ที่มา | ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ |
---|---|
ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
เผยแพร่ |
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้หลายคนเริ่มจะขาดรายได้ บางคนตกงานกลับบ้านเกิด ซ้ำร้ายที่บ้านเกิดตัวเองยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรเพราะมองไปที่ไหนร้านค้าก็ซบเซาไร้ลูกค้ามาซื้อของ ไม่คึกคักดังเดิม แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมาพบว่า ภายในบ้านเลขที่ 287 หมู่ที่ 1 บ้านธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นบ้านของข้าราชการสาวสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้เวลาหลังเลิกงานมาเพาะเลี้ยงด้วงสาคู โดยเป็นเกษตรทางเลือกใหม่ที่สามารถส่งขายในพื้นที่ รวมทั้งยังสามารถโกอินเตอร์ที่เวลานี้ทาง EU เตรียมอ้าแขนรับด้วย
ด้วงสาคู เป็นแมลงกินได้ที่มาแรง มีการเพาะเลี้ยงกันมากในแถบจังหวัดภาคใต้ เป็นที่นิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขนาดของตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนัก ขายได้ราคาดี เป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจทั้งในด้านการเพาะเลี้ยง ซึ่งมีวงจรชีวิตสั้นและนำไปบริโภคเช่นเดียวกับแมลงชนิดอื่นๆ
สำหรับด้วงสาคู หรือด้วงลาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rhynchophorus ferrugineus Oliver วงศ์ Curculionidae อันดับ Coleoptera เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งจำพวกแมลงที่มีชื่อเรียกว่า ด้วงงวง ด้วงไฟ ด้วงมะพร้าว ทางภาคใต้เรียกว่า ด้วงสาคู หรือด้วงลาน
ลักษณะตัวเต็มวัย ด้วงสาคูตัวเต็มวัยจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 2.2-3.5 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมส้ม หรือสีน้ำตาลปนดำ ปากยาวบอบบาง มีงวงโค้ง มีจุดแต้มสีน้ำตาลแต้มกระจายบริเวณด้านบนของอกปล้องแรก ซึ่งจุดแต้มนี้มีหลายรูปแบบ ปีกคู่หน้ามีริ้วรอยเป็นเส้นๆ ตามความยาวของปีก ปีกคลุมไม่มิดส่วนปลายท้อง
ตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกัน โดยที่ตัวผู้จะมีขนมองเห็นได้ชัดเจน และมีลักษณะเป็นแนวบริเวณส่วนกลางตามความยาวของงวง ทั้งนี้ รูปแบบการเลี้ยงด้วงสาคูในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การเลี้ยงด้วงสาคูแบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคู/ท่อนลาน เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ และการเลี้ยงด้วงสาคูแบบประยุกต์ โดยใช้การเลี้ยงในกะละมัง
คุณปุญญารัตน์ ใจอินถา ข้าราชการประจำเทศบาลตำบลเชียงคำ ได้กล่าวว่า แต่เดิมนั้นตนเองเป็นคนอำเภอปง จังหวัดพะเยา และได้เดินทางมาทำงานที่เทศบาลตำบลเชียงคำ ใช้เวลาทำงานถึง 9 ปี
หลังจากนั้น ตนเองและลูกสาวก็ได้ย้ายมาอยู่ที่เชียงคำเป็นการถาวร มีอยู่วันหนึ่งตนเองได้เดินทางไปตลาดเช้าเชียงคำเพื่อหาซื้อกับข้าวกับลูกสาว เมื่อเดินไปถึงจุดที่มีด้วงสาคูวางขายปรากฏว่าลูกสาวอยากลองกินเพราะด้วยตัวลูกสาวของตนเองชอบลองกินอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่ด้วย
ตนเองจึงตัดสินใจซื้อให้ลูกสาวมาลองกินซึ่งราคาที่แม่ค้าขายให้ตนเองนั้นอยู่ที่ กิโลกรัมละ 300 บาท ด้วยราคาที่แพงตนเองจึงซื้อมาเพียง 2 ขีดในราคา 60 บาทเท่านั้น แต่หลังจากที่ลูกสาวกินแล้วติดใจ ตนเองก็มีความคิดอยากจะลองเลี้ยงด้วงสาคูนี้เพราะด้วยราคาที่แพงและลูกสาวชอบกินด้วย
อีกอย่างตนเองอยากจะทำเป็นอาชีพเสริมหลังเลิกงาน ประกอบกับ ด้วยสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตนเองจึงได้เริ่มค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ จากนั้นจึงตัดสินใจเริ่มเลี้ยงด้วงสาคูในที่สุด
คุณปุญญารัตน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเริ่มเลี้ยงด้วงสาคูนั้น เริ่มแรกตนเองได้เดินทางไปที่ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อขอซื้อพ่อ-แม่พันธุ์ จากแหล่งที่มีคนเลี้ยงมา 5 คู่ แล้วนำกลับมาลองเลี้ยงที่บ้าน ในการเริ่มเลี้ยงต้องหากะละมังที่มีฝาปิดมาทำเป็นรังของด้วงสาคูนี้เสียก่อน ซึ่งก่อนใส่ก็ต้องผสมอาหารให้ด้วงกิน โดยตนเองได้นำมันบด ขุยมะพร้าว อาหารสุกรมาคลุกใส่น้ำให้เข้ากันแล้วนำกล้วยน้ำว้าที่สุกงอมมาวาง ก่อนจะนำตัวด้วงสาคูที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ลงเลี้ยง
ทั้งนี้ อาหารที่ใช้เลี้ยงจะต้องมีรสชาติที่หวานเท่านั้น ห้ามเป็นอาหารรสชาติที่เปรี้ยว หลังจากที่ผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะเริ่มวางไข่อีก 2 วันต่อมา จนเวลาล่วงเลยมาถึง 10 วันก็จะเป็นตัวด้วงทันที ซึ่งจำนวนจะอยู่ที่ 20-30 ตัว หลังจากนั้น ก็สามารถแยกไปเลี้ยงในกะละมังใหม่ได้อีกภายในระยะเวลา 10-40 วัน ด้วงสาคูก็จะเป็นโตเต็มที่พร้อมสามารถนำไปขายได้
ซึ่งการเลี้ยงด้วงสาคูนี้ตนเองยืนยันว่าสามารถเลี้ยงได้ทุกฤดูกาลของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศโดยไม่เป็นการทำลายธรรมชาติในป่าอีกด้วย ทุกวันนี้ที่ตนเองเลี้ยงนี้กลับพบว่ามีบริษัทที่กรุงเทพฯ กำลังรับซื้อเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศในแถบ EU อีกด้วย
ทั้งนี้ ถือว่าการเลี้ยงด้วงสาคูนั้นเป็นเกษตรทางเลือกใหม่ในยุคโควิด-19 ระบาดแบบนี้ที่หลายคนสามารถเลี้ยงเพื่อกิน เลี้ยงเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ และเลี้ยงเพื่อส่งออกต่างประเทศในราคาที่สูงอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ตนเองเลี้ยงด้วงสาคูนั้นถือว่าเป็นเจ้าแรกในจังหวัดพะเยา ที่สามารถส่งให้โรงงานที่รับซื้อแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย
คุณพานิช บุญมี ประธานกรรมการ พี.เจ.ซัลเลต กรุ๊ป ได้กล่าวเสริมว่า ในการเลี้ยงด้วงสาคูนี้ ปกติโรงงานที่ตนเองดูแลอยู่นั้นจะทำในเรื่องเครื่องจักรอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ การทำจิวเวลรี่ต่างๆ ที่ส่งออกไปยังหลายๆ ที่ ด้วยระยะเวลา 22 ปีในการทำงานนี้ นอกจากนี้ ยังมีฟาร์มเลี้ยงถังเช่า รวมทั้งโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง
แต่ด้วยความชอบส่วนตัวในเรื่องการทำเกษตรนั้น ตนเองได้ศึกษามาพักใหญ่ของการเลี้ยงด้วงสาคูนี้ โดยปัจจุบันนี้พบว่าแมลงที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศนั้นพบว่ามีเพียงจิ้งหรีดและอีกหลายประเภทที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติให้ส่งออก
แต่กลับพบว่าด้วงสาคูยังไม่สามารถส่งออกได้ ด้วยทางองค์การอาหารและยา หรือ อย. ยังไม่ได้รองรับว่าด้วงสาคูนี้เป็นสินค้าคล้ายเนื้อสัตว์ที่สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศ ตนเองจึงเริ่มเขียนโครงการเพื่อเสนอ อย. อยู่นานร่วม 6 เดือน
ทั้งนี้ ในการผลักดันดังกล่าวตนเองได้รับคำปรึกษาจาก คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจากผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ จนล่าสุดโครงการส่งออกด้วงสาคูนั้นทางองค์การอาหารและยาของไทยก็ยอมรับและอนุญาตให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ด้วงสาคูนั้นยังอยู่ในช่วงทดลองจำหน่ายต่างประเทศภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา
คุณพานิช กล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้บริษัทที่ตนเองดูแลอยู่ถือว่าเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่สามารถส่งออกด้วงสาคูไปยังต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ตนเองจึงได้เริ่มลงมือในการผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงด้วงสาคูและตัวแทนที่ 1 จังหวัดจะมีเพียง 1 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ ตัวแทนของตนเองสามารถที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเลี้ยงด้วงสาคูนี้เพื่อเป็นเกษตรทางเลือกใหม่ในยุคโควิด-19 แบบนี้ และยังสามารถเพิ่มรายได้จากการทำงานหลักได้อีกด้วย สำหรับตลาดโลกที่รองรับการส่งออกด้วงสาคูนั้นมีอยู่หลายประเทศ ได้แก่ อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย แม็กซิโก และอีกหลายประเทศที่ทางแถบ EU ยอมรับว่าด้วงสาคูสามารถกินได้ นอกจากนี้ การเลี้ยงด้วงสาคูนั้นใช้เวลาไม่นาน โดยการเลี้ยงจะใช้เวลาเพียง 45 วันเท่านั้น ก็สามารถนำไปขายตามท้องตลาดหรือส่งขายที่ตนเองก็ได้
ด้วงสาคูที่ผู้เลี้ยงได้เลี้ยงแล้วส่งมาขายที่ตนเองนั้นก็จะนำมาแปรรูปเป็นลักษณะด้วงสาคูกระป๋องภายใต้ชื่อ ด้วงสาคูคุณจา โดยด้วงสาคูกระป๋องจะสามารถเก็บไว้ได้นาน ซึ่งกรรมวิธีการผลิตนี้ตนเองขอเป็นความลับจะดีกว่า แต่เวลากลายเป็นด้วงสาคูกระป๋องแล้วจะสามารถส่งขายต่างประเทศเฉลี่ยแล้วอยู่ที่กระป๋องละ 100 บาท และยังสามารถขายปลีกในบ้านเรานี้ได้ที่ราคากระป๋องละ 125 บาท ด้วยเช่นกัน ซึ่งการเลี้ยงด้วงสาคูที่บ้านนี้เป็นการดีมาก ที่คนเราไม่ต้องไปทำลายธรรมชาติให้ระบบนิเวศเสียหายไปด้วย
สำหรับผู้สนใจที่จะศึกษาดูงานภายในพื้นที่อำเภอเชียงคำ ก็สามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามไปยัง คุณปุญญารัตน์ ใจอินถา โทร. (086) 185-9457 หรือสอบถามการซื้ออาหารเลี้ยงและการส่งออกไปต่างประเทศก็สามารถติดต่อได้ที่ คุณพานิช บุญมี โทร. (089) 814-4074 ได้ตลอดเวลา
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำที่ควรระวังในการเลี้ยงด้วย เนื่องจากแมลงชนิดนี้เป็นศัตรูพืชที่เข้าทำลายต้นปาล์ม มะพร้าว ลาน และสาคู จึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเต็มวัยเล็ดลอดสู่ธรรมชาติโดยเด็ดขาด
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564
………………………………………….
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354