โมเสส ขุริลัง สร้างเครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน ลดต้นทุนแรงงานถึงครี่ง

เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน เป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ คุณโมเสส ขุริลัง และคณะ และเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2556 ด้านวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นายโมเสส ขุริลัง

คุณโมเสส ขุริลัง อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 9 ถนนชัยภูมิ-นครสวรรค์ ตำบลหนองบัวระเหว อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เจ้าของผลงานกล่าวถึงแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาของการสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า

“ประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังมานานแล้ว วิธีการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ยังต้องใช้แรงงานคนปลูก แม้จะมีการการประดิษฐ์เครื่องปลูกมันสำปะหลัง ทั้งของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ที่จะนำมาใช้ในการปลูกมันสำปะหลังเพื่อทดแทนแรงงานคนได้”

จากมุมมองดังกล่าว จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้น โดยนายโมเลสบอกว่า พอดีใน ปี 2553 ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง เครื่องปลูกอ้อยลักษณะแบบจานผานหมุน จาก วช. เช่นกัน จึงนำเงินรางวัลส่วนหนึ่ง มาเป็นทุนทำการประดิษฐ์ เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนขึ้น

ผลงานการประดิษฐ์เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน เป็นผลสำเร็จในปี 2554

ใช้แรงงานคนปลูก ต้นทุนการผลิต 800 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ เจ้าของผลงานกล่าวอีกว่า จากผลการทดลองใช้ เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน พบว่าช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 400 บาทต่อไร่ จากเดิมใช้แรงงานคนปลูก ต้นทุนการผลิต 800 บาทต่อไร่

“ดังนั้น หากเกษตรกรนำเครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนมาใช้ในการปลูกจะช่วยให้มีเงินเหลือไร่ละ 400 บาท ถ้ารวมกันทั้งประเทศจะเป็นเงินมหาศาล นอกจากนี้ เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน ใช้งานสะดวก การบำรุงรักษาง่าย สามารถกำหนดการทำงานของเครื่องได้ตามที่ต้องการ ทำการปลูกได้ วันละ 12-15 ไร่ ต่อวัน เพียงใช้แรงงานคนเพียงสามคนเท่านั้น” นายโมเลส กล่าว

สำหรับคุณสมบัติ และลักษณะเด่น ของเครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน นายโมเลสให้ข้อมูลว่า เป็นอุปกรณ์พ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ ที่สามารถทำงานได้ 4 ขั้นตอน ในเวลาเดียวกัน คือ พลิกดินขึ้นพร้อมกลบทำให้เป็นสันคู,โรยปุ๋ยเคมี,ตัดต้นมันสำปะหลังให้เป็นท่อน, พร้อมเสียบท่อนพันธุ์มันสำปะหลังลงบนสันคู

นอกจากนี้ยัง สามารถปรับระยะความถี่ห่างของร่อง และระยะความห่างของการเสียบท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง แต่ละท่อนให้มีขนาดความห่างได้ตามที่ต้องการทำให้ประหยัดเวลาในการปลูกและประหยัดแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิตให้ได้มากยิ่งขึ้น

ปลูกได้ วันละ 12-15 ไร่ ต่อวัน

สำหรับในการนำไปใช้งาน มีคำอธิบายว่า ให้นำเครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน ส่วนด้านหน้านำไปเกาะเกี่ยวที่รูสลักแขนยกซ้าย ขวา และแขนกลาง ซึ่งมีอยู่ส่วนด้านหลังของรถแทรกเตอร์ ยกขึ้นหรือวางลงทันทีเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้ขับขี่ ที่มือยู่ด้านนอกรถแทรกเตอร์

ขณะทำการลากเพื่อทำการปลูกมันสำปะหลังชุดจานผานหมุนส่วนด้านหน้าที่ยึดติดส่วนด้านล่างชุดโครงผานชักร่อง จะหมุนพลิกดินขึ้นพร้อมกลบให้เกิดเป็นสันคูขนาดเล็กขึ้น ขณะเดียวกัน ชุดล้อขับซึ่งยึดติดส่วนด้านล่างชุดโครงผานชักร่องอีกด้านหนึ่งหมุนเช่นกัน ทำให้เฟืองที่ยึดติดปลายเพลาล้อหมุนตาม ส่งกำลังผ่านโซ่ขึ้นไปที่ชุดเฟืองรับกำลังหน้าที่ติดตั้งอยู่ด้านบนชุดโครงผานชักร่อง

เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนที่ผลิตออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

ชุดเฟืองหน้าจะหมุนถ่ายกำลัง ไปที่เฟืองที่ยึดติดแกนเพลาส่งกำลังชุดที่ 1 ซึ่งมีเฟือง 3 ตัว ยึดติดอยู่ เฟืองตัวที่ 1 รับกำลังจากเฟืองหน้า เฟืองตัวที่ 2 ถ่ายกำลังไปที่เพลาเกลียวโรยปุ๋ย เฟืองตัวที่ 3 ส่งกำลังไปที่เฟืองรับกำลังชุดที่ 2 มีเฟือง 3 ตัวเช่นกัน ทำหน้าที่รับกำลังและส่งกำลังไปที่เฟืองชุดกล่องป้อนต้นมันสำปะหลัง และส่งกำลังไปที่ชุดเฟืองส่งกำลังอีกชุดหนึ่งที่ยึดติดด้านล่างชุดกล่องป้อนต้นมันสำปะหลัง พร้อมถ่ายกำลังไปที่ชุดเฟือง เสียบท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยเฟืองแต่ละตัวจะมีโซ่เชื่อมโยงหากัน

พร้อมกันนี้ เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน สามารถปรับระยะความถี่ห่างของแนวร่องและระยะความถี่ห่าง ของการเสียบท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ให้มีความห่างของแต่ละท่อนได้ตามที่ต้องการ

ปัจจุบันผลงานสิ่งประดิษฐ์ เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนได้นำไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์แล้ว ได้ทำการผลิตโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบาให้เหมาะกับรถแทรกเตอร์ ที่มีขนาดกำลังของเครื่องยนต์ ตั้งแต่ขนาดกำลังของเครื่องยนต์ 34 แรงม้า ถึง 100 แรงม้า ผลิตให้สามารถนำมาใช้ต่อพ่วงเพื่อทำการลากปลูกมันสำปะหลังได้

เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน นับเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ ที่นำมาใช้เพื่อทดแทนแรงงานคนได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพช่วยลดต้นทุน การผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้เป็นอย่างดี ทำการปลูกได้รวดเร็วขึ้นทันต่อฤดูกาลปลูก เพิ่มผลผลิตอัตราต่อไร่ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรทางด้านจิตใจและร่างกายดีขึ้น

…….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.2564