“เพชรสังฆาต” สมุนไพรเพิ่มมวลกระดูกให้ชาววัยทอง

สมุนไพรไทยที่เอามาเล่าสู่กันฟังเรื่อง “ชะลอวัย ไกลโรค” เพื่อต้อนรับ “สังคมผู้สูงอายุ” ของไทย ถ้าจะเรียกให้เท่ๆ ต้องบอกว่า “สังคมอายุวัฒนะ” เหมือนสังคมที่เจริญแล้วในตะวันตก ในที่นี้ขอประเดิมด้วย “เพชรสังฆาต” สมุนไพรใช้รุกฆาตโรคกระดูกเสื่อม กระดูกพรุน อันเป็นโรคประจำสังขารของคนวัยชราทั้งชายและหญิง

ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยให้ความสำคัญกับ “อัฐิธาตุ” หรือ “ธาตุกระดูก” ในฐานะที่เป็น “ปฐวีธาตุ” หรือ “ธาตุดิน” ซึ่งเป็นธาตุโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดที่ช่วยพยุงร่างกายให้มีรูปทรงตั้งอยู่ได้

ในทางกระดูกวิทยา (Osteology) กล่าวว่า การสะสมแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างกระดูกสูงสุดอยู่ในช่วงวัย 14 ปี สำหรับผู้หญิง และวัย 16 ปี สำหรับผู้ชาย ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดปฐมวัยตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย แต่กระดูกยังสามารถเสริมความหนาตัวได้อีกจนถึงอายุ 30 ปี จากนั้นจึงค่อยๆ เสื่อมลงโดยจะสูญเสียมวลกระดูกไปประมาณปีละ 0.5-1% ทั้งชายและหญิง

นี่กระมังเป็นเหตุให้คัมภีร์แพทย์แผนไทยกล่าวไว้ใน “วัยสมุฏฐาน” ว่าเมื่อคนเราอายุราว 30-32 ปีก็เข้าสู่แดนปัจฉิมวัย อันเป็นวัยที่กระดูกเริ่มเสื่อมนั่นเอง

“เพชรสังฆาต” เป็นสมุนไพรที่ใช้บำรุงกระดูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในพระคัมภีร์สรรพลักษณะ สรรพคุณแลมหาพิกัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงสรรพคุณของ “เพชรสังฆาต” ไว้ว่า “เพชรสังฆาต แก้จุกเสียด แก้บิด แก้ปวดในข้อในกระดูก ชอบแก้ลมทั้งปวงแล”

ในตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “เพชรสังฆาต” มีสรรพคุณ แก้กระดูกแตก หัก ซ้น ขับลมในลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก

ส่วนหมอพื้นบ้านนั้นใช้เถาตำละเอียดเป็นยาพอกบริเวณกระดูกหักช่วยลดอาการบวม อักเสบได้ น้ำคั้นจากเถาดื่มแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้โลหิตระดูสตรีไม่ปกติ รักษาริดสีดวงทวารที่เริ่มเป็นระยะแรก

ด้วยสรรพคุณรักษากระดูกและข้อกระดูกนี่เอง “เพชรสังฆาต” จึงมีชื่อเรียกว่า “สามร้อยต่อ” (ประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งบ่งถึงเอกลักษณ์ของเถาเพชรสังฆาตที่มีลักษณะเป็นข้อๆ สั้นๆ ขนาดยาวราวข้อละ 6-9 เซนติเมตรโดยเรียงต่อกันคล้ายสายโซ่ยาวสีเขียว

และยังน่าจะหมายถึงกระดูก 300 ชิ้น ตามพระคัมภีร์โรคนิทาน หรือในธรรมปฏิบัติของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ ก็มักสอนให้พิจารณากระดูก 300 ท่อน เช่นกัน อันน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “สามร้อยต่อ”

บางท้องถิ่นเรียกเถาสมุนไพรตัวนี้ว่า “ขันข้อ” (ราชบุรี) เพราะมีสรรพคุณช่วยขันข้อกระดูกให้แน่นนั่นเอง

ปัจจุบันได้มีงานวิจัยพบว่า “เพชรสังฆาต” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus guadrangularis L.) มีวิตามินซีสูงมากซึ่งยืนยันสรรพคุณรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน อุดมด้วยแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ที่สำคัญมีองค์ประกอบของแคลเซียมสูงมาก รวมทั้งสารอนาโบลิก สเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) มีฤทธิ์เร่งปฏิกิริยาการสมานกระดูกที่แตกหักโดยกระตุ้นการสร้างเซลล์ออสเตโอบลาสต์ (Osteoblast) ซึ่งทำหน้าที่สร้างกระดูกและยังช่วยให้มีการสร้างสารมิวโคโพลีแซกคาไรด์ (Mucopolysaccharides) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสมานกระดูก ยิ่งกว่านั้นสารคอลลาเจน (Collagen) ในเพชรสังฆาตยังเป็นสารอินทรีย์โปรตีนที่มาจับตัวกับผลึกแคลเซียมฟอสเฟตจนกลายเป็นกระดูกแข็งที่สามารถรับน้ำหนักและมีความยืดหยุ่นในตัวเอง

ผลการทดลองใช้เถาเพชรสังฆาตในสตรีวัยทองซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุน พบว่าช่วยเพิ่มมวลกระดูกและรักษากระดูกแตก กระดูกหักได้ ในขนาดรับประทาน ครั้งละ 2 แคปซูล (น้ำหนักแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

สำหรับการใช้แบบพื้นบ้าน ให้นำเถาเพชรสังฆาตลักษณะไม่แก่ไม่อ่อนสีเขียวเข้ม มา 1 ข้อ นำไปสอดในกล้วยน้ำว้าสุกที่เจาะรูนำร่องไว้แล้ว หั่นซอยเป็น 3 ท่อนเท่าๆ กัน (ความยาวท่อนละ 2-3 ซ.ม.) แบ่งรับประทานครั้งละ 1 ท่อน วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร คำเตือนการรับประทานให้ใช้วิธีกลืน ห้ามเคี้ยว เพราะผลึกแคลเซียมอ็อกซาเลต (Calcium Oxalate) ในเถาเพชรสังฆาตสดมีฤทธิ์คันคอแลระคายเยื่อบุในปากแต่ไม่ระคายกระเพาะอาหาร

แต่ห้ามรับประทานติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์เพราะอาจก่อให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยโรคไตห้ามรับประทานเช่นกัน

“เพชรสังฆาต” เป็นสมุนไพรเถาเลื้อยตระกูลเถาองุ่น มีลักษณะเป็นข้อปล้องสี่เหลี่ยมครีบสีเขียวสดใสสวยงาม เหมาะปลูกเป็นไม้ประดับบ้าน ปลูกง่ายโตเร็ว

สามารถนำมาคั้นเอาน้ำผสมน้ำมะนาว และน้ำผึ้ง เติมเกลือเล็กน้อยตามสูตรของอภัยภูเบศร ดื่มได้รสชาติดีไม่ระคายคอ เพราะกรดมะนาวช่วยสลายผลึกแคลเซียมอ็อกซาเลต

ดื่มวันละแก้วติดต่อกันได้ทุกวันเหมือนดื่มน้ำผลไม้ทั่วไป เป็นการเสริมแคลเซียมและคอลลาเจนให้ร่างกายเพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรงและถ้าจะให้ผลดี

สำหรับผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ วันที่ 18-22 สิงหาคมนี้ ติดตาม Healthcare 2021 “วัคซีนประเทศ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี อ่านสกู้ปเต็มๆที่นี่: