พริกในไร่พริก กับกระบวนการออร์แกนิกโดยธรรมชาติ

จนถึงปัจจุบันนี้ คงเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ ว่า “พริก” (Chilli) นั้น ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของดินแดนแถบนี้ มันมาจากทวีปอเมริกา แพร่เข้ามากับเรือสำเภาค้าขายทางไกลในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 และเป็นที่นิยมนำมาปรุงแต่งรสเผ็ดร้อนในอาหารอย่างรวดเร็ว เพราะขึ้นง่าย ดูแลรักษาไม่ยาก จนชั่วเวลาไม่ถึง 2 ศตวรรษ มันก็เบียดขับ “ของเผ็ด” เดิมๆ อย่าง ดีปลี พริกไทย มะแขว่น ตกขบวนไปหมด แล้วก็เสนอตัวเข้ามาเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารไทยและเพื่อนบ้านชาวอุษาคเนย์อย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน

ผมพูดราวกับว่าพริกมีชีวิต ที่จริงไม่ใช่หรอกครับ เกือบทั้งหมดของความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งมวลในโลกล้วนมาจากคน ในกรณีของพริก มันถูกทดลองเอาไปทำนู่นนี่นั่น ถูกกำหนดราคาสูงต่ำตามคุณภาพของพันธุ์ที่นิยมกันว่าอร่อย แถมยังมีการดัดแปลงปรับปรุงให้มีระดับความเผ็ด เนื้อสัมผัส ความเลื่อมมันของผิว ฯลฯ รองรับวัฒนธรรมอาหารเมืองที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

กิจกรรมอย่างหลัง ที่เรียกร้องความสมบูรณ์สวยงามของพริก นำมาซึ่งการระวังป้องกันต้นพริกในไร่จากแมลงและโรคพืช ด้วยมาตรการต่างๆ จนในที่สุดก็มาถึงการฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งย่อมมีรายจ่ายและผลลบต่อคุณภาพของพริกในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อมองจากกรอบของพืชผักอินทรีย์ (Organic) นั่นก็คือ ความเสี่ยงที่จะพลอยได้รับสารพิษตกค้างจากการกินพริก ทำให้สะสมในร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดโรคความเสื่อมสภาพ เช่น โรคไต เบาหวาน หรือมะเร็ง ง่ายขึ้นนั่นเอง

จากการแถลงผลการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ โดยองค์กร Thai-PAN เครือข่ายหน่วยงานเฝ้าระวังและเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่า พริกแดง ครองตำแหน่งอันตรายสูงสุด เพราะในการสุ่มตรวจพริกแดง จำนวน 138 ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ระหว่าง วันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559 ได้พบสารพิษในพริกแดงครบทุกตัวอย่างที่เก็บมาเลยทีเดียว

1466057721

ตัวเลขนี้เป็นที่เข้าใจได้…หลายปีมาแล้ว ผมเคยไปสังเกตการณ์การทำไร่พริกของชาวบ้านแถบนครสวรรค์ พวกเขาปลูกพริกขี้หนูเม็ดยาวพันธุ์ผสม ชื่อว่า พันธุ์ Champion Hot ภายใต้ความควบคุมของพ่อค้าคนกลางที่อิงอยู่กับกลไกตลาดส่วนกลางอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ว่าจะต้องปลูกพันธุ์ไหนที่นิยมในขณะนั้น ต้องใช้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่พ่อค้าเอามาขาย ใส่ปุ๋ย ฉีดยา ตามกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลผลิตสมบูรณ์ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้

ตอนนั้น พวกเราถามว่า ฉีดยาฆ่าแมลงนี่ต้องฉีดบ่อยไหม

“อาทิตย์ละครั้ง” เขาว่า “กลิ่นยามันหอมชื่นใจชาวไร่พริกเลยล่ะ” จำได้ว่าเขาหัวเราะขื่นๆ แล้วบอกว่า “สูดอยู่ทุกวัน มันก็สะสมอยู่ในร่างกายนี่แหละ ไม่ไปไหนหรอก มีหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจที่สถานีอนามัย เขาเกณฑ์ลูกบ้านไปตรวจสารพิษในร่างกายกัน โอ้โห! มีหมดทุกคนเลย จะมากจะน้อยเท่านั้น”

1466057698

ผมจำได้ว่า ใครคนหนึ่ง (สงสัยจะเป็นผมเอง?) ถามคำถามโง่ๆ ออกไป ทำนองว่า ไม่กลัวสารพิษสะสมในร่างกายกันเหรอ

“ก็แล้วจะทำไงล่ะ?” คือคำตอบ หลังจากนั้นผมก็ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ถึงการต้องยอมรับสภาพถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ระบบเอาของไปก่อนจ่ายเงินทีหลัง แถมจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงโดยอ้างลอยๆ ว่าตลาดรับซื้อถูกกว่าปกติ ไหนจะราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ที่สูงขึ้นๆ ฯลฯ มาได้ยินเอาก็ประโยคสุดท้าย ที่ว่า

“ปลูกพริกนี่ยิ่งทำยิ่งจน บอกตรงๆ เลย”

เกือบ 10 ปีผ่านไป ผมรู้มาว่า พื้นที่แถบนั้นปลูกพริกน้อยลงแล้ว ชาวบ้านหันไปปลูกแคนตาลูป เมล่อน มันสำปะหลัง แต่ก็ในเงื่อนไขเดิม คือทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา แผ่นผ้าพลาสติก ระบบน้ำหยด ตลอดจนการส่งขาย อยู่ในกำกับของพ่อค้าคนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ

จะว่าไปมันก็แปลก เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ผมก็ได้ไปดูไร่พริกแถบสมุทรสาครด้วย แต่เป็นไร่ที่พวกเจ้าของต่างปฏิเสธการปลูกและดูแลด้วยวิธีทางเคมี จึงพยายามรวมกลุ่มกันปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง แล้วคิดหาหนทางเอาไปจำหน่ายที่ตลาด โดยว่าจ้างเหมารถกันเอง เก็บเมล็ดพันธุ์ คัดกรองสายพันธุ์กันเองแทบทั้งหมด

ประสบการณ์ที่แตกต่าง 2 เรื่องนี้ ทำให้ผมแปลกใจว่า ทำไมความเป็นไปได้ในการต่อสู้หาทางออกที่ดีกว่าของชาวไร่พริกแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน

ชะรอยจิตวิญญาณ (spirit) ของชาว “บางช้างสวนนอก” ยังคงรุนแรงสืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา?

1466057760

ผมมาลองนึกถึงการปลูกพริกแบบอื่นๆ ที่เราจะไม่ต้องเสี่ยงกินสารเคมีแถมไปด้วย ก็จำได้ว่า ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี มีปลูกพริกกะเหรี่ยงกันมาก ที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือและยางน้ำกลัดใต้ คนกะเหรี่ยงแถบนั้นปลูกพริกไว้ตามเชิงเขาและเนินดินย่อมๆ แซมในแปลงข้าวไร่ ด้วยวิธีแบบให้เทวดาเลี้ยงจริงๆ คือไม่ต้องดูแล ไม่ว่าจะน้ำ ปุ๋ยเคมี และยาฉีดพ่น เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว

“พริกกะเหรี่ยงจะกลายพันธุ์ รสชาติจะไม่เหมือนเดิม แม่ค้าจะไม่รับซื้อเลย เพราะเขาดูรู้”

คนกะเหรี่ยงยังบอกอีกว่า การปลูกแซมในไร่ข้าวนี้ ทำให้ได้ผลผลิตดีกว่าปลูกแต่พริกอย่างเดียว ต้นก็แข็งแรงด้วย โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน อันเป็นช่วงก่อนหมดฤดูกาล พวกเขาจะมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในรอบปีถัดไป

นอกจากไร่พริกกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง ผมเคยได้ยินชื่อบ้าน “หุบพริก” บ้าง “เขาพริก” บ้าง ในหลายๆ แห่ง นั่นคงแสดงว่ามันเคยเป็นแหล่งพริกธรรมชาติมาแต่เดิม ดังที่ผมเคยทราบจากกลุ่มคนเก็บผักป่าผักทุ่งแถบอำเภอวังน้ำเขียว ว่าที่ไปตระเวนเก็บๆ กันนั้น พวกเขาเก็บได้พริกด้วย เป็นต้นพริกที่ขึ้นเองตามโคกตามดอนที่แห้งแล้ง พริกพวกนี้กลิ่นฉุน รสเผ็ดจัด ทำกับข้าวได้อร่อย

มันทำให้ผมนึกถึงสภาพดิน น้ำ อากาศ ตาม 2 ข้างทางหลวงชนบทหลายสาย ที่ผมเคยเก็บกะเพราป่าฉุนๆ มาผัดกินได้อร่อยเหนือพ้นคำบรรยาย ระยะหลัง ผมเลยชอบพกเอาเมล็ดพืชติดตัวไปด้วย พอเล็งเห็นที่เหมาะๆ พวกเมล็ดบวบ น้ำเต้า ถั่วพู ถั่วแปบ จะถูกแกะจากซอง หว่านโปรยเข้าไปในพงหญ้าข้างทาง ด้วยหวังว่ามันอาจเติบโตขึ้น แข็งแรง ให้ดอกผลฝักใบเป็นผักหญ้าผลาหารไม่แก่คนก็สัตว์ได้บ้าง

ครั้งต่อไป และต่อๆ ไป ผมคิดว่าจะเอาเมล็ดพริกกะเหรี่ยงไปด้วย…มันต้องมีวิธีอื่นๆ บ้างสิ ที่จะหาพริกอินทรีย์กินแบบสบายใจ แถมยังรสชาติดี เผ็ดฉุนหอมตามธรรมชาติ

 

ใช่แล้วครับ…ผมคิดว่า ถ้าจะมีใครสักคนที่สามารถสร้าง “หุบพริก” ขึ้นมาได้อีกครั้ง ก็คงจะเป็น “ธรรมชาติ” นั่นเองครับ…