ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
เผยแพร่ |
ปลายฤดูแล้ง หรือในต้นฤดูฝนประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม หลังฝนแรกจะมีแมลงชนิดหนึ่งออกจากรังเพื่อการผสมพันธุ์ขยายเผ่าพันธุ์ ชาวบ้านนิยมจับ “แมงมัน” มาทำเป็นอาหาร เช่น คั่วกิน หรือแปรรูปเป็นน้ำพริก
แมงมัน คือ มดราชินี
แมงมัน เป็นชื่อเรียกของมดชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นมดราชินี สามารถนำมากินเป็นอาหารได้ จากข้อมูลในวิกิพิเดีย แมงมัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Carebara castanea สกุล : Carebara ตระกูล : แตน อันดับ : Hymenoptera ชั้น : Insecta ไฟลัม : Arthropoda
แมงมัน เป็นอาหารตามฤดูกาล ที่หากินได้ยากอยู่เหมือนกัน แมงมันที่กินได้คือ แมงมันตัวเมีย มีสีแดงคล้ำ ตัวใหญ่ มีรสมัน นิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร เรียกกันทั่วไปว่า “แมงมันแม่” ส่วนแมงมันตัวผู้ มีสีเหลือง ตัวเล็กกว่าแมงมันตัวเมีย ไม่นิยมนำมากินเพราะมีรสขม เรียกกันทั่วไปว่า “แมงมันปู๊” หรือ “แมงมันคา” ชื่อภาษาอังกฤษ เรียกแมงมันว่า subterranean ants ซึ่งเป็นชื่อเรียกของมดชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นมดราชินี สามารถนำมากินเป็นอาหารได้ ซึ่งมดในตระกูลนี้ ยังแบ่งวรรณะกันเป็น 6 วรรณะ คือ
วรรณะราชินี เรียกว่า แมงมันแม่ หรือแม่เพ้อ
วรรณะเจ้าหญิงทายาท เรียกว่า เต้งใหญ่
วรรณะสวามี เรียกว่า เต้งรอง
วรรณะมดงาน เรียกว่า แย็บ
วรรณะทหาร เรียกว่า แย็บใหญ่
วรรณะสร้างรัง เรียกว่า มดแม่หมัน
ประโยชน์ของแมงมัน
เนื่องจาก แมงมัน เป็นอาหารตามฤดูกาลที่หาได้ไม่ง่ายนัก จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ที่นิยมกินทั้งไข่และลูกแมงมันเฉพาะตัวเมีย ดังนั้น แมงมันจึงเป็นสินค้าที่มีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 2,000 บาท ก่อนที่จะออกมาเป็นแมงมัน ไข่ของแมงมันที่อยู่ในดิน ก็ขุดขึ้นมาขาย ขายเป็นช้อนเล็กๆ ช้อนละ 20 บาท ทำเมนู “แมงมันจ่อม” คนทางเหนือจะรู้จักดี
วิธีการทำ นำไข่แมงมันมาดองกับน้ำซาวข้าว 1-2 คืน แล้วนำมายำกับพริกแห้ง ใส่ต้นหอมผักชีโรยหน้า ส่วนแมงมันตัวผู้ไม่นิยมนำมากิน แต่จะใช้เป็นเหยื่อตกเบ็ดปลาช่อน ปลาสลิดได้
วงจรชีวิตของแมงมัน
แมงมัน อยู่อาศัยในดินโดยเฉพาะบริเวณที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบดินแข็งและชอบอยู่ใกล้รากไม้ใหญ่ๆ คล้ายปลวก แต่ไม่ก่อดินหรือพูนดินขึ้นเป็นจอมปลวก วงจรชีวิตของแมงมัน เริ่มมาจากแม่แมงมัน ซึ่งเป็นมดชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากๆ สีส้มแดง เวลากัดจะคันมากๆ วางไข่ไว้ในโพรงใต้ดิน
หลังจากแม่แมงมันวางไข่เสร็จแล้ว ไข่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จะมีขนาดเล็กและฟักออกมาเป็นแม่แมงมันตัวเล็กๆ ส่วนที่สอง เป็นไข่ขนาดใหญ่เหมือนไข่มดแดง เจริญเติบโต กลายเป็นดักแด้ และเปลี่ยนเป็น “แมงมัน” ซึ่งเป็นตัวโตเต็มวัยและมีปีกบินได้ มีทั้งแมงมันแม่ (ตัวเมีย) และแมงมันปู๊ (ตัวผู้)
ในรอบ 1 ปี แมงมันจะออกจากรูเฉพาะเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม คือช่วงปลายฤดูแล้งหรือต้นฤดูฝนเท่านั้น เพราะน้ำฝนที่ซึมลงดิน ทำให้แมงมันอยู่ไม่ได้ จะออกจากรูขึ้นมาอยู่บนผิวดิน แมงมันจะไม่ย้ายรังถ้าไม่ถูกรบกวนจากคน
ก่อนที่ลูกแมงมันจะออกมา ตัวแม่จะออกมาก่อน เพื่อขยายรูให้กว้างขึ้น เพราะลูกแมงมันตัวโตกว่า แม่แมงมันจะใช้เวลาขยายรู ประมาณ 3 ชั่วโมง ลูกแมงมันถึงจะต้องออกมา หลังจากแมงมันตัวเมียโผล่ออกจากรูมาได้ก็จะสลัดปีกออก ขุดดิน และมุดเข้าไปอยู่ในดิน เพื่อวางไข่ต่อไป แล้วจากนั้นก็จะเสียชีวิตลง ส่วนแมงมันตัวผู้นั้นก็เช่นกัน จะตายหลังผสมพันธุ์เสร็จ นี่เป็นวงจรชีวิตของแมงมัน