ม.อุบลฯ ผลิตเตียงกระดาษให้ผู้ป่วยโควิด พร้อมส่งมอบความรู้ผลิตใช้เอง

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตเตียงกระดาษแจก รพ.สนาม ศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนนำไปผลิตใช้อย่างง่าย เพื่อเพียงพอรองรับผู้ป่วย ช่วงเกิดการระบาดหนักของโรค

นักศึกษาคณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันผลิตเตียง  กระดาษขนาดกว้าง 105 คูณ 220 เซนติเมตร หรือประมาณ 3 ฟุตครึ่ง รองรับน้ำหนักกดทับได้กว่า 400 กิโลกรัม ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยที่ต้องการเตียงกระดาษไปให้ผู้ป่วยใช้ ช่วงเกิดการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19

โดยวัตถุดิบที่กลุ่มนักศึกษาจิตอาสาเหล่านี้ ใช้ทำเตียงกระดาษมาจากกล่องกระดาษใส่น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเป็นเครื่องดื่มกลุ่มแอลกอฮอล์ ที่ได้รับบริจาคมาจากผู้ใจบุญตามที่ต่างๆของหวัด ไม่ใช่เป็นการนำกระดาษสำเร็จรูปมาขึ้นรูปทำเป็นเตียงโดยเฉพาะ

ดังนั้น เตียงที่นักศึกษาทำขึ้น จึงมีลักษณะแตกต่างไปตามกล่องกระดาษที่เป็นวัสดุในการทำเตียง แต่มีความมั่นคงแข็งแรงเช่นเตียงกระดาษสำเร็จรูป และกล่องกระดาษเหล่านี้ สามารถขอรับบริจาคหรือซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป และหลังเลิกใช้ก็สามารถกำจัดทิ้ง โดยไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน มีศูนย์พักคอยตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดทยอยขอเตียงที่นักศึกษาผลิตนำไปรองรับผู้ป่วยที่มาก ขึ้นในหลายอำเภอ

ดร. พัชริดา ปรีเปรม อาจารย์คณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มโครงการนี้ กล่าวว่า โครงการนี้ ไม่เน้นผลิตเพื่อบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ผู้นำไปใช้ มาเรียนแล้วนำองค์ความรู้ไปผลิตใช้เอง จะได้เตียงตามจำนวนที่ต้องการใช้งาน เพราะวัสดุที่ใช้มีเพียงกล่องกระดาษเหลือใช้ กาว และเทปกาวกระดาษที่มีอยู่ทั่วไป ทำให้มีราคาเพียงเตียงละ 500 บาท และใช้เวลาศึกษาไม่กี่ขั่วโมง ก็เข้าใจวิธีการทำเตียงจากกล่องกระดาษเหล่านี้แล้ว ซึ่งสามารถติดต่อขอรับบริจาคและมาเรียนรู้ได้ที่เพจ UBU Scrap Design

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีเตียงรักษาผู้ป่วยโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามกว่า 1,400 เตียง ปัจจุบันเต็ม 100% เหลือเพียงเตียงในศูนย์พักคอยที่กระจายยังทั้ง 25 อำเภอ ซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 เตียง แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อสีเขียวที่มีอาการน้อยครองอยู่กว่า 3,000 เตียง

ส่วนการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่ของจังหวัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วย    เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด เพื่อรักษาตัวกว่า 7,100 คน แต่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในจังหวัดเพียง 620 คน คิดเป็นร้อยละ 9 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา แต่แนวโน้มเริ่มพบคลัสเตอร์ใหม่ๆเป็นระยะ เพราะมีการนำเชื้อเข้ามาระบาดจากผู้กลับมารักษาตัว