เปิดตำรับ ‘ยาดองมะกรูด’ แก้ประจำเดือนมาน้อย

เรื่องประจำเดือนเป็นเรื่องที่กวนใจผู้หญิงหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ประจำเดือนมาน้อย มามาก บางคนไม่มาเลยหรืออยู่ๆ ก็หายไป แต่บางก็คนอาจจะมาประจำในรูปแบบที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร เช่น สีคล้ำ เป็นลิ่มเป็นก้อน ซึ่งลักษณะเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนถึงสุขภาพของผู้หญิง

วันนี้จะเริ่มต้นที่ปัญหาประจำเดือนมาน้อยกันก่อนนะคะ สาเหตุในทางการแพทย์แผนไทย เกิดจากธาตุไฟและธาตุลมพิการในช่วงมีประจำเดือน โดยต้นเหตุมาจากการกระทบกับความเย็น เช่น การเป็นหวัด การได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจอย่างแรง การรับประทานอาหาร พืชผักผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น รสเปรี้ยว รสฝาด รวมไปถึงการไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ และการขาดธาตุเหล็ก ในการสร้างเนื้อเยื่อผนังมดลูก อาการที่มักพบได้คือ มีอาการตัวบวม เย็นตามแขนขา รู้สึกหนาวข้างใน บางรายมีอาการปวดเมื่อย เซื่องซึมปวดหัว และภาวะท้องอืด หัวใจอาจจะเต้นช้า เล็บซีด ความดันต่ำ อ่อนเพลีย และมึนงง

สิ่งที่ควรงดในกลุ่มคนที่มีอาการประจำเดือนมาน้อย ควรงดอาหารที่มีฤทธิ์เย็น รสฝาด หวาน และงดการดื่มเครื่องดื่มเย็น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือห้องแอร์เป็นเวลานาน การอาบน้ำเย็น โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับการปฏิบัติตัวในช่วงนี้ ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน อาหารเครื่องเทศโดยเฉพาะในช่วงระยะก่อนมีประจำเดือน ควรออกกำลังกาย และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างเพียงพอ ดูแลจิตใจให้ผ่อนคลายและอาจเลือกรับประทานยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน บำรุงเลือด และปรับสมดุลระบบประจำเดือน เช่น ลูกยอ ตำรับประสะไพล หญ้ายุ่ม หัวหญ้าแห้วหมู แก่นขี้เหล็ก แก่นฝาง รวมถึงสูตรตำรับยาดองมะกรูดหรือยาดองเปรี้ยวเค็ม ก็เป็นอีกหนึ่งตำรับที่ช่วยปรับระบบเลือดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาดีขึ้น

 

ตำรับยาดองเปรี้ยวเค็ม

ยาดองเปรี้ยวเค็มหรือนิยมเรียกว่า ยาดองมะกรูด เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของยาไทยพื้นบ้าน ที่ใช้ความเปรี้ยวในการดองที่เกิดจากมะกรูดในการคุมเชื้อไม่ให้เจริญเติบโต และสกัดเอาตัวยาออกมาโดยไม่ต้องใช้เหล้า รสเปรี้ยวจะบำรุงปิตตะหรือธาตุไฟ กลิ่นหอมของผิวมะกรูดจะแก้ทางกองลม และมีสรรพคุณของตัวยาสมุนไพรอื่นๆ

สรรพคุณ เป็นยาฟอกเลือดสตรี ขับระดู แก้เลือดแห้ง เลือดเสีย บำรุงเลือด บำรุงประจำเดือน แก้ประจำเดือนน้อย บำรุงหลังคลอด แก้มุตกิด แก้กษัย ผอมแห้ง บำรุงร่างกายแก้ปวดเมื่อยรับประทานได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย

 

ยาดองมะกรูด

ส่วนประกอบ

  1. กำแพงเจ็ดชั้น 20 กรั
  2. เถาวัลย์เปรียง 20 กรัม
  3. โคคลาน 20 กรัม
  4. คำฝอย 45 กรัม
  5. เปราะหอม 20 กรัม
  6. กระชาย 20 กรัม
  7. หญ้าแห้วหมู 20 กรัม
  8. เกลือ 100 กรัม
  9. มะกรูด 33 ลูก
  10. น้ำสะอาด 600 มิลลิลิตร
กระชาย

วิธีทำ

  1. นำกำแพงเจ็ดชั้น เถาวัลย์เปรียง โคคลาน คำฝอย เปราะหอม กระชาย และหญ้าแห้วหมูมาห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ลงไปในหม้อ เติมน้ำ 3,600 มิลลิลิตร ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำเหลือ 1,200 มิลลิลิตร (ต้มเคี่ยว 3 เหลือ 1)
  2. เติมเกลือลงไปให้พอเค็ม (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
  3. นำมะกรูดมาผ่าครึ่งลูก เรียงในโหล จากนั้นนำน้ำต้มสมุนไพรที่กำลังเดือดเทลงไปในโหล
  4. ปิดฝาให้สนิท ตั้งทิ้งไว้กลางแจ้งประมาณ 3 วัน

ขนาดรับประทาน : ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น

เถาวัลย์เปรียง
แห้วหมู

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2563