กรมชลฯ ระดมมันสมองภาครัฐ แก้น้ำท่วม-สิ่งกีดขวางทางน้ำ

กรมชลประทานวางแผนเดินสายระดมมันสมองจากหน่วยงานภาครัฐ 6 ภาค พื้นที่กว่า 1,200 คน ร่วมบูรณาการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำหลาก และเจาะลึกถึงสาเหตุของปัญหาและการเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการทบทวนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศในครั้งนี้ว่า เป็นการบูรณาการร่วมกันคิดและร่วมกันแก้ไขเรื่องน้ำในภาพรวม โดยจะต้องปรับให้สอดคล้องกับปัญหาน้ำที่เกิดขึ้น จากแผน 12 ปี เป็นแผนงาน 20 ปี โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 2 น้ำสนับสนุนภาคการผลิต (น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยในยุทธศาสตร์นี้จะต้องทบทวนในประเด็นเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัว ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้จัดทำแผนอย่างเป็นระบบและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน

ด้าน ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานวางแผนจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ การเสริมสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตและการป้องกันอุทกภัยทั้งระบบ รวมถึงการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกัดขวางทางน้ำ ในเขตพื้นที่ 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 9-30 พฤษภาคม 2560 เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติงานของภาครัฐ พร้อมกับทบทวนเป้าหมายและมาตรการที่สอดคล้องกันก่อนส่งต่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ไปจัดทำการรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชนทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ต่อไป รวมถึงระดมสมองแก้ไขและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหาและสาเหตุการเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาไม่น้อยกว่าเขตพื้นที่ละ 200 คน

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2558 นั้น กรมชลประทานได้ตระหนักถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทานตามที่ได้รับมอบหมายจาก กนช. เพื่อการดำเนินการที่ถูกต้อง ครบถ้วนและทันท่วงทีตามสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการแก้ไขและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นมาตรการหนึ่งที่กรมชลประทานเห็นว่าควรดำเนินการแก้ไขและปรับปรุง เป็นอันดับต้นๆ เพื่อการระบายน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเขตพื้นที่ 6 ภาคดังกล่าว จะเริ่มเปิดสัมมนาครั้งแรก ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยจัดสัมมนาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จากนั้นจะไปสัมมนาที่ภาคกลาง วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ที่กรุงเทพฯ ภาคตะวันออก วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ตอนบน วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ และปิดการสัมมนาที่ภาคเหนือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ส่วนข้าราชการและเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำ โดยเฉพาะน้ำท่วม ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

 

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ

 

Advertisement