เปิดตัวอย่าง เทคนิค “ดูแลต้นไม้ไม่ให้ล้ม” แนวทางการใส่ใจให้ไม้ใหญ่อยู่ไปนานๆ

จากเหตุการณ์สลดที่ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่อาคารอัลม่าลิ้งค์บริเวณถนนชิดลมล้มพาดเข้าใส่สายสื่อสารทำให้เสาไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าวล้มลงจำนวน 8 ตัน และล้มทับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รายหนึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา และยังมีผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย

โดยเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ระบุว่า ต้นไม้ดังกล่าวเป็นต้นไม้ในตระกูลต้นไทร มีความสูง 4 เมตร และรากแก้วที่ใช้ยึดลำต้นตายทั้งรากไปจนถึงโคนต้น มีเพียงรากแขนงที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2-4 เซนติเมตร ลึกจากพื้นดิน 50-60 เซนติเมตรเท่านั้น ประกอบกับดินบริเวณดังกล่าวเป็นดินเหียวปนทราย จึงอุ้มน้ำไว้เยอะ เมื่อเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน จึงมีความชื้นสูงมาก ส่งผลให้การยึดตัวของรากไม่แข็งแรง รากไม่ขยายออก เมื่อลำต้นโยกและเกิดฝนตกทำให้รากรับน้ำหนักไม่ไหวจนต้นล้มลงมา

เหตุการณ์ “ต้นไม้ล้ม” กลางเมืองนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หลายคนคงต้องเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าว แม้กระทั่งในต่างประเทศเอง ก็มักมีข่าวมาอยู่บ่อยๆ ว่าเกิดต้นไม้ล้มเข้าใส่ถนนหรือบ้านคน เนื่องจากฝนตกหนักและลมแรง จนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ได้รับบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

อย่างเช่นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ชาวเทลฟอร์ด อังกฤษ กว่า 900 หลังคาเรือนต้องไม่มีไฟฟ้าใช้ไปชั่วขณะ เนื่องจากต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มและพาดไปโดนสายไฟฟ้า ทำให้การไฟฟ้าต้องระงับการจ่ายไฟเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งถึงแม้จะโชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่รถและบ้านเรือนที่อยู่บริเวณนั้นก็ยังได้รับความเสียหายไปด้วย

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่พูดถึงไปทั่วโดยเฉพาะเรื่องของการปลูกต้นไม้ในเมืองว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ล้มและสามารถอยู่ไปได้อย่างยาวนานโดยบทความจากต่างประเทศพูดถึงการปลูกต้นไม้นิมถนนไว้ว่า”น่าเสียดายที่ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ริมถนนนั้นถูกปลูกในพื้นที่จำกัดของการแผ่ขยายของรากทำให้พวกมันมักจะมีสุขภาพดีน้อยกว่าต้นไม้ที่ปลูกในภูมิทัศน์อื่นๆเนื่องจากความเครียดด้านสิ่งแวดล้อม (อย่างเช่น ปริมาณดินน้อย, ดินคุณภาพต่ำ เป็นต้น) ซึ่งทำให้รากไม่สามารถแพร่กระจายได้อย่างสมดุล จนนำไปสู่การสูญเสียรากและต้นไม้ล้มในที่สุด”

คราวนี้เราลองมาดูคำแนะนำจากต่างประเทศสำหรับการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน,ถนน,ทางเดินแบบไม่ให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุ

เริ่มต้นจากบริเวณของสถานที่หรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆที่แต่ละบริเวณก็จะมีลักษณะของดินแตกต่างกันออกไปดังนั้นในการปลูกต้นไม้อาจจะต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือรุกขกรก่อนว่าต้นไม้ดังกล่าวเหมาะสมกับดินที่จะปลูกหรือไม่ หรือมีรูปทรงอย่างไรเมื่อมีขนาดใหญ่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดก็คือ “ราก” เพราะเรียกได้ว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของต้นไม้ รากมีหน้าที่ในการดูดน้ำและสารอาหาร และสำหรับ “รากแก้ว” แล้ว จะเกิดขึ้นเมื่อเมล็ดงอก ทอดลงดิน และช่วยยึดให้ต้นอ่อนตั้งอยู่ได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่รากอื่นๆ จะแตกออกมาภายหลัง ซึ่งเมื่อต้นไม้เริ่มโตขึ้น รากก็เริ่มแผ่ออกด้านข้าง ส่วนความลึกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้นในดิน และส่วนประกอบของดิน รากที่แผ่ออกไปด้านข้างจึงเข้ามามีบทบาทในการยึดเกาะดินไม่ให้ต้นไม้ล้ม

โดยในบทความจากต่างประเทศได้แนะนำวิธีที่จะป้องกันไม่ให้ระบบรากสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งปลูกสร้างหรือเป็นแนวปลอดภัยของการปลูกต้นไม้ให้ต้นไม้มีสุขภาพดีเรียกว่า “โซนป้องกันราก” Protected RootZone (PRZ) หนึ่งในวิธีที่เป็นที่รู้กันดีคือการแผ่กิ่งก้านสาขาของต้นไม้ ซึ่งบริเวณที่โซนป้องกันราก ก็คือแนวกิ่งก้านสาขาที่แผ่ออกไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม รากบางส่วนก็ยังยาวออกไปมากกว่ากิ่งที่ยาวที่สุดเสียอีก ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีขยายพื้นที่โซนป้องกันรากออกไปอีก ด้วยการคำนวณโซนป้องกันรากจากค่า critical root radius โดยคูณเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นที่ความสูงระดับอก (ในหน่วยนิ้ว) เข้ากับ 1 หรือ 1.5 (ใช้ 1.5 เมื่อเป็นต้นไม้แก่มาก หรือต้นไม้ป่วย) นำผลลัพธ์ที่ได้คูณสอง ก็จะออกมาเป็นระยะของโซนป้องกันราก



นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลต้นไม้ขนาดใหญ่ให้อยู่ไปได้นานๆเท่านั้นแต่ยังมีวิธีอื่นๆที่จะช่วยดูแลต้นไม้ใหญ่เหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับผู้ปลูกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ควรจะต้องหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก…

โดย กนกวรรณ มากเมฆ
ประชาชาติฯออนไลน์

ที่มาข้อมูล

http://www.extension.umn.edu/garden/yard-garden/trees-shrubs/protecting-trees-from-construction-damage/

http://takingplaceinthetrees.net/2013/02/25/the-taproot-question-again/