ส่อวุ่นหนัก! กฎหมาย”การเดินเรือ”ใหม่ บ้านริมน้ำเข้าข่ายผิดทั้งประเทศ-ตราดแจ็กพอต5พันหลัง

ดีเดย์รุกล้ำลำน้ำให้แจ้งขออนุญาตเจ้าท่าภายใน 22 มิ.ย. 60 นายกสมาคมประมงฯชี้วิถีริมน้ำป่วนทั่วไทย ร่อนหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องใช้ ม.44 เลื่อนใช้กฎหมาย จี้ตั้งคณะทำงานแก้ พ.ร.บ.การเดินเรือฯใหม่ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ขณะที่หมู่บ้านชาวประมงตราดแจ็กพอตเข้าข่าย 5 พันหลังคาเรือน คาดค่าปรับทะลุ 200 ล้านบาท เจ้าท่าตราดห่วงชาวบ้านเดือดร้อนหนัก แนะจังหวัดระดมหน่วยงานหาทางออกร่วมกัน

ทันทีที่ พ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำสำหรับการพาณิชยนาวี การเกษตรกรรม และการป้องกันอุทกภัย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา มีผลให้เจ้าของที่ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งที่เคยได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต ต้องไปแจ้งขออนุญาตกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 หากไม่มาแจ้งตามกำหนดจะมีโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก และต้องรื้อถอนภายใน 1 ปี

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศใช้กฎหมายการเดินเรือฯ ขณะนี้สร้างความปั่นป่วนอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง หรือชายทะเล เข้าข่ายรุกล้ำลำน้ำทั้งสิ้น เท่าที่สำรวจไม่ว่าจะแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน หรืออัมพวา หลายหมู่บ้านริมน้ำสร้างขึ้นมาโดยมีโฉนด แต่เมื่อเวลาผ่านไปน้ำกัดเซาะจนที่ดินหาย ถามว่ากรณีนี้จะทำอย่างไร แม้กระทั่งหมู่บ้านชายทะเลที่ไม่มีโฉนด แต่เป็นท่าเทียบเรือที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ไม่ว่าจะเป็นที่ระนองหรือระยอง หากมีการรื้อถอนคาดว่าจะเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

“ผมได้ยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือฯ มาตรา 18 ที่กำหนดระยะเวลาการแจ้งเจ้าท่า และการเสียค่าปรับออกไปก่อน 1 ปี จากนั้นขอให้ตั้งคณะทำงานแก้กฎหมาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยยื่นผ่านเลขานุการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว อยู่ระหว่างรอคำตอบ ถ้ารัฐบาลไม่แสดงท่าทีอะไร รับรองว่าหน้าทำเนียบรัฐบาลไม่พอจุพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนในครั้งนี้อย่างแน่นอน”

ด้านนางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ได้รวบรวมข้อมูลบ้านที่รุกล้ำลำน้ำมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย เบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่ อ.เมืองตราด อ.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ ได้ประมาณ 80-90% โดยพื้นที่ อ.คลองใหญ่ มีการรุกล้ำมากที่สุด พื้นที่ทั้งหมด 111,871 ตารางเมตร ถ้าเสียค่าปรับอัตรา 500 บาท/ตร.ม. จะเป็นจำนวนเงินกว่า 55,901,995 บาท อ.เมืองตราด พื้นที่ 39,707 ตารางเมตร ค่าปรับ 19,853,912 บาท อ.แหลมงอบ พื้นที่ 13,360 ตารางเมตร ค่าปรับ 6,680,000 บาท ส่วน อ.เกาะช้าง อ.เกาะกูด อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการประชุมหารือกับตัวแทนเครือข่ายจังหวัดชายทะเลทั้ง 23 จังหวัด ที่มีปัญหาร่วมกัน เพื่อนำเสนอปัญหาแนวทางแก้ไขกับหน่วยงานภาครัฐ

“สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุด คือ ขอขยายเวลาขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่า จากวันที่ 22 มิถุนายนนี้ออกไปก่อน และหน่วยงานภาครัฐควรเป็นแกนหลักจัดเวทีเสวนาสาธารณะ มีนักวิชาการ นักกฎหมาย องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหาข้อสรุปเพื่อแก้ไขกฎหมายในสภาพที่สามารถนำไปใช้ได้จริง จากนี้จะมีการทำหนังสือถึงหน่วยงานต่าง ๆ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กระทรวงคมนาคม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตราด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” นางเรวดีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระบุอีกว่า สภาพบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำใน จ.ตราด มีจำนวนมากกว่า 5,000 หลังคาเรือน รวมพื้นที่ประมาณ 350,000-400,000 ตารางเมตร ซึ่งหากมีต้องเสียค่าปรับอัตราตารางเมตรละ 500 บาท จะเป็นจำนวนเงินถึงกว่า 200 ล้านบาท

Advertisement

ด้านนายสุรศักดิ์ อินทรประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า บ้านริมน้ำลำคลองที่ตราดเป็นประมงพื้นบ้าน อยู่อาศัยมาเกือบ 60 ปี เป็นทั้งบ้านและที่จอดเรือ เมื่อปี 2535 กรมเจ้าท่าเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ไปแจ้งขออนุญาต แต่ชาวบ้านไม่ได้ไป เนื่องจากการสื่อสารช่วงนั้นไม่สะดวก ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ.การเดินเรือฉบับใหม่ประกาศใช้ ทำให้ชาวบ้าน ต.ไม้รูด 765 หลังคาเรือนเดือดร้อน เป็นพื้นที่ทั้งหมด 75,106 ตารางเมตร ค่าปรับ 37.5 ล้านบาท ชาวบ้านไม่มีแน่นอน อีกทั้งต้องเสียค่าเช่ารายปีอัตราตารางเมตรละ 50 บาท ถือว่ายังสูงมาก ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอเสนอให้ลดค่าเช่าเหลือตารางเมตรละ 5 บาท

นายจักรกฤชณ์ สลักเพชร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้างใต้ กล่าวว่า การออกกฎหมายออกมาบังคับรวดเร็ว สร้างความตกใจให้กับชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงต้องทำมาหากินอยู่กับทะเล บางคนอยู่มาเป็น 100 ปี การแก้ปัญหาควรมีการสำรวจความเดือดร้อนก่อน เช่น ชาวบ้านหลายรายอยู่มาก่อนปี 2525 ที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ควรได้สิทธิอยู่ต่อ จากนั้นจำกัดเขตไม่ให้มีผู้รุกล้ำรายใหม่ ๆ

Advertisement

นายอำนาจ สอนหมวก ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตราด กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มายื่นเอกสารบ้างแล้ว ส่วนมากเป็นประเภทสิ่งที่ล่วงล้ำพึงอนุญาตได้ ขณะที่ปัญหาสภาพบ้านเรือนของชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ตามชายฝั่ง หรือเกาะ และบางพื้นที่ เช่น เกาะช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ไม่ได้อยู่ในลักษณะอาคารที่พึงอนุญาตได้ ดังนั้นการปฏิบัติตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า หากมีการรื้อถอนชาวบ้านจะเดือดร้อนกันมาก จังหวัดควรหาทางออก โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแลไกล่เกลี่ยเพราะมีผลกระทบหลายด้าน ทั้งที่อยู่ที่ทำมาหากิน ทั้งนี้มองว่าทางออกภาครัฐกับภาคเอกชนต้องคุยกัน เช่น การยกที่ดินให้กรมธนารักษ์ดูแลให้ชาวบ้านที่ปลูกสร้างบ้านไปแล้วเช่า เพื่อควบคุมพื้นที่ถูกรุกล้ำ เป็นต้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์