เผยแพร่ |
---|
รศ. ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี จัดงาน “ซีเนียร์ โปรเจ็กต์#3” แสดงนวัตกรรมวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ฝีมือเยาวชน ครั้งที่ 3 เพื่อแสดงศักยภาพนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และนักเรียนจากโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีสู่ต้นแบบนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนกว่า 300 ต้นแบบนวัตกรรม
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวอีกว่า ผลงานนวัตกรรมงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดเป็นฝีมือของเยาวชน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และนักเรียนในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) มธ. ผลงานวิจัยที่จัดแสดงมี อาทิ แอพฯ ผู้ช่วยหมอ ตามติดพฤติกรรมเสี่ยงผู้ป่วยโรคไต เพื่อเป็นข้อมูลให้ทีมแพทย์ผู้รักษาทำการวินิจฉัยพร้อมทั้งวางแผนปรับชนิดยา ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร รวมถึงปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดภาวะวิกฤตของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ยังมีโดรนเตือนภัย รับหมอกควัน-ไฟป่า พัฒนาขึ้นมาเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยเหตุเพลิงไหม้ ไฟป่า และหมอกควันที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและเอื้อประโยชน์แก่หน่วยที่เกี่ยวข้องในการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ และแอพฯ ติดตามพฤติกรรมเด็กออทิสติก สนับสนุนการสร้างพัฒนาการและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติมากที่สุด เป็นต้น
“คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทั้งด้านวิทย์และบริหารตามยุทธศาสตร์ ซายส์+บิสสิเนส เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมการบริการ รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ในหลากรูปแบบ กิจกรรมซีเนียร์โปรเจ็กต์#3 ถือเป็นงานที่แสดงศักยภาพของเยาวชน นักศึกษาที่สามารถพัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ มีศักยภาพพร้อมต่อการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเยาวชนและนักศึกษาดังกล่าวถือเป็นกำลังสำคัญหนึ่งในการอัพสปีดเศรษฐกิจไทยรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด