เรียนรู้วิถีเกษตรธรรมชาติ ชายแดนตะวันออก ที่ “ศฝช.สระแก้ว”

ในอดีต ผลกระทบของสงครามในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ราษฎรกัมพูชาจำนวนมากได้หลบหนีการสู้รบและหนีความอดอยากเข้าสู่ประเทศไทยในบริเวณชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรไทยแถบนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก รัฐบาลจำเป็นต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งวิธีการหนึ่งคือ การพัฒนาอาชีพราษฎรไทย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย

ศูนย์อำนวยการร่วมกองบัญชาการทหารสูงสุด และกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าว จึงได้ประสานงานขอความช่วยเหลืองบประมาณจากญี่ปุ่น จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว” (ศฝช.สระแก้ว) เมื่อ 23 กันยายน 2525 เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ (โครงการทับทิมสยาม 02) ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาคมอาเซียนและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ศฝช.สระแก้ว จัดเป็นอุทยานการศึกษาของจังหวัดสระแก้ว มีหน่วยงานทางการศึกษา จำนวน 6 แห่ง ใช้พื้นที่ในบริเวณร่วมกัน ได้แก่ สำนักงาน กศน.จังหวัดสระแก้ว กศน.อำเภอเมืองสระแก้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระแก้ว และหอสมุด อบจ.สระแก้ว

โครงการทับทิมสยาม 02

ปัจจุบัน ศฝช.สระแก้ว ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์สระแก้ว ของกรมปศุสัตว์ และกรมป่าไม้ มีหน้าที่สนับสนุนโครงการพระราชดำริ (โครงการทับทิมสยาม 02) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด มีเนื้อที่ประมาณ 1,460 ไร่ พื้นที่โครงการเดิมเป็นที่ตั้งศูนย์อพยพที่ 8 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า วิจัย และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรไทยบริเวณชายแดน

แปลงปลูกสมุนไพรของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว

ผลการดำเนินงานตามโครงการที่ผ่านมา ได้แก่ 1. กิจกรรมการพัฒนาพันธุ์พืชอาหารสัตว์ เช่น การผลิตท่อนพันธุ์พืชอาหารสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช และการผลิตกล้าพืช เป็นต้น 2. กิจกรรมการวิจัยด้านอาหารสัตว์ เช่น การค้นหาเทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาคุณภาพอาหารสัตว์ 3. กิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์ เช่น การคำนวณสูตรการจัดการแปลงหญ้ากับสัตว์เลี้ยง 4. กิจกรรมการบริการด้านวิชาการอาหารสัตว์ เช่น ให้คำแนะนำด้านวิชาการ การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ 5. การคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ จำนวน 22 ครอบครัว ร่วมกับ บริษัท สวิฟท์ จำกัด และ 6. ดำเนินการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่า จำนวน 5,100 ไร่

นอกจากนี้ ศฝช.สระแก้ว มีหน้าที่สนับสนุนโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนาและทำงานด้านการเกษตรกรรม และสอนผู้ที่ต้องการใช้กระบือทำการเกษตร ให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลกระบือให้มีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ จะเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านที่เรียบง่าย และการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วย

Advertisement

ฐานเรียนรู้ เกษตรธรรมชาติ

ทุกวันนี้ ศฝช.สระแก้ว เป็นแปลงสาธิต ทดลอง วิจัย การปลูกพืชผักตามแนวเกษตรธรรมชาติ MOA และฝึกอบรม ได้แก่ การปรับปรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก การเก็บเมล็ดพันธุ์ผัก การปลูกผักสลัด การทดลอง วิจัยด้านเกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

Advertisement
ป้ายนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการเพาะเห็ด

ฐานเรียนรู้ การเพาะเห็ด

ที่ผ่านมา มีนักศึกษา กศน. ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมศึกษาและดูงาน ศฝช.สระแก้ว ในเรื่องวิถีเกษตรในประเด็นต่างๆ เช่น ศูนย์เรียนรู้การเพาะเห็ด เพราะ ศฝช.สระแก้ว เป็นแหล่งสาธิต ทดลอง วิจัย การเพาะเห็ดครบวงจร ประกอบด้วยหลักสูตรต่างๆ อาทิ การเพาะเห็ดหลินจือ การแปรรูปเห็ด เช่น การทำน้ำเห็ด 7 อย่าง เห็ดหลินจืออบแห้ง และการนำวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดมาทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ด ฯลฯ

ศฝช.สระแก้ว เพาะเห็ดหลินจือ

เลขา กศน. ชื่นชมผลงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้เยี่ยมเยือนศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว (ศฝช.สระแก้ว) อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว โดย นายมาโนช ชลารักษ์ ผู้อำนวยการ ศฝช.สระแก้ว และคณะ ให้การต้อนรับด้วยความยินดี

ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้แสดงความชื่นชมผลงานของ ศฝช.สระแก้ว ในฐานะศูนย์การเรียนรู้การปลูกพืชสมุนไพร ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ด ฐานการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ และฐานเกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาสู่โคก หนอง นา โมเดล โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวสู่ประชาชนในบริเวณชายแดน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี และจังหวัดตราด ได้มีอาชีพ และอาชีพที่ยั่งยืน

ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน.
ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เยี่ยมศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว

นอกจากนี้ ศฝช.สระแก้ว ยังได้ดำเนินโครงการ กศน. ห่วงใยร่วมต้านภัยโควิด-19 กิจกรรมล้านเมล็ดพันธุ์สู้ภัยโควิด โดยศูนย์ได้เพาะต้นกล้าสมุนไพร ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร และกระชาย ไว้แจกจ่ายประชาชนด้วย

ซึ่งทางศูนย์ได้แปรรูปสมุนไพรเป็นชนิดแคปซูล ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระชาย ขมิ้นชัน และมะขามป้อม โดยได้รับการการันตีว่ามีคุณภาพ โดยเฉพาะน้ำเห็ดหลินจือ ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

ศฝช.สระแก้ว ได้แปรรูปสมุนไพรเป็นชนิดแคปซูล
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบรรจุแคปซูล ศฝช.สระแก้ว

30 ตารางวา สู้วิกฤตโควิด-19
ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจของ ศฝช.สระแก้ว คือ การศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบ 30 ตารางวา สู้วิกฤตโควิด-19 ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2563 ในพื้นที่เป้าหมาย พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการเลือกใช้พื้นที่ในรูปแบบแปลงสี่เหลี่ยมมากที่สุด รองลงมาเป็นรูปแบบแปลงตัวเอรูปแบบปลูกในภาชนะ และรูปแบบแปลงตัวยู เป็นลำดับสุดท้าย
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ มีความรู้ ความเข้าใจ การปลูกพืชผักตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเลือกพื้นที่ การเตรียมดิน การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การเก็บเมล็ดพันธุ์ และการทำอาหารเพื่อสุขภาวะ ผลผลิตที่ได้ถูกใช้บริโภคในครัวเรือน การแบ่งปันเพื่อนสมาชิก การจำหน่ายผลผลิตเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และการทำอาหารเพื่อสุขภาวะ มีค่านิยมที่ดี มีคุณธรรมพื้นฐานก่อให้เกิดความสมดุลในทุกๆ ด้าน ทั้งในการดำรงชีวิตในครอบครัวและชุมชน มีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

แปลงปลูกผักปลอดสารพิษ

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการยังเกิดความรู้ ความเข้าใจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้อง นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต เกิดการจัดการเรียนรู้ มีกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การฝึกอบรม และการศึกษาดูงาน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ศฝช.สระแก้ว และสำนักงาน กศน.