จุฬาฯสำเร็จครั้งแรกขยายพันธุ์ ‘ปะการัง’ แบบอาศัยเพศ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม รศ.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาปะการัง ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศด้วยการผสมเทียม โดยจะนำไข่และสเปิร์มของปะการังที่มีการปล่อยปี 1 ละครั้ง มาผสมในโรงเพาะฟัก หลังจากการทำการผสมเทียมแล้วจะอนุบาลปะการังในระบบเลี้ยงเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ก่อนนำกลับคืนสู่ทะเล
รศ.สุชนา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันชนิดพันธุ์ของปะการังที่นำมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวมีมากกว่า 10 ชนิด ประกอบด้วย ปะการังกิ่ง และปะการังก้อน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปะการังที่ได้จากการเพาะผสมเทียมแบบอาศัยเพศมีความสามารถในการผลิตปะการังรุ่นหลานได้ด้วยตนเอง รวมทั้งพบว่าปะการังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

“ผลงานวิจัยนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทย และสามารถนำไปใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการวางแผนการจัดการตลอดจนการฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมของประเทศ ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดโครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังและการฟื้นฟูแนวปะการัง จ.ชลบุรี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกปะการังที่นำไปฟื้นฟูในทะเลสามารถเติบโตแข็งแรงและทนต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ปะการังได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถเพาะและเลี้ยงปะการังได้อย่างครบวงจร” รศ.สุชนา กล่าวและว่า ล่าสุดได้เผยแพร่วิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลการเผยแพร่ผลงานวิจัยดีเด่นด้านการนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและอุตสาหกรรม สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จากจุฬาฯ ในพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาฯ ประจำปีนี้ด้วย

 

 

ทีมา : มติชนออนไลน์