รำแดงโมเดล เกษตรกรรมตามศาสตร์พระราชา

รำแดงโมเดล สร้างขึ้นมาในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นโครงการนำร่อง เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในอำเภออื่น รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง โดยเลือกเอาพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

เกษตรกรชมแปลง

คุณจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ. 8) จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในการทำการเกษตร คือที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ขาดน้ำในฤดูแล้ง และดินยังเหนียวจัดอีกด้วย เกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 11 ไร่ต่อราย พืชเศรษฐกิจของชุมชน คือข้าว เกษตรกรทำนาปีละครั้ง มีตาลโตนดเป็นพืชท้องถิ่น เกษตรกรจะมีรายได้จากการรับจ้างแรงงานจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรกรในท้องถิ่น

คุณจิระ กล่าวต่อไปว่า ต่อมาโรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ได้จ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน แรงงานท้องถิ่นต้องหันกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ได้พัฒนากันไปมากแล้ว ทำการเกษตรแบบเดิม ทำให้รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่ายเลี้ยงชีพในครอบครัว

สวพ.8 จังหวัดสงขลา จึงทำการศึกษาวิจัย หาแนวทางในการที่จะพัฒนาพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลรำแดง ให้เป็นตัวอย่างในการทำการเกษตร พัฒนาการผลิตพืชที่จะนำไปสู่การพึ่งพากันเอง และให้มีการพัฒนาด้านการผลิต การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงไปภาคส่วนต่างให้เข้ามาบูรณาการ โดยมีเกษตรกรในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จนได้เป็นรูปแบบการพัฒนาเป็นรำแดงโมเดล 

จัดเวทีวิจัยสัญจรไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตำบลไรแดงร่วมกับเกษตรกร
ที่ทำการรำแดงโมเดลของเกษตรกร

นำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางสร้างรำแดงโมเดล

คุณธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 สงขลา อธิบายว่า ในการสร้างรำแดงโมเดล ใช้หลักการทรงงานและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมมหาชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการผลิตพืชให้เพียงพอ ยั่งยืนและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง โดยยึดหลักปฏิบัติ 4 เสาหลักของการพัฒนา 

4 เสาหลักของการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา

เสาหลักที่ 1 พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง คือ จัดตั้งกลุ่มเกษตรกร พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนสร้างฟาร์มต้นแบบ สร้างผู้นำเกษตรกร และจัดเวทีสัญจรให้เกษตรกรมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ชุมชนมีพลังในการขับเคลื่อนที่จะพัฒนาในด้านการผลิตและการพัฒนาด้านอื่นๆ ได้สำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้น

เวทีวิจัยสัญจรอีกหนึ่งหมู่บ้าน

เสาหลักที่ 2 พัฒนา 9 พืชผสมผสาน ได้แก่ กลุ่มพืชรายได้ พัฒนาการปลูกพืชเศรษฐกิจชุมชนที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่โดดเด่น กลุ่มพืชอาหาร เช่น พืชผักสวนครัว ผักผลไม้ที่หลากหลายคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนั้น ยังมี กลุ่มพืชสมุนไพรสุขภาพ กลุ่มพืชสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช กลุ่มพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ กลุ่มพืชอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น กลุ่มพืชไม้ใช้สอยไม้โตเร็ว และกลุ่มพืชพลังงาน

เสาหลักที่ 3 พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร โดยการผลิตสินค้าคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรกร เช่น พืชผัก GAP พัฒนาการแปรรูปสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ให้เหมาะสมกับตลาดผู้บริโภค สร้างตราสินค้า และสร้างความน่าเชื่อถือในสินค้า

เสาหลักที่ 4 เชื่อมโยงการผลิตพืชกับการท่องเที่ยวชุมชนและภาคส่วนต่างๆ พัฒนาไร่นาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เรียนรู้ ศึกษา จัดกิจกรรมการศึกษาดูงานในชุมชนแก่บุคคลภายนอกโดยเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชน ในด้านการตลาดได้เชื่อมโยงการผลิตกับการตลาด เป็นผู้รวบรวมสินค้า พัฒนาตลาดชุมชน ตลาดสัญจร ตลาดออนไลน์ และตลาดอื่นๆ เพื่อรองรับสินค้าจากชุมชน สู่ตลาดในเมือง

รำแดงโมเดล ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างในด้านการพัฒนามาจาก 4 เสาหลัก จากการทำนาได้พัฒนามาเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานพัฒนาไปสู่มาตรฐานสินค้าและประสบความสำเร็จในด้านการตลาด จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน

คุณธัชธารินทร์ กล่าวว่า รำแดงโมเดล เป็นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมโดยภาครัฐและชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ช่วยกันค้นหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมติดตามผล ร่วมสรุปบทเรียน เป็นการส่งเสริมบทบาทของเกษตรกร ให้เป็นผู้มีส่วนร่วมทุกกิจกรรมของการดำเนินงานจนมีผลสำเร็จ จากเดิมที่เกษตรกรพึ่งพารายได้จากนอกเกษตรเป็นหลัก มาพึ่งพารายได้จากอาชีพการเกษตรโดยตรง เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เกิดกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญของชุมชน

รำแดงโมเดล เป็นชุมชนต้นแบบที่ให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้ กระบวนการพัฒนา ปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จคือ การปรับเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรให้มีความตั้งใจที่จะพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต

นับตั้งแต่ปี 2559-2561 ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) จังหวัดสงขลา ได้สร้างต้นแบบพัฒนาชุมชนการผลิตพืชโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดเป็น รำแดงโมเดล และได้รับรางวัลเลิศรัฐด้านสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ สวพ.8 และชุมชนรำแดง เกิดความภาคภูมิใจ มาจนถึงปัจจุบันนี้