เผยแพร่ |
---|
ส.ผู้เลี้ยงไก่ไข่ค้านใช้ กม.นำเข้าส่งออก คุมนำเข้าปู่ย่า-พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ แนะตั้งกองทุนช่วยเหลือแก้ปัญหาไข่ล้น เก็บนำเข้าตัวละ 100 บาท-เอ้กบอร์ดชี้ต้องหารือรอบด้านกับกระทรวงพาณิชย์หวั่นขัด WTO
นายอรรณพ อัครนิธิยานนท์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ตามมติประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg board) เห็นชอบให้อาศัยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ออกประกาศเพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) และไก่พ่อแม่พันธุ์ (GS) ให้ปฏิบัติตามโควตานำเข้าอย่างเคร่งครัด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมไข่ไก่ล้นตลาดนั้น ทางสมาคมไม่เห็นด้วย เพราะจะส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดในปีཹ ลดลงเสี่ยงเกิดปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้
ขณะที่ภาวะที่ไข่ล้นตลาดของไทยนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเป็นบางช่วงเวลา หากมีการบริหารจัดการที่ดีปัญหาดังกล่าวก็จะแก้ไขได้โดยที่ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบถึงขั้นได้รับความเสียหาย กรณีราคาไข่ปรับลดลงสุดท้ายไข่ทุกฟองก็สามารถขายได้หมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการบริโภคยังมีอยู่อีกทั้งมติบอร์ดดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยบริโภคไข่เพิ่มขึ้นเป็น 300 ฟองต่อคนต่อปีด้วย
“ผมไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาที่ต้นทาง เพราะจะส่งผลกระทบต่อปลายทางได้ กรณีที่ไข่ขาดตลาด ถึงขั้นต้องนำเข้าขึ้นมา ภาพลักษณ์ของไทยที่ต้องการเป็นครัวโลกนั้นจะเสียหายมาก เพราะไข่เป็นสินค้าพื้นฐานที่คนทุกวัย ทุกชาติ ศาสนาสามารถบริโภคได้ แต่หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้กฎหมายเข้ามาดูแล ผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ต้องปฏิบัติตาม คงไม่สามารถท้วงอะไรได้”
รวมถึงการแก้ไขกรณีไข่ล้นตลาด ราคาไข่ลดลงต่ำกว่าต้นทุนการผลิตนั้น ที่ผ่านมาในที่ประชุมบอร์ด เคยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา โดยให้มีการเก็บเงินจากการนำเข้าปู่ย่า พ่อแม่ พันธุ์ไก่ไข่ ตัวละ 100 บาท เพื่อนำรายได้มาบริหารจัดการไข่ที่ล้นผลักดันให้ส่งออก และชดเชยรายได้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขปัญหานี้ แต่ผู้นำเข้าทุกรายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เงินในกองทุนมีจำนวนมากเพียงพอกับการช่วยเหลือและคาดว่าจะเป็นแนวทางที่ดีแต่มติดังกล่าวไม่เคยประสบผลสำเร็จ
ส่วนมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ฯที่ให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาด 3 แสนตัวขึ้นไปต้องทำแผนการจัดการและแผนการตลาดก่อนขยายฟาร์มนั้น ปัจจุบันผู้เลี้ยงทุกรายต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพราะการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกต้องแจ้งขออนุญาตจากกรมปศุสัตว์ทุกครั้ง ในขณะที่ผู้เลี้ยงต้องทำแผนการตลาดเสนอให้บอร์ดพิจารณาทุกครั้งเพื่อป้องกันปัญหาไข่ล้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาบังคับ รวมทั้งการปลดแม่ไก่ยืนกรง เกษตรกรรู้ดีว่าควรจะปลดในช่วงเวลาใด หากการออกไข่ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตก็ไม่จำเป็นต้องฝืนเลี้ยงกันอีกต่อไป
“จากประสบการณ์การเลี้ยงไก่ไข่ ผมว่าปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดของไทยไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่หากจะมีกองทุนขึ้นมาดูแลจะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายขึ้น นายอรรณพกล่าว
นายมาโนช ชูทับทิม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) กล่าวว่า ที่ประชุมเอ้กบอร์ดได้มีมติให้กระทรวงพาณิชย์นำกฎระเบียบควบคุมนำเข้าฯไก่ปู่ย่าพันธุ์และไก่พ่อแม่พันธุ์ เพื่อลดการนำเข้าอย่างเสรีและเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการบริโภคในประเทศ โดยได้ให้กรมการค้าต่างประเทศนำรายละเอียดต่าง ๆ
ไปศึกษาอย่างรอบด้านและทำประชาพิจารณ์ก่อนเพื่อให้เหมาะสมกับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันเพื่อให้การบังคับใช้ กม.สอดคล้องครอบคลุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ WTO กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมกฤษฎีกายกร่างแต่ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้
“เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการและให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาแนวทางต่าง ๆ แม้ว่าได้มีการยกร่างฯไว้เเล้วแต่ต้องพิจารณากฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศด้วยเพราะกฎหมายบางข้อใน พ.ร.บ.สัมพันธ์กับ WTO
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์