ม.บูรพา โชว์นวัตกรรมเลี้ยงหอยแครงระบบปิดในบ่อดิน หอยโตไว กำไรสูง

หอยแครง เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีมูลค่าสูงของประเทศไทย แหล่งเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงตำบลบางตะบูน และตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นสภาพดินโคลนละเอียดปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ใกล้บริเวณปากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำเพชรบุรี จึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของหอยแครง 

เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งประกอบอาชีพหลักด้วยการเก็บหอยแครงจากแหล่งธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงหอยแครง สร้างรายได้ที่มีมูลค่าสูง แต่การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีการปล่อยของเสียสู่อากาศและแหล่งน้ำ ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจำนวนมาก

จากรายงานสถิติการเลี้ยงหอยแครงของกรมประมง ระหว่างปี 2551-2553 พบว่า มีปริมาณผลผลิตระหว่าง 4,017-5,065 ตัน แต่ในปี 2554-2555 ปริมาณผลผลิตหอยแครงลดลงเหลือเพียง 2,613-2,518 ตัน (สถิติการประมงแห่งประเทศไทย, 2557) ผลจากการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อปริมาณหอยแครงให้ลดลง ในบางปีมีการตายยกฟาร์มของหอยแครง เนื่องจากมีของเสียไหลมากับน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง ไม่เหมาะต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำ หอยแครงเป็นสัตว์น้ำอยู่กับที่ ไม่สามารถหลีกหนีสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ไปได้ ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันของหอยแครง ทำให้อ่อนแอ เกิดการติดเชื้อโรคพยาธิได้ง่าย เกษตรกรได้ปรับมาใช้วิธีการเลี้ยงหอยแครงในบ่อดิน แต่ยังคงต้องใช้เวลาเลี้ยงหอยแครงนานและการเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่

ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยบูรพา กับ คุณวรเดช เขียวเจริญ

ม.บูรพา ถ่ายทอดนวัตกรรม

คณะนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การนำของ ดร. ไพฑูรย์ มกกงไผ่ ได้พัฒนาบ่อดินให้เป็นบ่อเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดโดยการผลิตแพลงก์ตอนพืช (สาหร่ายเซลล์เดียว) ร่วมกับ เกษตรกรกลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครง ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยการสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นวัตกรรมนี้ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ลดระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง เกษตรกรสามารถเลี้ยงหอยแครงรุ่นต่อไปได้เร็วขึ้น นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยแครงได้อย่างยั่งยืน

 “วรเดช ฟาร์ม” จังหวัดสมุทรสงคราม

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยบูรพา เลือก “วรเดช ฟาร์ม” ของ คุณวรเดช เขียวเจริญ บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โทร. 083-879-6351 เป็นแหล่งทดลองวิจัยเรื่องการพัฒนาการเลี้ยงหอยแครงระบบปิดได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คุณวรเดชเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าและเป็นแกนนำนักวิจัยชุมชนคลองโคน สำหรับ วรเดช ฟาร์ม เดิมเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติด้วยการเปิดน้ำเข้า-ออก ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงหอยแครงแบบธรรมชาติ และพัฒนาเป็นการเลี้ยงหอยแครงด้วยระบบปิด

คุณวรเดช เขียวเจริญ กับกังหันตีน้ำระบบโซลาร์เซลล์

วรเดช ฟาร์ม จัดให้มีระบบทำน้ำให้การหมุนเวียนภายในบ่อและมีทางน้ำเชื่อมติดต่อกันระหว่างบ่อ มีบ่อผลิตสาหร่ายเป็นอาหาร (แพลงก์ตอนพืช) ด้วยการเลี้ยงแพลงก์ตอนแล้วขยายลงในบ่อดิน เมื่อมีปริมาณแพลงก์ตอนที่เข้มข้นพอจะปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยงหอยแครงเพื่อป้อนเป็นอาหารเสริมเข้าสู่ระบบการเลี้ยง ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสมด้วยวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกหอยแครงให้เป็นแหล่งธาตุแคลเซียมสู่แหล่งน้ำ เพื่อการสร้างเปลือกของหอยแครง

การเตรียมดินบ่อเลี้ยง

บ่อดินสำหรับใช้เลี้ยงหอยแครง ควรมีระดับความลึกของน้ำไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าน้ำตื้นอุณหภูมิของน้ำในบ่อจะสูง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำการคราดเปลือกหอยแครงและเศษวัสดุต่างๆ ออกจากบ่อให้หมด คราดพื้นดินในบ่อให้เรียบสม่ำเสมอและตากบ่อให้ดินแห้งเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในดิน

ก่อนเปิดน้ำเข้าบ่อให้ตรวจเช็กคุณภาพน้ำ เช่น ความเค็ม อยู่ในช่วง 18-20 ส่วนในพัน และแอมโมเนียในน้ำ (น้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร) เปิดน้ำเข้าบ่อในช่วงน้ำเกิด (ระดับน้ำขึ้นสูงสุด) และขังน้ำไว้ในบ่อแล้วปล่อยน้ำออกในช่วงระดับน้ำลง น้ำที่นำเข้าใหม่จะพัดพาสารอาหาร เช่น แพลงก์ตอนพืชเข้ามาและตกตะกอนเป็นดินตะกอนใหม่ที่อ่อนนุ่ม (เกิดคะยอ) เพื่อให้หอยแครงฝังตัวได้ง่าย พักน้ำให้เกิดแพลงก์ตอนพืชเพื่อเป็นอาหารของหอยแครง

เปรียบเทียบข้อดีของการเลี้ยงหอยแครงในระบบเปิดกับระบบปิด

ก่อนเลี้ยงหอยแครงแต่ละรุ่นต้องคราดดินในบ่อด้วยโพงเพื่อเอาเปลือกหอยและเศษวัสดุอื่นๆ ออกจากแปลงเลี้ยง ทำการปรับสภาพดินในแปลงโดยการคราดพลิกดิน เพื่อให้ตะกอนเลนแตกออกไม่จับตัวกัน ทำให้พื้นดินเลนราบเรียบสม่ำเสมอ ทั้งยังเป็นการเติมออกซิเจนลงในดินเลนและไล่แก๊สพิษในดินเลนออกไปเพื่อให้ตะกอนดินเลนมีสภาพเหมาะสมให้ลูกหอยแครงฝังตัวได้ง่ายและทำการคราดเดือนละ 2 ครั้ง ในขณะที่มีการเลี้ยงหอยแครงด้วย

การจัดซื้อลูกพันธุ์หอยแครง

ก่อนซื้อลูกพันธุ์หอยแครง มักตรวจสอบความเค็มของน้ำทะเลของแหล่งซื้อขายลูกพันธุ์หอยแครงให้มีระดับความเค็มใกล้เคียงกัน การขนส่งลูกพันธุ์หอยแครงตั้งแต่การบรรจุหอยแครงในถุงปุ๋ยจนกระทั่งถึงแปลงเลี้ยงหอยแครงไม่ควรเกิน 36 ชั่วโมง กรณีซื้อลูกพันธุ์ขนาด 10,000-30,000 ตัวต่อกิโลกรัม เมื่อลูกพันธุ์หอยแครงมาถึงแปลงเลี้ยง ควรทำการตรวจเช็กความแข็งแรงด้วยการตักหอยแครงจากถุงมาใส่จานให้กระจายตัวบางๆ และเติมน้ำเค็ม เฝ้าสังเกตดูการฟื้นตัวของหอยแครงโดยลูกหอยแครงที่แข็งแรงจะเปิดเปลือก ขยับตัวและเคลื่อนที่ในระยะเวลาอันสั้น ควรตรวจเช็กอัตราการรอดตายของลูกหอยแครงด้วย

การเตรียมน้ำสำหรับเพาะแพลงก์ตอนเป็นอาหารเลี้ยงหอยแครงในบ่อดิน

หว่านลูกพันธุ์หอยแครง

คุณวรเดชจัดซื้อลูกหอยแครงสายพันธุ์มาเลเซีย ที่มีขนาด 12,500 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 2.5 ลูก ลูกละ 30 กิโลกรัม มาหว่านลงในบ่อดินจำนวน 5 บ่อ แต่ละบ่อปล่อยเท่าๆ กัน (2.5 ลูก) คิดเป็นอัตราความหนาแน่นเท่ากับ 187,500 ตัวต่อไร่ (บ่อละ 75 กิโลกรัม) เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่ง พบว่ามีหอยที่ปล่อยไว้บางลง มีตายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และซื้อลูกหอยนาง (หอยแครงจากสุราษฎร์ธานี) ขนาด 400 ตัวต่อกิโลกรัม มา 1,000 กิโลกรัม มาลงเพิ่มทั้ง 5 บ่อ (บ่อละ 80,000 ตัว หรือ 200 กิโลกรัม)

บ่ออนุบาลลูกหอยแครงก่อนปล่อยลงบ่อดิน

การจัดการหอยแครงในบ่อดิน

เนื่องจากบ่อดินมีข้อจำกัดเรื่องสารอาหารที่มากับน้ำที่มีอยู่น้อยกว่าในสภาพที่เป็นในทะเลเปิด ทีมวิจัยได้เสนอทางเลือกการสร้างอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ได้ปริมาณที่มากเพื่อเป็นให้อาหารเสริมจากที่มีอยู่ปริมาณน้อยตามธรรมชาติ

การให้แพลงก์ตอนกับหอยแครงในบ่อดิน จะทำการใช้ปั๊มดูดแพลงก์ตอนที่ขยายไว้ในถังขนาด 1 ตัน จำนวน 3 ถัง ส่งไปตามท่อส่งน้ำที่วางไว้ในแนว 2 ข้างของคันบ่อ โดยจะปล่อยให้ในช่วงเวลาประมาณ 09.30-10.00 น. ของทุกๆ วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแสงแดด กังหันตีน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานแล้ว จะช่วยพัดพาแพลงก์ตอนให้กระจายกับกระแสน้ำในบ่อ

คุณวรเดชตรวจสอบความหนาแน่นและการเจริญเติบโตของหอยแครงเป็นประจำทุกเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้หอยแครงที่เลี้ยงมีความหนาแน่นเกินไปและมีการทับถมกันซึ่งอาจทำให้หอยแครงตายหรือเจริญเติบโตช้า วิธีตรวจสอบโดยใช้โพงหรือชะเนาะตักขึ้นมาดูว่ามีตัวตายมากน้อยเพียงใด ตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นประจำ เปลี่ยนถ่ายน้ำ 1-2 ครั้ง ต่อเดือน

ขั้นตอนการเพาะสาหร่าย

และมีการตรวจดูศัตรูหอยแครงที่มีในบ่อ เช่น ปลาดาว หอยหมู หอยตะกาย ที่เป็นศัตรูทางตรงเจาะกินหอยแครงเป็นอาหาร หรือหอยกะพง หอยกะพัง ที่เป็นศัตรูทางอ้อมที่คอยแย่งอาหารหอยแครง การเลี้ยงหอยแครงจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี 2 เดือน ให้ได้ขนาดตามความต้องการของตลาด ประมาณ 80-120 ตัวต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เลี้ยงสั้นหรือยาวขึ้นกับขนาดที่นำมาหว่านเลี้ยงและขนาดที่ขายตามความต้องการท้องตลาด

เนื่องจากในบ่อดินมีข้อจำกัดกระแสลมและกระแสน้ำในการหมุนเวียน จึงติดตั้งกังหันตีน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ช่วยในการหมุนเวียนของน้ำในบ่อและเพื่อกระจายสารอาหารให้ทั่วบ่อ นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำเข้าออกบ่อเลี้ยงได้ ปริมาณสารอาหารในบ่อที่ไม่เพียงพอจึงเป็นข้อจำกัดอีกด้วย จึงควรเพาะขยายแพลงก์ตอนพืชลงในบ่อเพื่อเป็นแหล่งอาหารหอยแครงหรือการใส่ปุ๋ยในบ่อเพื่อให้แพลงก์ตอนใช้เป็นอาหารเพื่อการสังเคราะห์แสงในการเจริญเติบโต สำหรับบ่อดินของคุณวรเดช ได้ติดตั้งกังหันตีน้ำชนิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell system) ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด ไม่เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายเพาะเลี้ยงชายฝั่งสนใจเลี้ยงแพลงก์ตอนเป็นอาหารเลี้ยงหอยแครง

ระหว่างการเลี้ยงมีการเปิดน้ำเข้าในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด (ขึ้น 15 ค่ำ) ในช่วงเวลา 1-4 เดือน ทำการตรวจเช็กขนาดของลูกหอยแครงที่ปล่อยเป็นระยะๆ (เดือนละครั้ง) ทำการชั่งน้ำหนักและวัดขนาดของลูกหอยแครง หลังจากเดือนที่ 4-6 ต้องขยายพื้นที่เลี้ยงด้วยการคราดหอยออกบางส่วนไปปล่อยแปลงอื่นเพื่อให้หอยโตเร็วขึ้น เป็นการลดความหนาแน่นของหอยแครงในบ่อ จะช่วยให้หอยเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยแครงมี 2 วิธี คือ การเก็บเกี่ยวด้วยมือ และการใช้เรือที่มีเครื่องมือคล้ายคราด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “โพง หรือชะเนาะ” สำหรับคราดหอยแครงโดยใช้เรือช่วยลาก สามารถเก็บหอยแครงได้เร็วขึ้น ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวนำมาทำความสะอาดและนำไปส่งขายตลาดทั่วไป คุณ   วรเดชได้นำผลผลิตส่งขายแพรับซื้อหอยแครงภายในตำบลคลองโคนและบางส่วนส่งขายร้านอาหารเจ้าประจำ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อดีของการเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดและใช้แพลงก์ตอนเป็นแหล่งอาหารพบว่า ช่วยประหยัดต้นทุน ดูแลจัดการง่าย มีภาวะเสี่ยงน้อยกว่าการเลี้ยงหอยแครงในระบบเปิด แต่ผลผลิตต่อพื้นที่ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

หอยแครงที่ให้แพลงก์ตอนเป็นอาหารในระบบปิด เติบโตดี ขนาดตัวใหญ่
หอยแครง สัตว์น้ำเศรษฐกิจ

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354