สิงหโมรา จาก “สิงหไกรภพ” จบที่ “นางโมรา” แต่มา ใน “แคปซูล”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyrtosperma johnstonii N.E. Br.

ชื่อวงศ์ ARACEAE

ชื่ออื่นๆ ว่านสิงหโมรา (ทั่วไป) ผักหนามฝรั่ง (กรุงเทพฯ)

ฉันไม่รู้ว่าจะแทนตัวฉันอย่างไรดี เพราะชื่อฉันมาจากละครพื้นบ้านและวรรณคดีนิยายก่อนนอน รวมถึงหนังสือการ์ตูน เด็ก ผู้ใหญ่ ก็รู้จักฉัน จะแทนตัวว่า “ปู่” ในนาม “สิงห์” ก็ติดว่ามี “นางโมรา” ห้อยท้าย จะแทนตัวว่า “ย่า ยาย” ก็ไม่ถนัด อีกอย่างฉันเองก็เผลอคิดว่าตัวเองเคยเล่นหนัง “สิงหไกรภพ” ที่ฉายทางทีวี ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 มีพระเอก สุริยา ชินพันธ์ และ ดวงพร เอกศาสตร์ แสดงนำ

รุ่นต่อมาก็ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2547 พอคิดถึง “โมราหลายใจ” ก็ต้องเลยไปถึง “จันทโครพ” นิยายจักรๆ วงศ์ๆ ที่คุณย่าคุณยายนั่งดูจนลืมเคี้ยวหมาก ตั้งแต่เจ้าชายจันทโครพ เปิดผอบเสพสมกับนางโมราได้เป็นชายา แล้วสู้กับโจรป่าจนตัวตาย แต่นางโมราก็ถูกประณามว่าเป็นหญิงมักมากในกาม สุดท้ายถูกสาปกลายเป็นชะนี ร้องโหยหวนเรียกหาผัวกลางป่า เป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบ

ฉันศึกษาเทือกเถาเหล่ากอ พบมีบันทึกว่า ถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะโซโลมอน แล้วมีคนนำฉันเข้ามาเมืองไทย เพื่อปลูกเป็นพืชสมุนไพร และเป็นว่านมงคลป้องกันสิ่งเลวร้าย แต่สิ่งที่ฉันแปลกใจในชื่อฉันอีกอย่างคือ ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงเรียกฉันว่า “ผักหนามฝรั่ง” ฉันเหมือนผักหนามตรงไหน แต่ฉันเคยกินผักหนามดองนะ ฉันภูมิใจที่ฉันมีโอกาสปรากฏตัวในสวนสมุนไพรอภัยภูเบศร ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ใครเห็นก็พูดว่า ก้านใบยาวสวย ชูแผ่นใบเหมือนโบกทักทายคนเข้ามาชมสวนสมุนไพร แต่ละกอก็เขียวสด เห็นแล้วเป็นจุดเด่นในกลุ่มกอว่านทุกกอ ราวกับเป็นนิวาสสถานบ้านเกิดแต่เดิมมา

ฉันเป็นไม้ล้มลุกในกลุ่ม “ว่าน” มีเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นกอใหญ่ โตเต็มที่สูงได้มากกว่า 2-3 เมตร ลำต้นพ้นพื้นดินขึ้นมาเพียงเล็กน้อย หากรดน้ำใหม่ๆ จะเห็นเป็นสีชมพูอ่อนๆ ดูสะอาดตา หรือว่าลำต้น ก้าน ใบ ส่วนนี้หรือเปล่า ที่ว่าคล้ายผักหนามจากหนามขอบก้านใบ แล้วที่แปลกอีกอย่างคือ ฉันมีทั้ง “ตัวผู้และตัวเมีย” ในกลุ่มกอ มิน่าหละ ชื่อฉันจึงมีทั้งสิงห์และโมรา คือว่าถ้าหากเป็นลำต้นสีแดงเรื่อๆ ดูเป็นหัวแข็งๆ นั่นแหละคือสิงหโมราตัวผู้ แต่ถ้าเป็นสีเขียวทั้งต้นก็จะเป็นสิงหโมราตัวเมีย อ้อ..! ถ้า “สิงห์ยาดอง” มาเห็นแล้วนำหัวสีแดงคือตัวผู้ไปดองสุรา ก็จะได้น้ำเหล้ายาดองสีแดงจัดบำรุงพลัง แต่สิงหโมราตัวเมียสีเขียวก็ดองสุราได้เช่นกัน

ฉันเป็นพืชล้มลุกรวมกอประเภทใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกใกล้รากแทงจากหัวใต้ดิน มีก้านใบยาวมากกว่าเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอก หรือคล้ายหัวลูกศร มีจุดประสีเขียว ขาว น้ำตาล หรือชมพู ปลายใบแหลม ขอบใบและหลังใบ ท้องใบเรียบแต่ขอบก้านใบมีหนามทู่ โคนใบเป็นพูยาว กาบใบเป็นรูปเรือ ออกดอกเป็นช่อแท่งกลมยาว แทงออกมาจากกาบใบ มีดอกย่อยส่วนใหญ่เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ หุ้มด้วยใบประดับขนาดใหญ่สีน้ำตาลเป็นกาบหุ้มด้วย เมื่อเจริญเต็มที่จะมีผลสดมีเนื้อหุ้มด้านนอก ส่วนด้านในจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก ใช้ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือแยกเหง้าใต้ดินปลูกได้ดี

สรรพคุณทางสมุนไพรของสิงหโมรา มีทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เป็นทั้งยาโบราณแล้วมาร่วมสมัยกับผลิตภัณท์บรรจุ “แคปซูล” กับเทคโนโลยีปัจจุบัน จึงมีทั้งความเชื่อดั่งเดิมแบบโบราณ และด้านวิจัยวิชาการ ว่ามี Proteolytic enzyme ย่อยเนื้อได้ ทุกส่วนจึงกลายเป็นยาสมุนไพรที่นิยม เช่น ดอกสด นำมาปิ้งไฟห่อด้วยผ้าขาวบาง ดองเหล้าดื่มแก้ริดสีดวงทวาร และช่วยให้สตรีมีประจำเดือนปกติ หรือทั้งต้นดองเหล้าขับน้ำคาวปลา ส่วนหัวใช้ฝนปิดแผลแมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ก้านใบปรุงเป็นยาดูดพิษ กำจัดสารพิษในร่างกาย ก้านใบหั่นเป็นชิ้นเล็กดองเหล้าเป็นยาเจริญอาหารบำรุงโลหิต สรรพคุณโดยทั่วไปช่วยฟอกเลือด ทำให้โลหิตไหลเวียนบำรุงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น มีสารยับยั้งมะเร็ง แก้เบาหวาน บรรเทาอาการปวดเมื่อยร่างกาย ฟื้นฟูไตช่วยฟอกเลือดและให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ต้นและใบมีรสร้อน เหมาะกับสตรีคลอดบุตร และกินเป็นยาแก้โรคอยู่ไฟไม่ได้

ในด้านจิตใจ คนโบราณปลูกเลี้ยงไว้ที่ท่าน้ำ หรือหน้าบ้าน เชื่อว่ามีอำนาจปกป้องขับไล่ภูตผีปีศาจและวิญญาณร้ายไม่ให้มารบกวน โดยเมื่อว่านออกดอกให้นำผ้าขาวบริสุทธิ์มาผูกรอบกระถาง ขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าในกระถาง ควรใช้ดินโคลนหรือเลน และดีที่สุดปลูกในวันพฤหัสฯ รดน้ำเสกด้วยคาถาท่อง “อิติปิโส” หรือ “นะโมพุทธายะ” 3 จบ จะเป็นสมุนไพรไม้ประดับและไม้มงคลประจำบ้าน หนามต้นว่านจะเป็นเครื่องป้องกันภูตภัยได้สารพัด

ได้ยินชื่อฉันว่าเป็นพระเอกนางเอกโบราณ เป็นหนังนิยายปรัมปรา อย่าเพิ่งคิดว่าฉันเป็นเพียงยาต้มหม้อดินโบราณนะ เดี๋ยวนี้คนสมัยใหม่ก็นำฉันมาตากแห้ง อบป้องกันเชื้อราและบรรณจุภัณท์แบบ “แคปซูล” แล้วสั่งทาง “ออนไลน์” เชียวนะ มีให้เลือกทั้งชนิดต้มน้ำดื่ม หรือเลือกกลืนแบบแคปซูล เรียกว่าถ้า “สั่งแล้วส่ง” แบบ Delivery เหมือนกันได้เลยจ้า

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564

……………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354