เลี้ยงปลากระชัง ในแม่น้ำน่าน สร้างรายได้ที่อุตรดิตถ์ ปลาขายได้ราคาดี

คุณยุภาพร ประถม อยู่บ้านเลขที่ 29/8 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะเฟือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่ริเริ่มเลี้ยงปลากระชัง คือ คุณพ่อ ซึ่งสมัยก่อนคุณพ่อของเธอเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะด้วยปัญหาหลายๆ อย่างทางสายงาน จึงเลิกทำกิจการด้านนั้น และมาทำการทดลองเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำน่าน เพราะในสมัยที่คุณพ่อยังเป็นสมาชิกสภาจังหวัดได้ออกพื้นที่ต่างๆ เห็นอาชีพด้านการเลี้ยงปลา กระชังตามภาคกลางของประเทศ จึงนำสิ่งที่เห็นมาทดลองเลี้ยงที่บ้าน เพราะพื้นที่บริเวณบ้านอยู่ติดแม่น้ำน่าน

(ขวา) คุณยุภาพร ประถม

“สมัยนั้นคุณพ่อเริ่มทำเป็นเจ้าแรกประมาณปี 46 ต่อมาจึงรวมกลุ่ม ตั้งเป็นกลุ่มเลี้ยงปลากระชัง ประมาณปี 49 ช่วงแรกๆ ทางกลุ่ม เลี้ยงไปได้ดี ต่อมาประสบปัญหาบ้าง ทำให้สมาชิกภายในกลุ่ม มีเลิกเลี้ยงไปบ้าง เพราะการจัดการหลายๆ อย่าง” คุณยุภาพร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำอาชีพการเลี้ยงปลากระชังของครอบครัว

ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ทำเป็นกระชังสำหรับเลี้ยงเธอบอกว่าเป็นเหล็กที่มีอยู่เดิม เพราะสมัยก่อนที่บ้านก็ทำอาชีพรับเหล่าก่อสร้างด้วย จึงได้นำเหล็กเหล่านั้นมาประกอบเป็นกระชังสำหรับเลี้ยงปลาในแม่น้ำ และเมื่อเลี้ยงมาได้หลายปี จึงเริ่มมีการทำบ่ออนุบาลลูกปลาด้วยบ่อดิน ก่อนที่จะนำไปเลี้ยงในกระชังอีกครั้ง เธอให้เหตุผลว่า ถ้านำลูกปลาปล่อยลงเลี้ยงในกระชังที่แม่น้ำเลยทันที จะทำให้ลูกปลามีอัตราการตายสูง จึงทำให้ในปัจจุบันที่บ้านของคุณยุภาพร มีระบบการเลี้ยงที่ครบวงจรมากขึ้น

ปลาทับทิมในกระชัง

“เมื่อก่อนเลี้ยงทับทิมอย่างเดียว แล้วมีปลานิลบางส่วน แล้วมาตอนปัจจุบันนี้ก็มีปลาทับทิม ปลานิล ปลากด 3 ชนิดหลักๆ” คุณยุภาพร กล่าว

นำลูกปลาที่สั่งมาจากฟาร์มเพาะมาอนุบาลในบ่อดินให้แข็งแรง โดยนำลูกปลาไซซ์ใบมะขามมาอนุบาลในบ่อขนาด 18×40 เมตร ปล่อย 30,000-40,000 ตัว ต่อบ่อ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ให้อาหาร 3 มื้อ

ปลากดหลวง

เมื่อลูกปลาที่อนุบาลในบ่อดินได้ขนาด 50 ตัว ต่อกิโลกรัม ทำการย้ายลูกปลา มาเลี้ยงในกระชังขนาด  4×5 เมตร ลึก 160-170 เซนติเมตร อีกครั้งหนึ่ง ปล่อยลูกปลาจำนวน 1,400-1,500 ตัว ต่อกระชัง

ปลานิล

การให้อาหารจะให้ปลากินทั้งหมด 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน และเย็น โดยจะมีเปอร์เซ็นต์ของโปรตีนไม่เท่ากันในแต่ละช่วง ปลาระยะแรก จะให้อาหารเม็ดที่มีจำนวนโปรตีน 45 เปอร์เซ็นต์ ระยะกลางปลาอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ใช้อาหารที่มีจำนวนโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ และระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลามีอายุ 4 เดือน ใช้อาหารที่มีโปรตีน 25-30 เปอร์เซ็นต์ โดยดูตามความเหมาะสม

Advertisement

ช่วงที่จะทำให้ปลาเป็นโรคได้ง่ายที่สุดจะเป็นช่วงฤดูฝน เพราะจะมีน้ำไหลจากที่ต่างๆ มารวมกัน ทำให้แม่น้ำน่านมีเชื้อโรคค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงนั้นทางฟาร์มของคุณยุภาพรจะต้องเตรียมการล่วงหน้า คือผสมวิตามินในอาหารให้ปลากิน เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงมีภูมิต้านทาน และแข็งแรงมากขึ้น

กระชังปลาในแม่น้ำน่าน

คุณยุภาพร บอกว่า ปลาทับทิม และปลานิล ระยะเวลาการเจริญเติบโตจะเท่ากัน ส่วนปลากดหลวงใช้เวลาเจริญเติบโตนานกว่าปลาชนิดอื่น

Advertisement

“การโตของปลานี่ ใกล้เคียงกัน ปลากดหลวง ใช้เวลาเลี้ยงเป็นปี กว่าจะได้ขาย ช่วงแรกที่ทำ ส่งขายกับบริษัทที่มารับซื้อ ซึ่งไม่ต้องไปหาตลาดเองที่ไหน เขามีคนมารับ มาจับเอง ขายให้เขาหมด พอฐานตลาดเราเริ่มมากขึ้น มาระยะหลังเลยขายเอง เพราะตลาดเริ่มมี” คุณยุภาพร กล่าว

ราคาปลาที่หน้าฟาร์มเป็นราคาขายส่ง ปลากดหลวงขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 140-160 บาท ไซซ์ที่ต้องการของตลาดประมาณ 2-3 กิโลกรัม ต่อตัว ส่วนปลานิลและปลาทับทิม กิโลกรัมละ 65-70 บาท ไซซ์ประมาณ 8-9 ขีด คุณยุภาพร บอกว่า ราคาปลาอาจมีปรับขึ้นลงได้ตามความต้องการของตลาด ถ้าช่วงปลาขาดตลาดก็จะมีราคาแพง

บ่ออนุบาล

สำหรับท่านที่สนใจ ต้องการเลี้ยงปลากระชัง เป็นรายได้เสริมหรือเป็นอาชีพ คุณยุภาพร ให้คำแนะนำว่า

“อันดับแรกเลย คือเรื่องการตลาด ต่อมาก็เรื่องต้นทุน ต้องพยายามซื้ออาหารจากบริษัทโดยตรง ไม่งั้นอาหารจะแพง ทำให้เราแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ถ้าอยากจะเลี้ยงจริงๆ ต้องศึกษากับนักวิชาการก่อน เพราะถ้าขาดการเอาใจใส่ ปลามันก็ตาย ทำให้มีอัตราความเสี่ยงสูง ต้องเลือกลูกปลาที่ทำหมันแน่นอน คือฟาร์มที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน ไม่ใช่มาเลี้ยงแล้วมีไข่ เพราะปลาที่ซื้อมา เลี้ยงแล้วต้องโตดี เมื่อนำมาอนุบาลแล้ว ใส่กระชังแล้วมีอัตราการรอดสูง อีกอย่างต้องดูเรื่องน้ำด้วย ถ้าน้ำในแม่น้ำดี อัตราการรอดก็ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเสี่ยงในการเลี้ยงแบบนี้ จะอยู่ที่น้ำในแม่น้ำด้วย ส่วนขั้นตอนทั้งหมดก็อย่างที่บอกไปข้างตั้นน่ะค่ะ” คุณยุภาพร กล่าวแนะนำ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณยุภาพร ประถม หมายเลขโทรศัพท์ 081-280-8608

เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560