เกษตรกรแม่สรวย ทำลำไยอีดอคุณภาพ ขายเหลื่อมฤดู-นอกฤดู ทำเงินดี

แม้บรรพบุรุษจะทำการเกษตรมาก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะสืบทอดกันได้ทางสายเลือด เพราะต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ทั้งยังต้องมีความคิดต่อยอด นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแปลงเกษตรที่ทำอยู่

จ.ส.อ. นิกร บุญชัย

เช่นเดียวกับ จ.ส.อ. นิกร บุญชัย อดีตข้าราชการทหาร ที่มีพ่อและแม่ทำสวนลำไยพันธุ์อีดอ ที่ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เห็นครอบครัวทำสวนลำไยมานานหลายสิบปี แต่ไม่เคยจับงานเกษตรในสวนลำไยแม้แต่น้อย กระทั่งปี 2546 ลาออกจากข้าราชการทหาร กลับมาเริ่มต้นจับสวนลำไยสืบทอดงานเกษตรกรรมต่อจากพ่อและแม่ ทั้งที่ไม่มีความรู้ในงานเกษตรเลย โดยเฉพาะในรุ่นของพ่อและแม่ทำสวนลำไย ก็ไม่ได้มีเทคนิคใดๆ ปล่อยให้ธรรมชาติดูแล และให้น้ำบ้างตามความต้องการของพืชอย่างลำไย ผลผลิตที่ได้จึงได้มากน้อยตามสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ราคาลำไยแปรผันตามปริมาณลำไยที่ออกสู่ตลาดในแต่ละปี

ช่อดอกลำไย

เมื่อ จ.ส.อ. นิกร กลับมา เขาจึงเริ่มตั้งใจอย่างจริงจัง ศึกษา จดบันทึก และปรับปรุง เพื่อให้มีเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ในสวนของครอบครัว

“ประมาณปี 2555 กว่าผมจะทำได้”

ท่อพีวีซีเทปูนไว้ด้านใน ใช้แทนไม้ สำหรับค้ำกิ่งลำไย ต้นทุนลำละ 70 บาท
ลำไยต้นนี้ อายุไม่น้อยกว่า 20 ปี

จ.ส.อ. นิกร บอกว่า สิ่งสำคัญของการทำการเกษตรคือ การจดบันทึก เพื่อเห็นข้อดี ข้อเสีย นำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา ให้เกิดที่ดีและเหมาะสมสำหรับแต่ละสวน รวมถึงการนำดินไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อทราบว่าพื้นที่เกษตรกรรมของเราขาดเหลือธาตุชนิดใด และพืชที่ปลูกต้องการธาตุชนิดใดมาก เพื่อไม่สิ้นเปลืองต้นทุนการผลิตในเรื่องของปุ๋ยหรือแร่ธาตุที่ต้องเติมให้กับดินและพืช หากมี 2 สิ่งนี้ การทำการเกษตรก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

สิ่งแรกที่ จ.ส.อ. นิกร ปรับเปลี่ยนในพื้นที่สวน คือการสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เพราะเดิมอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล เมื่อเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการเต็มรูปแบบ แหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำสวนผลไม้

เริ่มต้นจากการทำสวนลำไย พื้นที่เพียง 20 ไร่ ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกออกไป ประมาณ 104 ไร่

ผลิตลำไยเหลื่อมฤดูและนอกฤดูเท่านั้น

ปัจจุบันยังจดบันทึกอยู่

แปลงปลูกมี 2 แปลง

แปลงพื้นที่ 26 ไร่ ปลูกลำไยระยะชิด 3×4 เมตร สำหรับทำลำไยนอกฤดู

พื้นที่เหลือทั้งหมด ปลูกลำไยระยะ 8×8 เมตร สำหรับทำลำไยเหลื่อมฤดู

การดูแลแปลงลำไย ทั้ง 2 ระยะเหมือนกัน แตกต่างกันตรงระยะการราดสาร

การปลูกลำไยเหลื่อมฤดู ทำดังนี้

น้ำหมัก
  1. ตัดแต่งต้นลำไยทรงฝาชีหงาย ให้ตัดตรงกิ่งกระโดงออก ทำให้ต้นเตี้ย
  2.  ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ยากำจัดเชื้อรา
  3.  เมื่อใบชุดแรกผลิออกมา ให้เริ่มสะสมอาหารทางดิน โดยให้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับปุ๋ย 5-15-15 อัตราส่วน 2 : 1 ปริมาณ 2-3 กำมือต่อต้น แล้วให้น้ำตาม ทำเช่นนี้ทุกๆ 10 วัน จนกว่าจะเห็นใบชุดที่สองเริ่มกาง
  4.  เมื่อใบชุดที่สองเริ่มกาง ให้เริ่มสะสมอาหารทางใบ โดยให้ปุ๋ย 0-52-34 ผสมน้ำในอัตรา 300 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ เมื่อใบแก่ใช้ปุ๋ยตามเดิม อัตราส่วนเป็นปุ๋ย 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
  5.  ระหว่างนี้ให้สังเกตแมลง เชื้อรา หากพบก็ให้ฉีดยาฆ่าแมลง กำจัดเชื้อรา แต่ถ้าไม่พบให้เลี่ยง
  6.  หลังสะสมอาหารแล้วเสร็จ ประมาณเดือนธันวาคม ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอกออกมา ยังคงฉีดพ่นสะสมอาหารไปเรื่อยๆ ให้สังเกตว่า ช่อดอกแทงออกมาแล้วจึงหยุด

7. ประมาณกลางเดือนมกราคม นำสารโพแทสเซียมคลอเรต ปริมาณ 10 กิโลกรัม และปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 ผสมเข้ากับน้ำ 200 ลิตร ใช้เครื่องฉีดพ่นห่างโคนต้น 1 ศอก ให้ทั่วทรงพุ่ม จากนั้นให้น้ำตาม

  1.  หลังจากนั้น 7 วัน ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต 10 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ เว้นอีก 7 วัน สูตรเดียวกันฉีดพ่นซ้ำ และให้น้ำตาม
  2.  เมื่อใบลำไยเริ่มเฉา จะเริ่มเปิดตาดอก โดยใช้ไทโอยูเรีย 300 กรัม ปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 ปริมาณ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร สาหร่ายสำหรับเปิดตาดอก 300 ซีซี น้ำตาลทางด่วน 200 ซีซี โบรอนเดี่ยว 50 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้ฉีดพ่นให้ทั่ว
  3. หมั่นสังเกตว่าลำไยเริ่มแทงดอกหรือยัง ภายใน 5-7 วัน หากยังไม่แทงดอก ให้ฉีดพ่นด้วยสารตัวเดิม ปริมาณเท่าเดิม แต่ถ้าเริ่มแทงดอกออกมาแล้ว ให้บำรุงช่อดอกด้วยการให้สารตัวเดียวกับเปิดตาดอก แต่ตัดไทโอยูเรียออก เมื่อราดสารและฉีดพ่นสารครั้งสุดท้ายเสร็จ ให้หยุดน้ำไว้ก่อน รอให้ใบกระทบอากาศหนาว จนแทงช่อดอกชัด จึงเริ่มให้น้ำใหม่

การให้น้ำลำไย ใช้มินิสปริงเกลอร์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

โรงผลิตปุ๋ยหมัก

การให้น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลำไย เพราะน้ำเป็นตัวสำหรับใช้ดูดซึมแร่ธาตุและสารอาหารไปใช้ยังลำต้น ใบ ดอก และผล

การควบคุมน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ลำไยติดผลและให้ผลผลิตเหลื่อมฤดู หรือนอกฤดู

การทำลำไยนอกฤดู ดูแลเช่นเดียวกับการทำลำไยเหลื่อมฤดู แต่ดึงระยะเวลาการราดสารตั้งแต่ข้อ 8-10 ให้นานกว่าเดิมออกไปอีกให้มากที่สุด โดยควรราดสารในช่วงเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม ก็จะได้ลำไยนอกฤดู

ในช่วงที่ดอกบาน อาจพบปัญหาเพลี้ยไฟและแมลง สามารถฉีดยาฆ่าแมลงได้ แต่หากดอกบาน 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ควรหยุด เพื่อให้ผึ้งไปผสมเกสรตามธรรมชาติ

หลังจากลำไยติดเม็ดแล้ว เริ่มให้ปุ๋ยทางดิน 46-0-0 ผสมกับสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 2 : 1 เพื่อขยายผลลำไย ให้เรื่อยๆ บ่อยๆ แล้วให้น้ำตามทีละน้อยทุกครั้ง หมั่นสังเกตหากเม็ดลำไยเริ่มมีสีดำ ให้ปุ๋ยยูเรีย และปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตราส่วน 1 : 1

ลำไยเหลื่อมฤดู จะเก็บเกี่ยวได้หลังจากลำไยในฤดูออกจำหน่ายไปแล้ว ประมาณ 20-30 วัน ทำให้ราคาขายสูงกว่าลำไยในฤดูสูง 20-40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนลำไยนอกฤดู ราคาขายสามารถกำหนดเองได้ และมีจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน

จ.ส.อ. นิกร บอกว่า ข้อดีของการปลูกลำไยระยะชิดคือ สามารถให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ลำไยอายุ 3 ปี ไม่ต้องรอนานเหมือนการปลูกลำไยทั่วไป แต่ต้องควบคุมทรงพุ่มให้ดี ตัดต้นให้เตี้ย ให้แสงเข้าถึงโคนต้น และหมั่นตัดยอดสม่ำเสมอ

จำนวนต้นต่อไร่สำหรับการปลูกระยะ 8×8 เมตร จำนวน 25 ต้นต่อไร่

ระยะชิด 3×4 เมตร ปลูกได้จำนวน 134 ต้นต่อไร่

การปลูกลำไยเหลื่อมฤดู กับนอกฤดู ด้วยฝีมือของ จ.ส.อ. นิกร ทำให้แปลงลำไยเป็นที่ยอมรับ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และ จ.ส.อ. นิกร ยินดีให้คำปรึกษา เข้ามาศึกษาดูงานที่แปลงได้ไม่หวง หรือจะโทรศัพท์มาก็ยินดี ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 084-485-3489 และ 053-950-367