ดีเดย์คุม ‘ออมทรัพย์’-เครดิตยูเนี่ยน กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดถกเกณฑ์ใหม่ก่อนใช้ 1 มิ.ย.

กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมตั้งโต๊ะถก พ.ร.บ.กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน พร้อมสมาชิกสหกรณ์ 200 แห่ง ร่วมกับที่ปรึกษาองค์กรอิสระให้คำแนะนำตามมติ ครม. ก่อนคลอดเกณฑ์ 1 มิ.ย. นี้

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 18 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นสมาชิกสหกรณ์ 200 แห่ง เกี่ยวกับ “ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการทางการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน” ก่อนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 เพื่อยกระดับการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีเสถียรภาพทางการเงินที่มั่นคงและป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนในระยะเร่งด่วน โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่

การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทไม่เกิน ร้อยละ 3.5 ต่อปี กำหนดอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิก ไม่เกิน ร้อยละ 6 ต่อปี และจ่ายเงินปันผลไม่เกิน ร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 6 ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสหกรณ์และกำหนดความสามารถในการก่อหนี้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว

นอกจากนี้ การกำกับลูกหนี้รายใหญ่กำหนดสหกรณ์ให้กู้กับสหกรณ์หนึ่งได้ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง และไม่เกิน 15 ล้านบาท ในกรณีที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อไม่ให้สินเชื่อกระจุกตัวที่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทุนของสหกรณ์ในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรอง เพื่อไม่ให้การลงทุนของสหกรณ์มีความเสี่ยงสูง สำหรับคุณสมบัติของสมาชิกสมทบ กำหนดให้รับได้เฉพาะ บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรของสมาชิกสหกรณ์นั้น หรือบุคคลในหน่วยงานที่ขาดคุณสมบัติจะเป็นสมาชิกเท่านั้น เพื่อป้องกันการระดมทุนจากภายนอก และสหกรณ์จะต้องรายงานธุรกรรมทางการเงินต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกเดือน เพื่อให้สามารถติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงกำหนดมาตรฐานการสอบบัญชีให้ใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของงบการเงินด้วย

“ตามมติ ครม. ท่านนายกฯ ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง นำข้อกำหนดมาพิจารณาหลักเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มองใน 2 ส่วนที่นายทะเบียนของกรมสามารถทำได้ คือการให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกเพื่อให้สหกรณ์มีต้นทุนในการดำเนินการที่เหมาะสม เพราะบางครั้งเวลามองในเรื่องกำไรของสหกรณ์มากเกินไปนั้นทำให้เกิดปัญหา เลยต้องกำหนดประเด็นสำคัญที่จะให้สหกรณ์มีการลงทุนเหมาะสม ส่วนปันผลไม่เกิน ร้อยละ 6 ต่อปี ไม่เกินร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิ และจำเป็นจะต้องมีเงินทุนสำรองในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้แล้วต้องบังคับใช้อย่างเข้มข้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วประเทศเป็นตุ๊กตา ร้อยละ 3.5 นี้ เราวางไว้เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งในการเชิญสมาชิกมาระดมความเห็นจะได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้อีกครั้ง”

นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่อง ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 6 ของเงินฝากและเงินกู้ยืม การกำหนดคุณสมบัติสมาชิกสมทบ ปัจจุบันปัญหาคือกว้างเกินไป หลายๆ สหกรณ์มักประสบปัญหาแล้วถอนเงินออกไป ทำให้สหกรณ์มีปัญหาเรื่องเงินสภาพคล่อง จากนี้ไปสมาชิกสมทบจะต้องอยู่ในสมาชิกครอบครัวเท่านั้น เพื่อป้องกันเงินลงทุนภายนอก หาก พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้จะกันตรงนี้ไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนความสามารถในการถอนหนี้ของสหกรณ์จะต้องไม่เกินความสามารถของเงินทุนเกินหุ้นทุนสำรอง เพราะบางที่ก่อหนี้ทำให้เกิดความเสี่ยง ที่สำคัญคือการก่อหนี้ของรายใหญ่ต้องให้กู้กับสหกรณ์หนึ่งได้ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของสหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้

อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรฐานต่างๆ ได้ปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมองเรื่องของ ก.ล.ต. เข้ามาเป็นมาตรวัดและการกู้ภายในของสมาชิกต้องสามารถเปิดเผยข้อมูล ผลประโยชน์และค่าตอบแทนของกรรมการ ผู้จัดการ ในที่ประชุมใหญ่ได้ทุกข้อ รวมถึงธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีการรายงานทุกเดือน ทั้งนี้ การปรับปรุง พ.ร.บ. นี้ จะต้องนำหลักเกณฑ์มาหารือกันอีกครั้งก่อนประกาศใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งทีมเพื่อวิเคราะห์ รวมถึงตามมติ ครม. ได้มีมติให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบและเป็นที่ปรึกษาในช่วงการปรับตัวให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. กำกับดูแลฯ ให้กับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนด้วย

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ