“ลางสาดหอม” ไม้ผลดั้งเดิมที่คนสมุยร่วมกันอนุรักษ์

ราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ทุกปีที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นช่วงของลางสาดที่ได้เวลาออกสู่ตลาดอย่างคึกคัก โดยเฉพาะพันธุ์ลิปะใหญ่ เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของเกาะสมุย เรียกขานกันในพื้นที่ว่า ลางสาดหอมสมุย ที่ปลูกมาพร้อมกับมะพร้าว มีจุดเด่นตรงรสหวาน หอม ลูกใหญ่ เนื้อผลสีน้ำผึ้ง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งแม้จะนำไปปลูกที่อื่นก็ไม่อร่อยเท่าที่สมุย

คุณเศวต วิชัยดิษฐ์

แต่น่าเสียดายไม้ผลดั้งเดิมประจำถิ่นชนิดนี้ที่บรรพบุรุษปลูกตกทอดกันมาเป็นเวลานับร้อยปีนับวันจะลดลงเนื่องจากมีผลไม้ทางเลือกหลายชนิดที่ได้รับความนิยม จึงเป็นความกังวลของชาวสมุยเกรงว่าหากไม่ร่วมมือกันปลูกเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์กันไว้ ในอนาคตอาจไม่มีเหลือให้ลูกหลานได้ภูมิใจ

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เรื่องสายพันธุ์มะพร้าว

ในฐานะคนสมุย อย่าง คุณเศวต วิชัยดิษฐ์ ก็มีความกังวลเรื่องดังกล่าวอยู่ไม่น้อย จึงชักชวนชาวสมุยเปิดโครงการขยายพันธุ์ลางสาดขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการอนุรักษ์ลางสาดพันธุ์ลิปะใหญ่ ซึ่งเป็นพันธุ์เก่าแก่ของเกาะสมุยไว้ เพื่อให้เป็นไม้ผลอัตลักษณ์ของเกาะสมุย สร้างความภูมิใจให้แก่ชนรุ่นต่อไป

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ลางสาด

จุดเด่นของลางสาดพันธุ์นี้คือ ความหอม หวาน ผลใหญ่ เนื้อขาวสีน้ำผึ้ง อันเกิดจากต้นลางสาดได้สารอาหารสมบูรณ์ที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะสมุย และที่สำคัญพื้นที่ของตำบลลิปะใหญ่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ เมื่อมีน้ำหลากเข้าพื้นที่จะพัดโคลนทะเลเข้ามาทับถมทุกปี

ต้นลางสาดที่มีอายุเก่าแก่

ลางสาดลิปะใหญ่ ปลูกและขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดที่เลือกจากต้นที่ให้ผลผลิตสมบูรณ์ที่สุด จากนั้นนำเมล็ดมาล้างด้วยน้ำเปล่าลอกให้เหลือแต่เมล็ดด้านใน นำไปผึ่งลมให้แห้ง (ห้ามตากแดด) ประมาณ 2-3 วัน ขณะเดียวกันให้เตรียมแปลงเพาะ ด้วยการใช้ปุ๋ยหมักมูลสัตว์คลุกกับหน้าดิน หว่านเมล็ดลงในแปลงเพาะ กลบด้วยปุ๋ยหมักอีกชั้นประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้หญ้าหรือฟางคลุมเพื่อรักษาความชื้น รดน้ำทุกวัน ประมาณ 15 วัน จะเริ่มมียอดโผล่

จากนั้นรดน้ำต่อไปอีก ประมาณ 2 เดือน จึงได้ต้นกล้า แล้วย้ายต้นกล้าไปปลูกอีกแปลงที่ได้เตรียมดินใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก เป็นโรงเรือนที่มุงด้วยซาแรนเพื่อไม่ให้ต้นกล้าโดนแดดมาก ใช้เวลาดูแลต้นกล้า ประมาณ 12 เดือน จะได้ต้นกล้าสูงประมาณ 1 ศอก ให้ขุดใส่ถุงดำก่อน โดยรดน้ำทิ้งไว้ ประมาณ 2 เดือน เพื่อให้รากปรับสภาพ แล้วจึงย้ายไปปลูกในแปลงจริง

ต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ด

โดยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกลางสาด 25 ต้น ปลูกระหว่างต้นมะพร้าว ให้ลางสาดอยู่ข้างกล้วยเพื่อให้ใบกล้วยบังแดด ขุดหลุมลึก 1 ศอก กว้างครึ่งศอก ใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมคลุกหน้าดินใส่รองก้นหลุมประมาณครึ่งหลุม นำต้นลางสาดที่อยู่ในถุงดำใส่ลงในหลุม ต้องให้ปากถุงดำอยู่ต่ำกว่าปากหลุม ประมาณ 3-5 นิ้ว แล้วตัดถุงดำออก เติมปุ๋ยหมักลงไปอีกในถึงปากหลุม ใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 สักกำมือ โรยรอบโคนห่างสักศอก แล้วตัดหญ้าหรือใช้ทางมะพร้าวคลุมโคนต้น เพื่อรักษาความชื้น ให้รดน้ำ 2-3 วัน ต่อครั้ง รดพอชุ่ม เมื่อผ่านไป 1 ปี ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในปริมาณกำมือ ห่าง 1 ศอก ใส่ปีละ 2 ครั้ง

เมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 ลางสาดจะเริ่มมีดอกและผสมเกสร ให้ทำความสะอาดโคนต้น แล้วเปิดเพื่อตากหน้าดินให้แห้ง ใช้เวลาประมาณ 15 วัน จนใบมีลักษณะเหี่ยวเฉา อย่างถ้าเปิดโคนต้น วันที่ 1 มีนาคม ให้ทิ้งไว้จนถึง วันที่ 15 มีนาคม เมื่อเห็นว่าใบเหี่ยวเฉา ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 เพื่อเปิดตาดอก แล้วเริ่มให้น้ำทุกวันสม่ำเสมอ ประมาณ 15 วัน จะเริ่มแทงช่อดอก ประมาณ วันที่ 1-10 เมษายน พอวันที่ 15 เมษายน ดอกจะบาน แล้วประมาณเดือนพฤษภาคมจะเห็นมีผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด จากนั้นจึงใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงทุกส่วนของต้น โดยจำนวนปุ๋ยที่ใส่ ให้ดูตามลักษณะอายุต้น โดยเฉลี่ยถ้าต้นอายุ ประมาณ 8-10 ปี จะใส่ประมาณกำมือ โรยรอบทรงพุ่ม

ผลดกขึ้นเต็มต้น

“ถ้าลางสาดแทงช่อเดือนเมษายน จะสุกพร้อมเก็บผลผลิตได้ ประมาณ วันที่ 1-10 กันยายน หรือประมาณ 5-6 เดือน หลังออกดอก ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ให้รดน้ำอย่างเดียว ทั้งการรดน้ำต้องดูสภาพอากาศด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนเก็บผลผลิตควรงดให้น้ำล่วงหน้า 5-7 วัน”

ผลแก่จัดมีขนาดใหญ่

คุณเศวต ชี้ว่าลางสาดแต่ละต้นจะสุกไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการแทงช่อดอก ดังนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาเก็บใช้วิธีสุ่มชิมผลในแต่ละต้น เพื่อดูว่าพร้อมเก็บได้หรือยัง วิธีเก็บใช้บันไดพาดต้น ใช้มีดตัดที่ก้านช่อผลอย่างระมัดระวัง ปริมาณผลผลิตต่อต้น ถ้าอายุเฉลี่ย 8-10 ปี ได้ประมาณ 30-50 กิโลกรัม ถ้าอายุต้นเกิน 10 ปี จะได้ประมาณ 70-80 กิโลกรัม ต่อต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแก่พร้อมเก็บไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าจะส่งไปขายที่ไหน ถ้าขายในเกาะ จะเก็บประมาณ 90% แต่ถ้าขนส่งไปขายที่อื่น จะเก็บที่ความสุก 80% เพื่อให้สุกพอดีเมื่อถึงปลายทาง ทั้งนี้ระยะเวลาเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม

ต้นนี้อายุน้อยยังมีผลผลิตดก

เจ้าของสวนลางสาดบอกเพิ่มเติมอีกว่า การปลูกลางสาดไม่ถูกรบกวนจากโรคหรือแมลงศัตรูเลย จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารป้องกัน ถือเป็นลางสาดไร้สาร นับเป็นข้อดีในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ต้นอายุมากก็ยิ่งให้ผลผลิตดก

ราคาขายลางสาด แบ่งตามคุณภาพเป็น 3 ระดับ คือ A B และ C กำหนดราคาขาย ตั้งแต่ 50, 60 และ 70 บาท ต่อกิโลกรัม ตามเกรด คุณเศวต ชี้ว่า ราคาขายลางสาดตอนนี้สูงกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากผลผลิตในตลาดน้อยลงมาก แล้วเป็นที่พอใจของชาวบ้าน เพราะการปลูกลางสาดมีต้นทุนไม่สูง

คุณเศวต วิตกว่าการปลูกลางสาดที่สมุยจะลดลงไปเรื่อย เพราะมีไม้ผลชนิดอื่นที่ปลูกแข่งขันกัน แล้วยังกังวลว่าถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตอาจไม่เห็นลางสาดเกาะสมุยแน่ ดังนั้น เขาจึงมีแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูการปลูกลางสาดสมุยให้กลับมาอีก ด้วยการตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ลางสาด พร้อมกับทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ฯ เพื่อจัดโครงการและถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรในพื้นที่

ผลสมบูรณ์เปลือกเนียน

“ลางสาดที่สมุย ยังไงก็ขายได้ ขายดีราคาสูงด้วย เพราะผลผลิตมีเพียงปีละครั้ง ปลูกกันน้อย ลูกค้าส่วนมากเป็นชาวสมุยและนักท่องเที่ยว เวลามีผลผลิตลูกค้าจะแย่งกันซื้อ เพราะจุดเด่นของลางสาดสมุยคือ ลูกใหญ่ เนื้อมาก หวาน หอม ลูกขาว น้ำใส ถ้าสุกเต็มที่เนื้อผลจะมีสีน้ำผึ้ง และในช่วงปลายปีหากท่านผู้อ่านมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวเกาะสมุย อย่าลืมแวะไปชิมลางสาดหอมเกาะสมุยกัน” คุณเศวต กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเศวต วิชัยดิษฐ์ โทรศัพท์ 086-120-4118

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354