โรงเรียนบ้านต้นยวน สุราษฎร์ธานี ทำเกษตรผสมผสาน 11 ฐานการเรียนรู้

โรงเรียนบ้านต้นยวน ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้บริการรับนักเรียนเข้าศึกษาในพื้นที่ หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 12 ของตำบลคลองชะอุ่น โดยโรงเรียนก่อตั้งและเปิดรับนักเรียนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2518 เป็นต้นมา โดยประชาชนในหมู่บ้านร่วมกันสร้างขึ้น โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการในระยะเริ่มแรก ในแบบของอาคารเรียนชั่วคราว ขนาดเพียง 7x9 เมตร มุงสังกะสี ฝาไม้ขัดแตะ

ลักษณะของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ มีประชากรประมาณ 2,800 คน โดยครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 12 ประชากร ร้อยละ 100 นับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน ปัจจุบัน ได้ทำการเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6

พื้นที่ทำการเกษตรของโรงเรียนทั้งหมด 8 ไร่ ลักษณะพื้นที่ดินเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกพืช ใช้น้ำฝนและน้ำในสระน้ำ รูปแบบของพื้นที่เกษตร แบ่งเป็นโซนผสมผสานกันมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การปลูกปาล์มน้ำมัน การเพาะเลี้ยงเห็ด การปลูกผักสวนครัว ปลูกกล้วย ปลูกข้าวโพด การเลี้ยงหมู การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน การเลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น

ปี 2550 โรงเรียนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสถานศึกษา โดยเริ่มจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 มีการจัดสร้างศูนย์บ้านพ่อแบบพอเพียงเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ 1 ศูนย์ และเริ่มจัดทำฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน ทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจให้กับผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ต่อมาดำเนินกิจกรรมโครงการอาหารกลางวัน จึงเปรียบเสมือนการมีฐานเรียนรู้ทั้งสิ้น 11 ฐาน เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ให้นักเรียนได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน

ที่ผ่านมา โรงเรียนบ้านต้นยวน ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปฏิรูปที่ดิน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอพนม ในการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้สมาชิกยุวเกษตรกรได้ฝึกปฏิบัติงานเกษตร และดำเนินการจัดกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้ เช่น ให้นักเรียนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงสุกรพื้นเมือง เลี้ยงไก่ไข่ การจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมแนวทางให้กลุ่มยุวเกษตรกรรู้จักการดำเนินชีวิตด้วยการเกษตรแบบธรรมชาติ และเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ซึ่งผลผลิตที่ได้นำเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของกลุ่มยุวเกษตรกร และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสู่การปฏิบัติจริงที่บ้านและขยายผลสู่ชุมชน

การบริหารจัดการของแต่ละฐานการเรียนรู้จะมีการนำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่และนำมาพัฒนาระบบการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม

ฐานการเรียนรู้ที่ 1 การเลี้ยงสุกร มีการเลี้ยงสุกร 2 ประเภท คือ หมูพันธุ์ลาจไวน์ 1 เล้า และพันธุ์พื้นเมือง 1 เล้า จะเน้นการลดต้นทุนด้านอาหารคือ หมูพันธุ์จะกินอาหารที่ผสมเองจากกากปาล์ม ปลาป่น ข้าวโพดบด และผักขม สลับกับอาหารสำเร็จรูป ส่วนหมูพันธุ์พื้นบ้าน กินเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหาร เป็นการลดต้นทุนการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี

ฐานการเรียนรู้ที่ 2 ผักปลอดสารพิษชีวิตยืนยาว มีการจัดทำแปลงผักแบบถาวร จำนวน 36 แปลง มีการปลูกผักหมุนสลับกันตลอดปีการศึกษา ปรับสภาพดินโดยใส่ปุ๋ยที่ได้จากการหมักเศษหญ้าผสมกับมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลหมู และฉีดน้ำหมักชีวภาพจากธนาคารจุลินทรีย์ เช่น น้ำหมักจากกากปาล์มดิบ น้ำหมักสมุนไพรในท้องถิ่น ซึ่งผลผลิตที่ได้จึงเป็นผักปลอดสารพิษ 100% ผักที่ปลูกในแต่ละปี เช่น ผักบุ้ง ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ชะอม

ฐานการเรียนรู้ที่ 3 ธนาคารรีไซเคิล เป็นฐานที่มุ่งเน้นให้กลุ่มยุวเกษตรกรมีความรู้และความเข้าใจของคุณค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ และนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อจำหน่ายหมุนเวียนให้เป็นเงินรายได้เพื่อสะสมเป็นเงินออมในบัญชีของธนาคารขยะ และบัญชีเงินฝากของธนาคารออมสิน เช่น นำเศษผ้า กระดาษ และขวดพลาสติกมาทำเป็นดอกไม้ หลอดกาแฟมาสานตะกร้า กล่องลังมาทำเป็นกล่องทิชชู

ฐานการเรียนรู้ที่ 4 การเลี้ยงไก่ไข่ ทางโรงเรียนมีโรงเรือนไก่ไข่ถาวร 1 โรงเรือน และเลี้ยงไก่ไข่ในแต่ละรุ่น ประมาณ 100-150 ตัว องค์ความรู้เด่นของการเลี้ยงไก่ไข่คือ การผลิตอาหารผสมเลี้ยงไก่จากกากปาล์ม มันสำปะหลัง ดอกดาวเรือง รำหยาบ และทรายหยาบ เมล็ดกระถิน และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ เช่น การลดความเครียดของไก่ด้วยใบกระถิน ถ่ายพยาธิด้วยใบชุมเห็ดเทศ ไข่ไก่จะนำไปจำหน่ายให้กับฐานการเรียนรู้โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน จำหน่ายให้ผู้ปกครอง และนำไปเข้าฐานการเรียนรู้แปรรูปอาหารเป็นไข่เค็มสมุนไพรเตยหอม ส่วนมูลไก่จะนำไปทำปุ๋ยหมักในฐานปุ๋ยหมักชีวภาพ

ฐานการเรียนรู้ที่ 5 การปลูกข้าวไร่ในแปลงผัก เป็นฐานที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้รู้ว่ากว่าที่เราจะได้ข้าวมาบริโภคมันยากลำบากเพียงใด และมีขั้นตอนการผลิตที่หลากหลายขั้นตอน และสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพหลักของคนไทย โดยดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ แบบข้าวไร่หยอดหลุม และแบบปลูกข้าวสลับกับการปลูกผักเพื่อเป็นการหมุนเวียนพืชที่แปลงผัก ซึ่งเป็นการปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่เดิม เป็นการปรับสภาพดินและลดอัตราการเกิดของศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี

ฐานการเรียนรู้ที่ 6 ธนาคารจุลินทรีย์ เป็นฐานที่นำผลผลิตจากฐานอื่นๆ มาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพนำไปใช้ประโยชน์ จำแนกตามชนิดของวัตถุดิบ และจุลินทรีย์ที่นำมาหมักแต่ละถังหมัก เช่น น้ำหมักจากกากปาล์มดิบ นำมากำจัดแมลงในแปลงผัก และน้ำหมักผลไม้นำไปทาจำกัดกลิ่นในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ห้องน้ำ ห้องส้วม และบำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงปลาดุกและน้ำเสียของโรงอาหาร

ฐานการเรียนรู้ที่ 7 การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ทางโรงเรียนดำเนินการขุดบ่อดิน เพื่อเลี้ยงปลาดุก จำนวน 11 บ่อ มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้หลายวิธี เช่น มีการปรับสภาพน้ำก่อนเลี้ยงโดยใช้มูลสัตว์ มีการติดตั้งไฟล่อแมลงเพื่อเป็นอาหารเสริมโปรตีน และผลิตอาหารจากกากปาล์ม ผสมปลาป่น กล้วยน้ำว้าสุก และน้ำหมักชีวภาพ เป็นอาหารเลี้ยงปลาดุก ช่วยลดต้นทุนผลผลิตได้เป็นอย่างดี

ฐานการเรียนรู้ที่ 8 ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นฐานการเรียนรู้ที่เน้นการนำเศษวัสดุจากฐานอื่นมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ คือการนำเอาเศษผักเศษหญ้ามาใส่ในท่อซีเมนต์และเททับด้วยมูลไก่ มูลหมูหมักไว้คอยเกลี่ยสลับบนล่าง เมื่อส่วนผสมเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยหมักก็นำไปใส่ในแปลงผัก เพื่อปรับสภาพดินและเป็นปุ๋ยใส่ในปาล์มน้ำมันของทางโรงเรียนต่อไป

ฐานการเรียนรู้ที่ 9 แปรรูปอาหาร เป็นฐานการเรียนรู้ที่นำผลผลิตที่มีจำนวนมากจำหน่ายไม่หมด เหลือ หรือด้อยคุณภาพมาเพิ่มมูลค่า และถนอมอาหาร เช่น การแปรรูปปลาดุกขนาดเล็กเป็นปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกร้า ไข่ไก่แปรรูปเป็นไก่ไข่เค็มดองสมุนไพร หมูแปรรูปเป็นหมูแดดเดียว อื่นๆ ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการแปรรูปอาหารและการถนอมอาหารเมื่อมีผลผลิตเหลือโดยไม่ทิ้งให้สูญเปล่า

ฐานการเรียนรู้ที่ 10 การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้า ทางโรงเรียนได้รับก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าสำเร็จรูป โดยในแต่ละปีจะได้รับการสนับสนุนก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าสำเร็จรูปจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอพนม ทางโรงเรียนได้จัดสร้างโรงเรือน ขนาด 3×4 เมตร โดยวางก้อนเชื้อเห็ดไว้ในท่อปล่องซีเมนต์แทนชั้นไม้ซึ่งใช้งบประมาณสูงและไม่คงทน

    

ฐานการเรียนรู้ที่ 11 โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน เป็นการจัดการเกี่ยวกับการนำผลผลิตต่างๆ มาจัดทำเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่โครงการจะรับซื้อผลผลิตของฐานการเรียนรู้ต่างๆ มาจัดปรุงเป็นอาหารกลางวันให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารที่เน้นอาหาร สด ถูกหลักอนามัย และมีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นการหมุนเวียนเงินทุนสู่กองทุนหมุนเวียนเพื่อโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน เพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพัฒนาสุขภาพอนามัยของเด็กไทยทุกคน