“หญ้ายาง” วัชพืชยา และอาหาร

โภชนาจารย์ที่ผมเคารพนับถือท่านหนึ่ง คือ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น.ณ ปากน้ำในทางประวัติศาสตร์ศิลปะ และพลูหลวงในทางโหราศาสตร์) เคยบอกว่า ต้นไม้เกือบทุกชนิดกินได้ เหมือนกับที่เป็นยาได้ อาจารย์พูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าใครหลงป่า เสบียงหมด ก็ให้นั่งลง หลับตา แล้วควานมือไปรอบๆ หยิบจับเจอต้นอะไรเข้า ต้นนั้นแหละเด็ดเอามากินได้ ก็เป็นความเปรียบที่อรรถาธิบายคำบอกเล่าข้างต้นได้ชัดเจนดี

แน่นอนว่า ความรู้เรื่องการกินพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารกระแสหลักแบบนี้สาบสูญไปมากจากคนเมือง ซึ่งก็ไม่แปลก ในเมื่อมีพืชผักขายให้ซื้อกินในตลาด ในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าตามเมืองใหญ่แล้ว ก็ไม่เห็นว่าชาวเมืองจำเป็นต้องดิ้นรนเหนื่อยยากไปหาเก็บหากินอะไรอีก และที่หายไปพร้อมๆ กับชนิดของพืชกินได้ คือสูตรอาหารที่จะเอามาทำกินนั่นเอง

ดังนั้นจะเห็นว่า อาหารในเขตเมืองย่อมเหมือนๆ กัน คือวางฐานอยู่บนวัตถุดิบและวัฒนธรรมอาหารกระแสหลักของคนส่วนใหญ่

แต่อาหารนั้นไม่เคยหยุดนิ่งหรอกครับ ปัจจุบันมีอาหารแปลกๆ ขายตามตลาดชุมชนย่อยๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารในวัฒนธรรมแรงงานท้องถิ่นภูมิภาค และแรงงานข้ามชาติ

คนเมืองรุ่นนี้จึงมีโอกาสได้กลับมาระลึกชาติ ได้เห็นการกิน (วัช) พืชที่ตนไม่คุ้นเคยอีกครั้ง ซึ่งมันก็ทำให้เราตระหนักว่า ที่จริงแล้ว การรู้จักกินอะไรที่ดูเป็นธรรมชาติมากๆ นั้นไม่ได้หายไปไหนเลย แค่มันเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ส่วนอื่นของโลก ที่ไม่ใช่บ้านเราเท่านั้นเอง อาจเพราะเหตุที่ว่า “บ้านเรา” ทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ พอที่พืชธรรมชาติเหล่านั้นจะสามารถเจริญงอกงามได้อีกต่อไปแล้ว

คิดได้แบบนี้ อัตตาในตัวตน การยึดมั่นถือมั่นในวัฒนธรรมของตน ก็คงลดน้อยถอยลงไปได้บ้าง

ผมพบว่า เอาเฉพาะในอินเตอร์เน็ตเอง ก็เริ่มมีคนทำคลิปสารคดีสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องการออกไปแสวงหา ทำความรู้จักวัตถุดิบอาหารแปลกๆ เหล่านี้มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าดีนะครับ ในสภาวะที่ผู้คนต้องระมัดระวังตัว ควบคุมพฤติกรรม จำกัดสถานที่เช่นนี้ ถ้าเรารู้ว่าสามารถเก็บเกี่ยว (gathering) เอาผักหญ้าข้างทางมากินได้มากอย่างขึ้น ก็ย่อมเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เปิดกว้างและปลอดภัย ในแง่การแสวงหาอาหารในชีวิตประจำวัน

ท่ามกลางความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ เหล่านี้ ผมเผอิญไปเห็นข้อมูลชุดหนึ่งบนหน้า facebook ของนักโภชนาการที่ผมแอบนับถือ คือ คุณสิทรา พรรณสมบูรณ์ เธอกล่าวถึงการเก็บ “หญ้ายาง” มาทำอาหารครับ

………………

“หญ้ายาง” (Mexican fire plant.) หรืออีกชื่อยาวๆ ที่คนรู้จัก คือ “ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ” นี้ ใครเห็นก็ต้องจำได้แน่ ว่ามันเป็นวัชพืชข้างทาง หลายคนเคยถอนทิ้งด้วยซ้ำ และย่อมระลึกได้ว่ามันมียางข้นขาวเหนียวเหนอะๆ ทะลักล้นจากกิ่งก้านที่หัก ช่างสมชื่อจริงๆ

ถ้าตรวจสอบข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตภาษาไทย ซึ่งคงคัดลอกย่นย่อต่อๆ กันมาจากแหล่งใดสักแหล่ง ก็จะพบข้อความคล้ายๆ กันว่า สามารถกินใบอ่อนดิบได้ในปริมาณน้อย คือ 2-3 ใบ เพื่อเป็นยาระบายอ่อนๆ ส่วนยอดอ่อนลวกกินจิ้มน้ำพริกได้ และมักระบุสรรพคุณของรากว่า ช่วยกระทุ้งพิษ แก้พิษฝีภายใน ส่วนลำต้น เปลือกต้นนั้นบอกว่าช่วยรักษาพิษนาคราช ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอ่านแล้วก็คงจินตนาการไม่ออก ว่ามันหมายถึงอะไรยังไง และต้องเอาไปทำอย่างไร จึงจะมีสรรพคุณที่ว่า

หลายๆ ครั้ง ข้อมูลยืดยาวที่เป็นศัพท์เทคนิคภาษาสมุนไพรเหล่านี้ จึงอยู่นอกพ้นความสามารถที่คนทั่วไปจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ นะครับ

แต่อย่างน้อย (ผมเองก็ยังไม่เคยทดลอง) ใครมีอาการท้องผูก ก็น่าลองกินยอดอ่อนสัก 2-3 ใบ เพื่อช่วยเรื่องนี้นะครับ ถ้าโชคดี ถูกโรคกันกับยา จะได้ช่วยบอกต่อๆ กันไป

หญ้ายางเป็น (วัช) พืชที่ขึ้นได้ดีแทบทุกสภาพพื้นที่ ผมเคยเห็นตามริมทางที่ดอนแล้งๆ ก็ยังมี แต่ที่เห็นบ่อย มักพบขึ้นอยู่รวมๆ ไปกับผักโขมหัด ผักโขมหนาม จิงจ้อขาว กะทกรก ผักเบี้ยหิน ผักเบี้ยใหญ่ ผักเสี้ยนผี ตามที่รกร้างข้างทางแถบชานเมืองก็มีมากครับ โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนจะพบได้ทั่วไป เรียกว่าถ้าใครพบกลุ่มนี้เข้าสักสองสามหย่อม ก็เลือกเก็บเด็ดมาทำกับข้าวกินได้หม้อใหญ่ทีเดียว

ครั้นได้ทราบว่าหญ้ายางนี้กินได้ จากการเผยแพร่ของคุณสิทรา ผมจอดจักรยานแอบข้างทางเมื่อเห็นดงหญ้ายางริมถนน เอากรรไกรเล็กตัดต้นให้ยาวจากยอดลงไปราวหนึ่งคืบ แบบนี้จะได้ยอดและใบที่อ่อนพอดีๆ ตัดแล้วรีบยัดใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมไปนะครับ เพราะยางจะออกมามากทีเดียว

กลับบ้านเอามาล้างเร็วๆ ทั้งก้านก่อน แล้วเด็ดใบใส่กะละมังน้ำ ล้างอีกครั้งให้หมดยาง

ทีนี้จะได้หญ้ายางใบอ่อนๆ ที่ไม่มียางแล้วนะครับ พร้อมทำกับข้าวได้

………………………

ก่อนจะลองทำกับข้าวสำรับหญ้ายาง ผมลองค้นในอินเตอร์เน็ตภาษาไทย ไม่พบใครเอาหญ้ายางมาทำอะไรกินให้เห็น นอกจากระบุสรรพคุณยาระบาย เลยเห็นว่าคงเป็นประโยชน์บ้างครับ ถ้าจะบอกสูตร “แกงเลียงหญ้ายาง” ที่ผมลองทำกินไว้ ณ ที่นี้สักสูตรหนึ่ง

ที่ผมเอาใบหญ้ายางมาแกงเลียง ก็เพราะสังเกตว่า ใบมันคล้ายๆ ใบจิงจ้อขาว คือเหนียว บาง และไม่ฉ่ำน้ำมากนัก แบบนี้ถ้าผัดสดๆ คงแห้งกระด้าง เหนียว ไม่อร่อย จึงคิดว่าเอามาแกงเลียงหรือแกงส้มดีกว่า ลองต้มไปนานๆ อาจอร่อยก็ได้

เครื่องประกอบการทดลองครั้งนี้มีเพียงพริกแกงเลียงสูตรมาตรฐาน คือกุ้งแห้ง พริกไทย หอมแดง และกะปิ ตำให้แหลกเข้ากันดี เอาละลายน้ำในหม้อ ยกตั้งบนเตาไฟกลาง พอเดือด หอมกลิ่นกะปิกุ้งแห้งดีแล้ว จึงใส่ใบหญ้ายาง

ต้มไปราว 10-15 นาที ให้ใบหญ้ายางสุกนุ่ม ปรุงรสเค็มด้วยเกลือหรือน้ำปลาตามแต่ชอบ เท่านี้ก็ได้แกงเลียงหนึ่งหม้อ ตามสูตรง่ายๆ แบบเดิม

ถ้าจะให้หรูหราและกลิ่นหอมขึ้น ใส่กุ้งสดและใบแมงลักนิดหน่อยได้ครับ คนกินที่เป็นคนเมืองใหญ่จะรู้สึกคุ้นเคยเชื่อมโยงเข้ากับกลิ่นแกงเลียงมาตรฐาน ทำให้กินได้อร่อยง่ายขึ้นอีก

คงต้องบอกว่า หญ้ายางที่ต้มสุกแล้วนั้นรสชาตินัวๆ นวลๆ ดีมาก และเมื่อต้มนานราว 10-15 นาทีอย่างที่แนะนำไว้ ใบหญ้ายางจะนิ่มนวลจนจำแทบไม่ได้ โดยส่วนตัว ผมคิดว่ากินนุ่มปากนุ่มคอดีกว่าใบจิงจ้อขาวที่ผมเคยเขียนแนะนำไว้นานแล้วด้วยซ้ำไป

ผัก (วัช) พืชข้างทาง ทั้งหญ้ายางและพืชอื่นๆ ต่างมีกลิ่นและรสสัมผัสต่างๆ กันไป การรู้จักลองเอามากิน ทางหนึ่งก็เสมือนเพิ่มรายชื่อในบัญชีรสชาติผักกินได้ของเราขึ้นไปเรื่อยๆ พอให้สามารถปรับเปลี่ยน เลือกหยิบผักต่างๆ เหล่านี้เข้าออกสลับกันไปในหม้อแกงของเรา

มันเป็นการคิดค้นสร้างสรรค์รสชาติที่ไม่จำเจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องจำใจจำกัดพื้นที่และพฤติกรรมร่วมกันอย่างเช่นทุกวันนี้ครับ