สมุนไพรกับโรคเบาหวาน

ถ้าจะพูดถึงการนำสมุนไพรมารักษาเบาหวาน ก็ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “สมุนไพร” และ “แนวคิดของแพทย์แผนไทย” ในการรักษาโรคเบาหวาน

หากจะอธิบายกลไกการเกิดโรคเบาหวาน ด้วยแนวคิดแพทย์แผนไทย อาจทำให้เราเข้าใจหลักการรักษาโรคเบาหวานได้ง่ายขึ้น จุดเริ่มต้นคือการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกายทำให้ตับอ่อนต้องเร่งผลิตอินซูลินมากขึ้น เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่ระดับปกติ แต่ถ้าให้ร่างกายทำงานหนักเป็นเวลานาน (กินอาหารหวานจะได้รับพลังงานจากการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย) ตับอ่อนก็จะเสื่อมลง ไม่สามารถรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือดได้ เราก็จะมีอาการจากน้ำตาลในเลือดสูง (น้ำกำเริบ) มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ร่างกายอาจขาดน้ำรุนแรงจนช็อคและหมดสติได้

ในขณะเดียวกัน น้ำตาลที่สูงอยู่ตลอดเวลาก็จะไปทำให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายเสีย การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่ดี (ลมพัดทั่วร่างกายไม่สะดวก) เราก็จะเกิดโรคไต ตาบอด เส้นเลือดอุดตันเป็นอัมพาต เป็นโรคหัวใจ หรือถูกตัดขา เป็นต้น (ที่มา : รายงานการรวบรวมองค์ความรู้ แนวคิดทฤษฎี วิธีการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาโรคเบาหวานตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย)

หลักการรักษาตามแบบแพทย์แผนไทย ก็เน้นความแตกต่างของแต่ละบุคคลหรือ “เรือนธาตุ” (ลักษณะองค์ประกอบเฉพาะของแต่ละบุคคล) ไปประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก หรือธาตุต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันออกไป จึงต้องเลือกการรักษาให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคน โดยวิธีการรักษาจะเป็นการปรับให้ร่างกายกลับสู่สมดุล ซึ่งหมายถึงการเลือกยาหรือสมุนไพรให้เหมาะสมกับบุคคลแต่ละคนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การจะสรุปว่าใครสักคนหนึ่งกินสมุนไพรนั้นแล้วได้ผลดีจะได้ผลดีกับเราด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ การรักษาโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบันหรือแผนไทย ต่างก็ให้ความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดโรค จากนั้นจึงพิจารณาการรักษาด้วยยาตามมา

 สมุนไพรไทยลดน้ำตาลในเลือดได้จริงหรือไม่

คำตอบคือ มีจริง และมีหลายชนิดมาก

แต่การรักษาเบาหวานไม่ใช่เป็นแค่การลดน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทย ต่างมีเป้าหมายในระยะยาว คือให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีอาการจากโรคเบาหวาน ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนทั้งจากตัวโรคเองและจากตัวยาที่ใช้รักษา เราจึงควรมาทำความเข้าใจกับคำว่าสมุนไพร ตามคู่มือการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

Advertisement

“สมุนไพร” หมายถึง พืช สัตว์ จุลชีพ ธาตุวัตถุ สารสกัดดั้งเดิมจากพืชหรือสัตว์ที่ใช้หรือแปรสภาพหรือผสมหรือปรุงเป็นยาหรืออาหารเพื่อการตรวจวินิจฉัย บำบัด รักษาหรือป้องกันโรค หรือส่งเสริมสุขภาพร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ และให้ความหมายรวมถึงถิ่นกำเนิดหรือถิ่นที่อยู่ของสิ่งดังกล่าวด้วย

จากคำจำกัดความนี้จะเห็นได้ว่าสมุนไพรมีความหมายกว้างมาก เป็นได้ทั้งพืช สัตว์ และสารสกัด นอกจากนี้ ยังมีความหลากหลายในเรื่องถิ่นกำเนิด ซึ่งมีผลต่อคุณสมบัติในการรักษาโรคด้วย

Advertisement

โดยหลักและทฤษฎีการแพทย์แผนไทย คนเราเกิดมาจะมีองค์ประกอบที่เป็นลักษณะประจำตัว หรือที่เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม อายุ และกาลเวลา และถ้าหากเกิดการเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 ก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยอาการที่แตกต่างกันออกไป ส่วนพฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุแห่งการเกิดโรคนั้น ประกอบด้วย การกินอาหารมากหรือน้อยเกินไป การทำงานเกินกำลัง หรือการมีโทสะ เป็นต้น

 การปรับพฤติกรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราหายจากโรค

ส่วนสมุนไพรที่มีรสยา 9 รส แตกต่างกัน เช่น ฝาด ขม เปรี้ยว เผ็ด ฯลฯ ถูกนำมาใช้ในการปรับสมดุลของร่างกาย ทั้งเพื่อการป้องกันและการรักษาให้หายจากโรค ตัวอย่างเช่น

สมุนไพรที่มีรสขม ช่วยบำรุงตับ ซึ่งตับมีหน้าที่สร้างไฟธาตุ สร้างน้ำดีในการย่อยอาหาร เช่น มะระขี้นก ฟ้าทะลายโจร ครอบจักรวาล บอระเพ็ด ผักเชียงดา มะเขือพวง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้เป็นเบาหวาน แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ากินมากไปจะมีผลเสียต่อตับ และเป็นที่น่าสังเกตคือ สมุนไพรที่มีรสขมมักมีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด

สมุนไพรที่มีรสฝาด ช่วยสมานเนื้อหนัง ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ แข็งแรง เช่น มะขามป้อม ตรีผลา ขมิ้นชัน ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมต่างๆ ที่อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน

สมุนไพรรสจืด ช่วยขับน้ำ ช่วยการทำงานของไต เช่น รากเตย รากลำเจียก รากข้าว ซึ่งมีผลในการขับน้ำออกไปจำนวนหนึ่ง จึงส่งผลทำให้ธาตุไฟมีกำลังมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้เลือกและพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม จากรายงานการรวบรวมองค์ความรู้ฯ และแนวทางการรักษาโรคเบาหวานตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ความเห็นไว้ว่า

“โรคเบาหวานไม่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์แพทย์แผนไทย สาเหตุที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์คือ เป็นโรคที่เป็นกันน้อย ไม่เหมือนโรคไข้ต่างๆ ซึ่งมีตำรับยาสมุนไพรสำหรับรักษาได้ผลชัดเจน จึงยังคงแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความสมดุลของธาตุทั้ง 4 และอาจให้ยาสมุนไพรที่มีคุณสมบัติต่างๆ กันดังที่ยกตัวอย่างร่วมด้วย โดยพิจารณาตามแต่ระยะและอาการของโรคเป็นรายๆ ไป”

จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันทำให้เราสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและค้นพบคุณสมบัติทางเคมีของสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่มีการวิจัยทางคลินิกมากพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่มากพอที่จะนำมาใช้รักษาโรคเบาหวานในระยะยาวได้ พืชที่มีอยู่ในธรรมชาติบางชนิดก็มีคุณสมบัติที่เป็นอันตราย หรือเป็นยาพิษที่เคยใช้ในการล่าสัตว์ในสมัยก่อนอยู่ด้วย หรือปัจจุบันอาจพบเห็นได้ในยาฆ่าแมลง ยากันยุง ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้น พืชจึงเป็นได้ทั้งยารักษาและยาพิษ เราจึงต้องไตร่ตรองให้ดีว่าคำว่า “สมุนไพร” ที่เราพูดกันอยู่คงหมายถึงเฉพาะพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค แต่ก็ต้องคำนึงคุณสมบัติบางประการที่มีผลข้างเคียงได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 จะใช้สมุนไพรควรใช้อย่างไร

เป็นธรรมดาที่เราไม่อยากเจ็บป่วย หรือถ้าเป็นโรคแล้วก็อยากจะรักษาให้หายขาด ไม่อยากที่จะพึ่งพิงยาไปตลอดชีวิต แต่ถ้าเรามองย้อนไปดูเหตุแห่งการเกิดโรคเบาหวาน เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้เบาหวานจะเป็นผลมาจากพันธุกรรม แต่สิ่งสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวาน มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เกินความพอดีของเรานั่นแหละ

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะควบคุมโรคเบาหวานให้ได้ดีที่สุด”

คำตอบก็คือ “การปรับพฤติกรรมของเราให้เหมาะสมนั่นเอง ไม่ใช่เสียเวลาไปกับแสวงหาว่ากินอะไรแล้วเบาหวานถึงดี”

ถ้าจะอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสุขอิงตามแนวทางศาสตร์ของไทย ก็ควรต้องรักษาธาตุไฟให้เป็นปกติ โดย

  1. กินอาหารที่เหมาะสมทั้งชนิด คุณภาพ และปริมาณ
  2. การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มไฟธาตุ ซึ่งปัจจุบันพบว่าการออกกำลังกายช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยทำให้อินซูลินนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ประโยชน์ได้
  3. รักษาจิตใจไม่ให้เครียด ไม่โกรธ ความเครียดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้
  4. มีวิถีชีวิตที่ถูกต้อง กินและนอนให้เป็นเวลา
  5. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ

แนวทางสำคัญในการดูแลตนเองเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน คือความมีวินัยและไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารและการเคลื่อนไหวออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ การกินหรือใช้ยาตามแพทย์สั่ง และหากประสงค์ที่จะใช้ยาสมุนไพรก็ขอให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย ไม่ใช้ยาหรือวิธีการรักษาตามคำบอกเล่าของบุคคลที่ไม่ใช่ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง เขาอาจจะบอกเราว่าญาติของเขากินแล้วดี แต่คนที่กินแล้วไม่ดีอาจไม่มีโอกาสมาบอกเรา

ท้ายที่สุดโรคเบาหวานเป็นโรคที่ต้องติดตามการรักษาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เราไม่ควรเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดีมีมาตรฐานจากแพทย์และบุคลากรที่ให้การดูแลผู้เป็นเบาหวาน เพราะเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจนตาบอด เป็นโรคไต เป็นอัมพาต หรือถูกตัดขาจากการเป็นโรคเบาหวานแล้ว เราไม่สามารถหาอวัยวะใหม่มาทดแทนได้

ขอบคุณบทความ โดย นายแพทย์เพชร รอดอารีย์ เผยแพร่ผ่าน  www.foryoursweetheart.org