ฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ให้เกษตรกรโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

พื้นที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสม สำหรับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนสร้างรายได้ ภายใต้โครงการโคเนื้อสร้างชาติ”

โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุนระยะสั้นไม่เกิน 4 เดือน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรในการยังชีพ และผลิตปุ๋ยมูลสัตว์ใช้ในการเพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนระยะสั้น ตลอดจนพัฒนาศักยภาพคอกกลางรวบรวมโคขุนและคอกกัก เพื่อการส่งออกให้กับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ทั่วประเทศ

โดยเกษตรกรต้องจัดหาซื้อโค ตามคุณลักษณะที่กรมปศุสัตว์กำหนด คือโคเนื้อเพศผู้ จำนวน 5 ตัว อายุระหว่าง 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 250 กิโลกรัม พร้อมกันนี้ รัฐสนับสนุนค่าอาหารสัตว์ สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ตลอดจนและสนับสนุนบ่อบาดาลหรือแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ อีกด้วย

ผลการดำเนินโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ซึ่งกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ สามารถสร้างอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิตโคเนื้อและความมั่นคงทางอาหาร สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพระบบการผลิตโคเนื้อของประเทศได้อย่างดี

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.) ได้สำรวจพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ (ปี 2559-2561) ร้อยละ 67 ที่ได้รับสินเชื่อ ได้นำเงินไปสร้างโรงเรือนใหม่ ส่วนร้อยละ 33 นำสินเชื่อไปปรับปรุงหรือต่อเติมโรงเรือนที่มีอยู่เดิม เกษตรกรมีการปลูกพืชอาหารสัตว์เฉลี่ย 1 ไร่ต่อโคเนื้อ 1 ตัว ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการในการเลี้ยงโคเนื้อ

เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการนำปุ๋ยคอกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง โดยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยไร่ละ 47.89 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการลดการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยปีละ 934 บาทต่อไร่ ขณะเดียวกันพบว่า เกษตรกรสามารถผลิตลูกโคเนื้อได้รวม 2,035 ตัว และมีลูกโคเดินตามตั้งแต่แรกซื้อจำนวน 550 ตัว และเกษตรกรสามารถชำระคืนสินเชื่อได้ทันเวลาและครบตามจำนวนที่ต้องชำระคืน

นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อต่อไป โดยมีการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรด้วยกันเฉลี่ยรายละ 4 เครือข่าย ส่วนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจำนวน 21 แห่ง มีการสร้างเครือข่ายเฉลี่ยแห่งละ 3 เครือข่าย โดยเกษตรกรมีแนวคิดที่จะขยายธุรกิจหรือเพิ่มมูลค่าให้กับโคเนื้อด้วยวิธีการรวมกลุ่มกันพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อให้ตรงตามความต้องการของตลาด ผลิตลูกโคเนื้อ และขุนลูกโคตัวผู้ที่เกิดจากแม่พันธุ์โคเนื้อในโครงการเพื่อจำหน่าย รวมทั้งทำการผลิตโคเนื้อแบบครบวงจร

เลี้ยงโคบราห์มันเพื่อเอาลูก

การเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรในจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่อําเภอพัฒนานิคม โคกสําโรง และชัยบาดาล พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อร้อยละ 80 นิยมเลี้ยงโคเนื้อเพื่อเอาลูก ที่เลี้ยงขุนขายมีแค่ร้อยละ 11.8 เลี้ยงขุนขายร้อยละ 49.12

ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมบราห์มัน โดยแต่ละรายเลี้ยงโคเนื้อไม่เกิน 30 ตัว ร้อยละ 87.35 ให้อาหารหยาบอาหารข้นใช้เลี้ยงเฉพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรคือมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอ อาหารหยาบไม่เพียงพอ ราคาจําหน่ายและตลาดไม่แน่นอน แรงงานเลี้ยงโคมีไม่เพียงพอ ขาดความรู้ด้านการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและการส่งเสริมของเจ้าหน้าที่ไม่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์โครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ควรให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เกษตรกรเกี่ยวกับการคัดเลือกแม่พันธุ์โคเนื้อ การผสมเทียม และการจับสัด อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตลูกโคเนื้อได้ตามเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้ นอกจากนี้ ควรร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการชำระคืนสินเชื่อของโครงการ และวิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่ได้รับสินเชื่อล่าช้าและสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน