ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“หลายคนสงสัย และตั้งคำถามกับผมว่า ทำไม ถึงเลือกปลูกมันเทศ แล้วในอนาคตตลาดจะเป็นไปในรูปแบบไหน ตลาดจะตันไหม ตอบได้เลยว่า ตลาดมันเทศยังไปได้อีกไกล เพราะหากทุกคนได้ลองสืบค้นประวัติมันเทศดูแล้ว จะพบว่า ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากมันเทศมายาวนาน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้ มิหนำซ้ำความต้องการยังมี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นการจุดประกายความคิดที่ว่า เวลาผมจะเลือกปลูกอะไรก็ตาม
- เราต้องเลือกปลูกสิ่งที่ตลาดต้องการ
- เป็นอะไรที่มีอยู่มานานแล้ว มีการใช้อย่างต่อเนื่อง และ
- สามารถแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้น อนาคตผมเชื่อเหลือเกินว่า มันเทศจะยังมีอนาคตที่สดใสไปอีกนาน ถ้าทุกคนรู้จักปลูก รู้จักขาย และควบคุมปัจจัยการผลิต ดีมานด์ ซัพพลายได้”
คุณวิวัฒน์ ศรีกระสัง หรือ พี่ติ๊ก ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เมืองย่าโม อยู่บ้านเลขที่ 139 หมู่ที่ 10 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา อดีตคนทำงานสื่อสู่การเป็นเกษตรกรปลูกมันหวานมืออาชีพ สร้างอาณาจักรมันหวานครบวงจร ทั้งปลูก-แปรรูป รวมถึงทำการตลาดเอง จนสามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับครอบครัวได้กว่าเดือนละกว่าหลักแสนถึงหลักล้านบาท
พี่ติ๊ก เล่าถึงประวัติความเป็นมาถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า เมื่อก่อนตนเองทำงานในวงการสื่อมาก่อน ถือว่าเป็นความโชคดีและโอกาสเหมาะสมที่ก่อนจะออกจากงาน ได้มีโอกาสทำข่าวเกี่ยวกับการเกษตร จนได้มีการตกผลึกทางความคิดในเรื่องของการทำเกษตร และมีความคิดบวกกับอาชีพที่เป็นเกษตรกรขึ้นมา เนื่องจากพื้นฐานครอบครัวพ่อและแม่ประกอบอาชีพกรรมเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว แต่จะมองเห็นในแง่ลบมาโดยตลอด แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้ามาคลุกคลีทำรายการเกษตร ได้ไปสัมภาษณ์เกษตรกรคนเก่งที่ประสบความสำเร็จจากงานเกษตรอยู่บ่อยครั้ง จึงเกิดการหล่อหลอมความเป็นเกษตรกรมาเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว และเกิดการเปลี่ยนความคิดมองการเกษตรในแง่บวกมากขึ้น ว่าอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้แย่อย่างที่คิดมาตลอด และตั้งแต่วันนั้นมาจึงเปลี่ยนความคิดในแง่ลบที่มีต่อการทำเกษตรใหม่ แล้วหันมาทดลองเป็นเกษตรกรวันว่าง
เริ่มต้นจากงานเกษตรง่ายๆ คือ การเพาะเห็ด เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สามารถใช้พื้นที่ข้างบ้านในการเพาะได้ ประกอบกับการที่ตนเองทำงานสื่อควบคู่อยู่ด้วยในขณะนั้น จึงทำให้มีความเข้าใจในการประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเอง ดึงจุดเด่นที่สวนมีมาใช้ แล้วปรากฏว่าผลตอบรับออกมาดีมาก เดือนหนึ่งมีรายได้เข้ามามากกว่าเงินเดือนประจำกว่าเท่าตัว และมีออเดอร์ชุดใหญ่สั่งเข้ามากว่าแสนบาท กลายเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นลาออกจากงานประจำ เพื่อผันตัวมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว
ผิดหวังจากการเพาะเห็ด พลิกวิกฤต
ปลูกมันหวานญี่ปุ่น สร้างรายได้
เจ้าของบอกว่า หลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเพาะเห็ด ทำได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ก็เริ่มมีปัญหาทางการตลาดเกิดขึ้น มีคู่แข่งมาก ส่งผลทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเริ่มที่จะมองหาพืชตัวใหม่มาเป็นตัวสร้างรายได้แทนการเพาะเห็ด โดยนำเอาประสบการณ์และข้อผิดพลาดจากการเพาะเห็ดมาปรับปรุงพัฒนาและเปลี่ยนแนวคิดการเลือกพืชมาปลูกว่า จะต้องเป็นพืชที่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถนำมาแปรรูปได้ และต้องขายได้ทั้งส่ง-ปลีก เพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ จนได้ค้นพบพืชชนิดหนึ่งที่ตรงกับความต้องการ ก็คือ มันหวานญี่ปุ่น ที่นอกจากประโยชน์จะรอบด้านแล้ว เรื่องของรสชาติยังไม่เป็นสองรองใคร และมั่นใจว่าตนเองจะสามารถนำจุดเด่นมาดึงดูดคนไทยได้แน่นอน จึงได้ตัดสินใจซื้อมันหวานญี่ปุ่นมาจำนวน 1 กิโลกรัม เพื่อมาเพาะขยายพันธุ์ปลูกเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต
“ตอนนั้นจำได้ว่า ผมควักเงินทุน ประมาณ 3,000-5,000 บาท ในการซื้อหัวมันมาปลูก บนพื้นที่ประมาณ 1 งาน ปลูกครั้งแรกขุดขึ้นมาเละๆ หัวไม่ได้ เป็นเสี้ยนบ้าง แมลงเจาะบ้าง ได้ผลผลิตออกมาน้อยมาก และแม่ก็ไม่เห็นด้วย บอกปลูกอะไรก็ไม่รู้ ตลาดก็ไม่มี ก็ไม่ยอมแพ้ อดทนล้มลุกคลุกคลานมาเป็นปี จนเริ่มพิสูจน์ตัวเองได้ จากผลผลิตเพียง 100 กิโล แต่ขายได้เงินเป็นหมื่น เมื่อเทียบกับมันสำปะหลังที่แม่ปลูก 1 ไร่ ได้เงินไม่ถึงหมื่น จุดนี้ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดแม่ แม่เริ่มให้ความสนใจ และเข้ามาช่วยดูแลมากขึ้น จนทุกวันนี้แม่เลิกปลูกมันสำปะหลังและอ้อย แล้วยกที่ดินทั้งหมดให้มาปลูกมันหวานญี่ปุ่นแทน”
เทคนิคการปลูกมันหวานญี่ปุ่น
ให้เป็นที่ต้องการของตลาด
ทั้งในและต่างประเทศ
พี่ติ๊ก บอกว่า ปัจจุบันตนเองมีพื้นที่ปลูกมันหวานญี่ปุ่น ประมาณ 70 ไร่ แบ่งปลูกสลับหมุนเวียนให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี โดยก่อนหน้านี้ที่สวนจะปลูกมันหวานญี่ปุ่นกว่า 12 สายพันธุ์ เนื่องจากยังสนุกกับการสะสมสายพันธุ์ใหม่ๆ และยังสนุกกับการที่ได้เป็นผู้นำการปลูกมันญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันได้ลดสายพันธุ์ที่ปลูกลงมา เหลือประมาณ 5 สายพันธุ์หลัก โดยจะเลือกปลูกเฉพาะสายพันธุ์ที่จำเป็นและมีความต้องการทางตลาดสูง คือ
- ม่วงโอกินาวา
- ม่วงเพอเพิลสวีท
- ส้มโอกินาวา
- เหลืองเบนิฮารุกะ
- ซิลสวีท
ปลูกส่งได้ทั้งโรงงาน และขายปลีก
เทคนิคการปลูก แนะนำว่า ม่วงโอกินาวา เป็นตระกูลมันหนัก จะใช้ระยะเวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวค่อนข้างนาน ประมาณ 4 เดือน เพราะฉะนั้น เรื่องของการเตรียมดินจะต้องเตรียมให้ได้ดีมากกว่าการปลูกสายพันธุ์อื่น เช่น การรองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หรือพื้นที่ปลูกจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดถึงจะปลูกโอกินาวาได้ เพราะพืชต้องกินอาหารยาวนานถึง 4 เดือน ที่เหลือก็เป็นการเพิ่มเติมให้ได้ทางใบทางราก นี่คือ วิธีการเตรียมดิน
การเตรียมยอดพันธุ์ เทคนิควิธีการที่จะทำให้โอกินาวาได้ผลผลิตดี เกษตรกรควรที่จะใช้ยอดพันธุ์ที่เป็น F ต่ำๆ ยกตัวอย่าง เช่น การเพาะมาจากหัวหรือยอดพันธุ์ขึ้นมา 1 ต้น เรียกว่า F1 เมื่อเด็ดยอดต้นไปปักซ้ำ เรียกว่า F2 โดยที่สวนจะใช้ยอดพันธุ์เต็มที่ไม่เกิน F6 แล้วหลังจากนั้นก็จะทำพันธุ์ใหม่ เรียกว่าการทำสาว โดยมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่คนจะปลูกโอกินาวาต้องใส่ใจเป็นกรณีพิเศษคือ ช่วงระยะเวลา 3 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนขึ้นไป ให้สังเกตมันของตัวเองว่างามเกินไปหรือเปล่า ถ้าในระยะเวลาที่กล่าวมานี้สังเกตเห็นว่าใบใหญ่ หนา ยอดอวบ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าบ้าใบ ให้รีบหาวิธีการหยุดยอด เพราะเมื่อไรที่มันเทศมีอาหารเยอะ จะไม่เกิดการสะสมอาหารที่หัว ซึ่งหัวมันก็เปรียบเสมือนกระเป๋าเก็บอาหาร เพราะฉะนั้น ถ้าใบงามเกินไปก็แปลว่าพืชไม่เก็บอาหารไว้ที่หัว แต่ลำเลียงส่งอาหารที่มีทั้งหมดขึ้นไปเลี้ยงต้นและใบ และเมื่อไรที่ใบคลุมถึงกันหมด ทำให้บดบังแสง ไม่มีอากาศในแปลง เมื่อนั้นจะทำให้พืชแย่งกันโต แย่งกันชูยอด เพื่อหาแสงและอากาศ นี่คือ ข้อสังเกต
วิธีการหยุดยอด คือการเปลี่ยนรูปแบบการให้ปุ๋ย ให้เน้นสูตรสะสมอาหารที่หัวแทน เพราะปกติปลูกมัน 3 ฤดู สูตรปุ๋ยจะต่างกัน
ระยะห่าง ขึ้นอยู่กับสภาพดินของแต่ละพื้นที่ เบื้องต้นหากเป็นหน้าฝนจะปลูกในระยะห่าง ประมาณ 30-40 เซนติเมตร เพราะว่าฝนตกทำให้พืชได้รับไนโตรเจนมาก ทำให้พืชเจริญเติบโตได้เร็ว ส่วนถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนและหน้าหนาว จะปลูกในระยะค่อนข้างถี่ เพื่อควบคุมความชื้นในแปลง
ระบบน้ำ มันเทศเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ขาดน้ำไม่ได้ หากขาดน้ำจะมีผลกระทบต่อหัว เพราะฉะนั้นควรให้น้ำต่อเนื่อง ความชื้นสัมพัทธ์ในดินต้องอยู่ที่ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ อย่าให้ขาดให้เกินกว่านี้ ส่วนระบบน้ำสามารถใช้ได้ทั้งน้ำหยดและสปริงเกลอร์ ขึ้นอยู่ที่ความเหมาะสม หากเป็นระบบน้ำหยด จะช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดน้ำ ช่วงแล้งสามารถปลูกได้ ส่วนระบบสปริงเกลอร์จะเหมาะกับพื้นที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะต้องใช้น้ำมาก แต่มีข้อดีตรงที่สามารถช่วยลดความเครียดของพืชได้ในช่วงหน้าร้อน แดดจัดเปิดน้ำใส่ใบ จะลดความเครียดของพืชได้ค่อนข้างดี มีข้อเสียคือ เปลืองน้ำ และวัชพืชเกิดเยอะ
ปุ๋ย ใช้ทั้ง 2 แบบ ทั้งเคมีและอินทรีย์ คือในช่วงการเตรียมดินจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์มูลสัตว์รองพื้นเอาไว้ เพื่อให้เกิดอินทรียวัตถุ ส่วนแปลงไหนที่แร่ธาตุดินไม่พอ ให้เติมตัวที่ขาดตามความเหมาะสม โดยระยะการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใส่ปุ๋ยทั้งหมด 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์มูลสัตว์รองพื้น
ครั้งที่ 2 พืช อายุประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน เป็นสูตรบำรุงต้นและใบ จะใส่เป็นสูตรเสมอหรือใกล้เคียงสูตรเสมอก็ได้ เช่น 15-15-15
ครั้งที่ 3 ช่วงกลางอายุของพืช จะให้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุโพแทสเซียมสูงเพื่อบำรุงหัว ส่วนธาตุไนโตรเจนให้น้อยหน่อยเพื่อหยุดยอดไม่ให้โต และลำต้นก็สำคัญเพราะเป็นส่วนที่ช่วยลำเลียงอาหาร เช่น สูตร 10-10-30
ครั้งที่ 4 ช่วงปลายก่อนเก็บอีก 1 ครั้ง โดยจะให้สูตรตัวท้ายสูง เช่น 0-0-50, 0-0-60
ด้วงงวงมันเทศ ศัตรูตัวฉกาจของการปลูกมันเทศ การแก้ปัญหาคือ ต้องดูแลตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน หลายคนเข้าใจว่าใส่ยาเคมี ยาฆ่าแมลงเข้าไป วิธีนี้ป้องกันได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าจะให้ปลอดแมลงหรือโดนแทะน้อยที่สุด เกษตรกรจะต้องทำทุกองค์อย่างประกอบกันคือ
- เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน ว่ามีการเตรียมดิน ไถกลบตีดินดีแค่ไหน บ่อยแค่ไหน และก่อนหน้านี้แปลงนี้ปลูกอะไรมาก่อน ถ้าปลูกมันเทศซ้ำที่เดิม จะต้องตากดินทิ้งไว้ก่อน ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นเตรียมดินไถกี่ครั้ง ตีปั่นจนแมลงอยู่ไม่ได้
- เมื่อปลูกแล้ว ควรเลือกต้นพันธุ์หรือบำรุงต้นพันธุ์ให้แข็งแรง โดยมีหลักการคิดง่ายๆ และได้ยินบ่อยๆ คือ ถ้าพืชแข็งแรงก็เหมือนมีเกราะกำบังตัวเอง
- น้ำอย่าให้ขาด ถ้าน้ำขาดเมื่อไร จะเป็นปัญหาทันที ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เมื่อเวลาหัวมันโต จะมีการขยายหัว พอดินขยายถ้าน้ำไม่มากความชื้นไม่พอ ดินบริเวณที่มีหัวอยู่จะแตกร้าว ทำให้เกิดเป็นช่องทางการเดินลงของแมลง เพราะว่ามันเทศเมื่อโตเต็มวัยจะส่งกลิ่นล่อแมลง
- การป้องกัน ไม่ใช่การทำลาย เริ่มป้องกันตั้งแต่พืชยังเล็กๆ จะใช้สารสะเดาหรือน้ำส้มควันไม้ก็ได้ และควรพ่นให้เป็นระยะ ไม่ต้องรอให้มีก่อนแล้วถึงป้องกัน เพราะว่าถ้าแมลงได้บุกแล้วยากที่จะเอาคืน และหากเกษตรกรสามารถทำได้ตามปัจจัยที่กล่าวมานี้ จะได้ผลผลิตที่ดีแน่นอน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการปลูกของแต่ละคนประกอบด้วย
ผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ยประมาณ 3-4 ตันต่อไร่ ถือว่าเป็นผลผลิตที่มาก โดยปกติทั่วไปจะได้ประมาณ ไร่ละ 2 ตัน หากได้ต่ำกว่า 2 ตัน ถือว่าผลผลิตน้อย ส่วนของที่สวนได้มาก มาจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สำคัญที่สุดคือ ดิน เพราะพืชประเภทนี้ต้องใช้ดินเป็นแกนหลัก
มูลค่าการส่งขาย 1 เดือน สามารถหมุนเวียนการส่งออกมันทั้งตลาดเก่า-ใหม่ และตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 70-100 ตันต่อเดือน รวมของเครือข่ายด้วย
การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด
“แปลก ใหม่ ใหญ่ เด็ด ดัง”
TS มันหวาน คือ แบรนด์มันหวานญี่ปุ่น สดจากไร่ ที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยพี่ติ๊กแนะเทคนิคการทำแบรนด์สินค้าให้ติดตลาดคือ การสร้างคุณภาพผลผลิตให้ดีก่อน เพราะว่าถ้าเมื่อไรที่ของเราไม่มีคุณภาพ แต่เรามีแบรนด์ แล้วแบรนด์ตัวนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่กลับมาฆ่าเราเอง ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า หากเราขายมันให้กับลูกค้ารายหนึ่ง แล้วของเราไม่ได้คุณภาพ แล้วเรามีแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ตัวนี้แหละจะกลายเป็นตราประทับบนหน้าผากเลยนะว่า แบรนด์นี้ไม่โอเค เพราะฉะนั้น ก่อนจะสร้างแบรนด์ต้องสร้างสินค้าให้มีคุณภาพก่อน และถ้าคุณภาพสินค้าดีค่อยสร้างแบรนด์ให้กับตนเอง โดยการสร้างแบรนด์จะต้องสร้างจุดเด่นของตนเองให้ได้ก่อนว่า เราจะเอาจุดเด่นอะไรมาทำให้คนจำในแบรนด์เราได้ เมื่อคนจดจำแบรนด์ได้ก็จะทำให้แบรนด์เราสามารถทำการค้าได้ทุกรูปแบบ
“ยกตัวอย่าง แบรนด์ “TS มันหวาน” จะใช้หลักการของ ดร.วิเชียร ก่อกิจกุศล ท่านเป็นนักข่าวและเป็นอาจารย์สอนผมมาในสมัยเรียน ท่านบอกว่า ต้อง “แปลก ใหม่ ใหญ่ เด็ด ดัง” คือเอาทั้ง 5 อย่างนี้ มารวมกันให้ได้ ถ้าทำได้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้เกิดทุกอย่าง ก็เหมือนแบรนด์ “TS มันหวาน” เริ่มจากใหญ่คือมีการโฆษณาใหญ่โต แปลกใหม่ ก็คือความเป็นญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในตอนนั้นอยู่แล้ว และความดังมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถือว่าครบองค์ประกอบ ทำให้แบรนด์ของผมดังมาถึงวันนี้”
“TS มันหวาน” ปลูก-แปรรูป ครบวงจร
สร้างรายได้ หลักแสน-หลักล้าน ต่อเดือน
สำหรับใครหลายคนที่ยังนึกไม่ออกว่า การปลูกมันหวานญี่ปุ่นนั้น จะสามารถสร้างรายได้มากถึงเดือนละเป็นแสนเป็นล้านได้ยังไง พี่ติ๊ก บอกว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากตอนที่ตนเองได้เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ รุ่นที่ 2 ปี 58 ในขณะนั้นสมาชิกทุกคนให้ความสนใจกับการปลูกมันหวานญี่ปุ่นของตนเองมาก เพราะยังถือว่าเป็นพืชที่แปลกใหม่ในขณะนั้น และจากความแปลกใหม่ตรงนี้ ทำให้ตนเองได้รับโอกาสและความสนใจจากผู้ใหญ่หลายท่าน เชิญให้ไปออกงานอีเว้นต์ งานขายสินค้า งานวิทยากร ถือว่าเป็นที่โดดเด่นมากในตอนนั้น
จนกระทั่งได้มีโอกาสไปออกงานเกษตรสร้างชาติ ที่จัดขึ้นที่สวนลุมพินี ทำให้มีโอกาสได้พบเจอกับนักธุรกิจชาวต่างชาติหลายคนที่สนใจมันหวานของตนเองและเข้ามาติดต่อเจรจาการค้า บวกกับการที่ได้ออกสื่อทีวีเกือบทุกช่อง ยิ่งทำให้มีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น จากยอดขายหลัก 10 เป็นหลัก 100 จากหลักร้อยเป็นหลัก 5-10 ตันต่อเดือน ทุกอย่างเป็นไปได้ดีมากๆ จนกระทั่งมาสะดุดกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทุกอย่างต้องยุติ ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นสต๊อก แต่ตนเองก็ไม่ยอมแพ้ ทดลองหาวิธีกับภรรยาว่า จะทำยังไงได้บ้างที่จะระบายผลผลิตตรงนี้ออกได้
จนมาตกผลึกความคิดได้ว่าเคยส่งหัวมันให้กับโรงงานหนึ่ง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นมันผง ข้อดีคือ สามารถสต๊อกของไว้ได้นาน สามารถส่งขายต่างประเทศได้ และสามารถส่งให้โรงงานใหญ่ๆ ได้อีกด้วย จึงตัดสินใจศึกษาวิธีการทำมันผง และลงทุนซื้ออุปกรณ์สำหรับแปรรูปมันผงเล็กๆ มาทดลองทำ และก็ใช้ความเป็นสื่อเก่าฉวยโอกาสตรงนี้มาทำการตลาดให้ตนเองอีกครั้ง ปรากฏว่าบริษัทใหญ่ก็เข้ามาเห็น และประจวบเหมาะกับช่วงที่เขานำเข้าของจากจีนไม่ได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบ แล้วมาเจอว่าเรากำลังผลิตมันผง และมีวัตถุดิบเองด้วย จึงมีการเจรจาการค้าเกิดขึ้น ในครั้งนั้นเราทำมันผงส่งลูกค้าไปที่ 1 ตันต่อเดือน มูลค่าหลักล้านต่อล็อต ถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และกลายมาเป็นช่องทางการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งนอกจากการขายมันสด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เบอร์โทร. 082-947-6428 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ เฟซบุ๊ก : มันหวานญี่ปุ่น สดจากไร่ By TS มันหวาน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 20 ก.ค. 2021