สวพ.8 สุดเจ๋งผุดโครงการ “ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด 19” เชิงพาณิชย์

สวพ.8 สุดเจ๋งผุดโครงการ“ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด-19” เชิงพาณิชย์ ระดมคนในชุมชนปลูกสมุนไพรยอดฮิต ฟ้าทะลายโจร ขิงและกระชายขาว เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มผลผลิตรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 วางเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาท/ปี 

นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความวิตกให้แก่ประชาชนอย่างมาก ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยรายวันที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบจ่อภาคเกษตรอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง อาทิ มีการบริโภคและกระจายสินค้าเกษตรน้อยลงเนื่องจากมีการปิดตัวของตลาดในชุมชนทำให้เกษตรกรขายสินค้าได้ได้น้อยลงและทำให้สินค้าเกษตรหลายชนิดมีราคาตกต่ำลง นำไปสู่รายได้ที่ต่ำลง และเกิดผลกระทบต่อเนื่องในทั้งทางเศรษฐกิจและ สังคมในที่สุด

จากสถานการณ์ดังกล่าว สวพ.8ได้จัดทำโครงการ “ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด 19” ขึ้นมาช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและพัฒนาชุมชนเกษตรในการผลิตสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ขิง กระชายขาว เพื่อเพิ่มปริมาณสมุนไพรในการสร้างภูมิป้องกันให้กับประชาชนและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตลอดจนเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับแกษตรในชุมชน โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์กรมวิชาการเกษตรและโครงการวิจัยฯจากการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

“การจัดทำโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปรับตัวของเกษตรกร (Adapt) โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ของพืชสมุนไพร ต้านโควิด-19 ตลอดจนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต(โดยปรับโครงสร้างภาคการเกษตรชุมชนให้สามารถผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิด-19 เชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมการพร้อมรับโดยพัฒนาการเข้าถึงตลาดดิจิทัล โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกใน5 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา” นายจิระ กล่าว

ด้าน นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มถึงแนวทางการดำเนินงานว่า เบื้องต้นสวพ.8 ได้ทำข้อตกลงในการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรแบบมีส่วนร่วม พร้อมให้ความรู้ การพัฒนาการผลิต แปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาการตลาด จากนั้นจะมีการจัดทำแหล่งขยายพันธุ์สมุนไพร 15,000 ต้น จัดทำแปลงต้นแบบพืชสมุนไพรต้านโควิด-19 ครัวเรือนละ 100 ต้น ปลูกฟ้าทะลายโจร 40 ต้น กระชายขาว 30 ต้น ขิง 30 ต้น เพื่อใช้ในครัวเรือน แบ่งปันในชุมชน เป็นแหล่งขยายพันธุ์ และเป็นรายได้เสริม เป้าหมาย 5 ชุมชน 32 ราย แปลงต้นแบบฟ้าทะลายโจรเชิงพาณิชย์ รายละ 1,000 ต้น ปลูกเพื่อการผลิตผงฟ้าทะลายโจรแคปซูล จำหน่าย เป็นรายได้ และแบ่งปันในชุมชน เป้าหมาย 3 ชุมชน 10 ราย โดยทุกแปลงจะมีการรับรองมาตรฐานสินค้า GAP อินทรีย์ รวมทั้งมีการพัฒนาการแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์สินค้า และการรับรองมาตรฐาน อย. GMPและส่งเสริมการตลาดชุมชนรูปแบบตลาดดิจิตอล สำหรับชุมชนต้นแบบ 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. ชุมชนป่าขาดโมเดล ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 2. ชุมชนรำแดงโมเดล ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 3. ชุมชนบ้านแคโมเดล ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 4. ชุมชนโพธิ์กลาง ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และ 5. ชุมชนวัดสน ตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  

“สวพ.8 มีความมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ชุมชนมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีรายได้จากการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิด-19 เชิงพาณิชย์ จำนวน 10,000 ต้น สามารถผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิด-19 เชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งมีการเข้าถึงตลาดดิจิทัลในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น  โดยวางเป้าหมายชุมชนเกษตรสามารถสร้างมูลค่าจากการผลิตฟ้าทะลายโจร และสมุนไพรอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาท” นายธัชธาวินท์  กล่าว