอาหารเสริม เนื่องจากสังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพร แต่หากมีการนำสมุนไพรมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี สมุนไพรก็อาจจะก่อให้เกิดโทษต่อผู้ใช้ได้ ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบัน เริ่มมีรายงานทางคลินิกเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้สมุนไพรมากขึ้น

อันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้สมุนไพร สามารถจำแนกได้เป็น 7 กลุ่ม สมุนไพร 1 ชนิด อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้มากกว่า 1 กลุ่ม โดยข้อมูลบางส่วนมีหลักฐานยืนยันแน่นอน บางส่วนอิงข้อมูลจากการทดลอง (สัตว์ทดลอง และหรือหลอดทดลอง) และบางส่วนก็มีเพียงกรณีศึกษาเท่านั้น

อันตรายจาการใช้สมุนไพร จำแนกเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้

  1. สมุนไพรที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้
  2. สมุนไพรที่ทำให้เกิดความเป็นพิษ
  3. สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์
  4. การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร
  5. การใช้สมุนไพรผิดชนิด ผิดวิธี
  6. การปนเปื้อนในสมุนไพร
  7. สมุนไพรที่มีการปลอมปน

จากการรวบรวมรายงานของการเกิดอันตรายจากการใช้สมุนไพรนี้ พบว่า เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ทำให้เกิดความตระหนักถึงอันตราย อันอาจเกิดได้จากการใช้สมุนไพร เนื่องจากการที่มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นสามารถเลือกซื้อได้อย่างอิสระ การควบคุมไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไร ต่างจากยาแผนปัจจุบัน มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมุนไพรเดี่ยวๆ และที่เป็นตำรับ บางผลิตภัณฑ์ไม่สามารถทราบชนิดและปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่แน่นอน ถึงแม้จะเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่างกัน เนื่องจากสถานที่เพาะปลูก ฤดูกาล ส่วนของพืชที่นำมาใช้ วิธีการเก็บเกี่ยว และกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจมีการปนเปื้อนโลหะหนัก มีการปลอมปนสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา หรืออาจมีการนำสมุนไพรผิดชนิดทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ และพบว่าประชากรจำนวนหนึ่ง มีการใช้สมุนไพรร่วมกับยารักษาโรคแผนปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพรขึ้นได้

ดังนั้น หากมีความประสงค์จะใช้สมุนไพรนั้น ควรที่จะ

  1. ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสมุนไพรนั้นๆ ว่าเหมาะสมต่อการนำมาใช้หรือไม่ และรู้ถึงการใช้อย่างถูกต้อง โดยอาจใช้หลักดังนี้คือ ใช้ให้ถูกต้น ใช้ให้ถูกส่วน ใช้ให้ถูกขนาด ใช้ให้ถูกวิธี ใช้ให้ถูกกับโรค
  2. การเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาใช้นั้น ควรที่จะรู้ว่าในผลิตภัณฑ์นั้น ประกอบด้วยสมุนไพรอะไรบ้าง เพราะหากมีอาการไม่ถึงประสงค์เกิดขึ้น จะได้ทราบว่าเกิดจากสมุนไพรชนิดใด เพื่อจะได้เก็บไว้เป็นข้อมูลในการระวังการใช้ต่อไป
  3. หมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้สมุนไพร
  4. ไม่ควรใช้สมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นหรือมีความประสงค์ที่จะใช้สมุนไพรเป็นเวลานาน ควรมีการตรวจร่างกายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการใช้สมุนไพรเป็นระยะๆ ได้แก่ ตรวจการทำงานของตับ เช่น ตรวจเอนไซม์ตับ การทำงานของไต ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
  5. หากเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการใช้สมุนไพร ควรหยุดใช้ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

6. หญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร และเด็ก ไม่ควรใช้สมุนไพรถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะสมุนไพรที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย เนื่องจากสารบางชนิดในสมุนไพร สามารถผ่านรก ขับออกทางน้ำนม หรือมีผลต่อการเจริญเติบโตได้