นักศึกษา มทร.สุวรรณภูมิ สร้างระบบอควาโปนิกส์ เทคโนโลยีเกษตรแบบใหม่ ไม่ต้องใช้ดิน

นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) นำกระบวนการรวมทั้งองค์ความรู้ประสบการณ์จากการเรียนการสอน ในห้องเรียน ประดิษฐ์อุปกรณ์ใช้ในระบบอควาโปนิกส์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้หนึ่งในรายวิชาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการประมง การศึกษานับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาในการสร้างความรู้ กระบวนการคิดส่งผลให้นักศึกษาที่เรียนจบไปสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้นำไปพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ หรือประกอบอาชีพอิสระของตนเอง การฝึกทักษะวิชาชีพ รวมทั้งการฝึกประสบการณ์ต่างๆ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผกามาศ ศรีจริยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผกามาศ  ศรีจริยา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า อควาโปนิกส์ (Aquaponics) คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบหมุนเวียนน้ำ (Recirculating Aquaculture System หรือเรียกย่อๆ ว่า “RAS”) ร่วมกับการปลูกพืชแบบไร้ดิน โดยทั้งสองกิจกรรมนี้จะดำเนินการร่วมกัน (FAO, 2014) ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เริ่มจากน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำหรือจากการเลี้ยงปลามาใช้ป็นธาตุอาหารพืช แล้วพืชนำแร่ธาตุไนโตรเจนรูปแบบของไนเตรตและฟอสฟอรัสจากน้ำเสียในการเลี้ยงปลาไปใช้ในการเจริญเติบโต ในขณะที่พืชจะช่วยบำบัดคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาส่งผลให้น้ำที่ผ่านการบำบัด และพืชมีคุณภาพน้ำดีขึ้น สามารถหมุนเวียนน้ำนำกลับไปใช้เลี้ยงปลาใหม่ โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ เป็นการประหยัดทรัพยากรน้ำและไม่มีการใช้สารเคมีในระบบอีกด้วย

ในกรณีเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อความเพลิดเพลินช่วยลดขั้นตอนในการเปลี่ยนถ่ายน้ำสามารถประหยัดเวลาได้ และในกรณีที่เลี้ยงปลาเศรษฐกิจก็สามารถได้ผลผลิตพืชและปลาไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นการผลิตพืชผักปลอดสารพิษ สามารถสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ในครัวเรือน หรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ระบบนี้ใช้ในบริเวณพื้นที่ขนาดเล็กหรือพื้นที่จำกัด เช่น พื้นที่ชุมชนเมือง ภายในบ้านเรือนหรือบริเวณระเบียงอาคาร สำนักงาน เหมาะกับสภาพแวดล้อมและสังคมในปัจจุบันที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ช่วยลดโลกร้อน นอกจากนี้ ระบบอควาโปนิกส์ยังเป็นระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้

การประดิษฐ์ระบบอควาโปนิกส์ในครั้งนี้ เป็นผลงานของ นายอดิเทพ หมื่นหาวงษ์ นายวรรณธนภพ อินทชื่น และ นางสาวปาจรีย์ หลวงไกรราช นักศึกษารายวิชาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการประมง เป็นการประดิษฐ์เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการประมง และให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะเสริมสร้างประสบการณ์จริง ระบบอควาโปนิกส์การปลูกพืช เป็นระบบอควาโปนิกส์แบบ NFT จะใช้รางยาว แคบๆ สำหรับการปลูกพืช ดังนั้น ระบบนี้รากพืชจะแช่น้ำตลอดเวลา โดยน้ำจะไหลในลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ อีกทั้งเพื่อเตรียมระบบไว้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบหมุนเวียนน้ำร่วมกับการปลูกพืชแบบไร้ดิน นอกจากจะนำไปใช้ในการเรียนการสอน การฝึกทักษะของนักศึกษาและยังสามารถนำระบบอควาโปนิกส์ไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชุมชนเมืองหรือพื้นที่ที่มีบริเวณจำกัด เช่น บริเวณบ้าน ระเบียงอาคาร สำนักงาน และอพาร์ตเมนต์ เป็นต้น

ต้นทุนในการประดิษฐ์ระบบอควาโปนิกส์ชุดนี้ใช้งบประมาณ (เฉพาะซื้อวัสดุ) เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,500 บาท หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผกามาศ ศรีจริยา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมงคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ พระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ (093) 124-6443