ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยองค์ความรู้เรื่อง “คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตฟ้าทะลายโจร” เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจนำไปปรับใช้ผลิตฟ้าทะลายโจร ให้ได้ผลผลิตที่่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ภายในคู่มือประกอบด้วย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ฟ้าทะลายโจร สารสำคัญในฟ้าทะลายโจร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืช
1. โรคพืชสำคัญของฟ้าทะลายโจร
โดยทั่วไป ต้นฟ้าทะลายโจรที่มีอายุ 2-3 เดือน ไม่ค่อยพบการระบาดของโรค แต่จะพบโรคมากในช่วงออกดอกจนถึงติดฝัก ซึ่งเป็นโรคที่พบมาก มีดังนี้
1.1 โรคโคนเน่าและรากเน่า
เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Phytohpthora sp. ลักษณะอาการ ต้นเริ่มเหี่ยว เหลือง ใบร่วง โคนต้นมีอาการเน่าและต้นตาย มักพบการแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม แนวทางป้องกันกำจัดโรค ต้องใช้เชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma harzianum อัตราตามคำแนะนำหรือหากรุนแรงมากให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราเมทาแลกซิล ราดตามคำแนะนำในฉลาก
1.2 โรคแอนแทรกโนส
เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. ลักษณะอาการ ใบของฟ้าทะลายโจรจะมีจุดแผลแห้งเล็กๆ สีน้ำตาลและขยายเป็นงวงซ้อนกันเป็นชั้น การป้องกันกำจัด เมื่อพบให้ถอนทิ้งและโรยปูนขาวป้องกันการแพร่ระบาด และใช้เชื้อรา บาซิลลัส ซับทิลิส (บีเอส) ฉีดพ่นในอัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือหากรุนแรงมากให้ใช้สารกำจัดเชื้อแมนโคเซป หรือไธอะเบนดาโซล ฉีดพ่นตามคำแนะนำในฉลาก
1.3 โรคที่่เกิดจากเชื้อไวรัส
ลักษณะอาการ ต้นฟ้าทะลายโจรจะมีใบสีเหลืองซีดเป็นกลุ่มๆ ต้นจะไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น เป็นต้น การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจแปลง ถ้าพบต้นที่แสดงอาการเป็นโรคให้ถอนทำลายหรือเผาทิ้งทันที เพื่อกำจัดแหล่งสะสมของไวรัส
2. แมลงศัตรูพืช
2.1 หนอนเจาะสมอฝ้าย
การเข้าทำลาย ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวตามส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ใบ ก้านใบ และยอดอ่อน หนอนวัยแรกจะกัดกินทำลายต้นอ่อน การป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดของหนอนเจาะสมอฝ้ายที่ความเสียหายระดับเศรษฐกิจ คือพบหนอนมากกว่า 1 ตัวต่อ 2 ต้น หรือไข่มากกว่า 1 ฟองต่อต้น ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อไวรัสนิวเคลียโพลีฮีโดรซีส อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หยุดพ่น 1 วันก่อนเก็บเกี่ยว หรือใช้สารคลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หยุดฉีดพ่นสาร 7 วันก่อนเก็บเกี่ยว
2.2 หนอนกระทู้หอม
การเข้าทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสือกลางคืน วางไข่เป็นกลุ่มสีน้ำตาล คล้ายฟางข้าว กัดกินทุกส่วนของพืช ทำลายได้รวดเร็ว หนอนจะเข้าดักแด้ในดิน การป้องกันกำจัด หากเป็นระยะที่ไม่รุนแรง ให้ใช้เชื้อบีที Bacillus thuringiensis subsp. aizawai หรือเชื้อ Bacillus thuringiensis subsp.Kurstaki อัตรา 60-80 กรัมต่อ 20 ลิตร หรือใช้สารธรรมชาติ ได้แก่ เมล็ดสะเดา ฉีดพ่นในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออาจปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช เช่น แมลงช้างปีกใส และด้วงเต่า ตัวห้ำ
เมื่อพบการระบาดของหนอนกระทู้หอม ที่ความเสียหายระดับเศรษฐกิจ คือพบหนอนมากกว่า 1 ตัวต่อ 2 ต้น หรือกลุ่มไข่มากกว่า 1 กลุ่มต่อ 2 ต้น ฉีดพ่นด้วยเชื้อไวรัสนิวเคลียโพลี ฮีโดรซีส อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หยุดฉีดพ่น 1 วันก่อนเก็บเกี่่ยว หรือสารคลอร์ฟลู อาซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หยุดฉีดพ่นสาร 7-8 วันก่อนเก็บเกี่่ยว
2.3 เพลี้ยหอย และเพลี้ยอ่อน
การป้องกันกำจัด โดยฉีดพ่นสารสกัดสะเดา หรือไวท์ออยล์
3. วัชพืช
วัชพืชที่พบมากมี 3 ประเภท คือ
3.1 ประเภทใบแคบ หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้าปากควาย หญ้าแพรก หญ้าไผ่
3.2 ประเภทใบกว้าง ได้แก่ หญ้ายาง ผักปราบ หญ้าเขมร สาบแร้งสาบกา ผักกะสัง ผักโขมหนาม ผักเสี้ยนผี ผักโขม ลูกใต้ใบ น้ำนมราชสีห์ หูปลาช่อน เงี่ยงป่า ตำแย บานไม่รู้โรยป่า หญ้าละออง สะอึก ปอวัชพืช มะระขี้นก
3.3 ประเภทกก แห้วหมู กกดอกเขียว ตะกรับ
การป้องกันกำจัดวัชพืช มี 2 วิธี คือ
วิธีเขตกรรม :
1. ไถเตรียมดินก่อนปลูก อาจทำการไถ 1-2 ครั้ง ครั้งแรกไถกลบกำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่ ตากดินทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ทำการไถหรือคราด ครั้งที่สอง เพื่อกำจัดต้นอ่อนวัชพืชที่งอกขึ้นมาหลังการไถครั้งแรก จากนั้นจึงปลูกพืชทันทีเพื่อช่วยลดปริมาณวัชพืชได้ระดับหนึ่ง
2. ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น การใช้ฟางข้าว เปลือกถั่ว เศษพืชและแกลบ เป็นต้น คลุมดินทันทีหลังปลูกพืช จะช่วยควบคุมวัชพืชบางชนิดและช่วยรักษาความชื้นในดิน
วิธีกล : การใช้แรงงานหรือเครื่องมือกล การใช้มือถอนหรือใช้จอบถาก อาจทำ 1-2 ครั้ง ในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะวัชพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยหัวหรือเหง้า เช่น แห้วหมู ควรเก็บออกให้มากที่สุด หากพบวัชพืชในแปลงเพาะเมล็ดหรือแปลงปลูกแบบหว่าน ให้กำจัดโดยใช้มือถอน ส่วนในแปลงปลูกแบบโรยเป็นแถว แบบหยอดหลุมและแบบปลูกด้วยต้นกล้า ซึ่่งมีระยะปลูกใช้การถอนหรือใช้เครื่องมือช่วย ควรทำการพรวนดินเข้าโคนต้นไปพร้อมกัน
แหล่งที่มา : ข้อมูลและภาพประกอบ จากเอกสาร “คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตฟ้าทะลายโจร” สิงหาคม 2564 กรมวิชาการเกษตร