กรมหมอดิน ปลื้มผลงานเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี’64 สูตรความสำเร็จพลิกผืนดินแห้งแล้งสู่แหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพที่ราชบุรี

พื้นที่เกษตรของประเทศไทยมีประมาณ 150 ล้านไร่ ขณะที่ในจำนวนนี้ก็มีบางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร บ้างก็มีปัญหาด้านดินทั้งดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินกรด ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจดูแลทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีบทบาทหลักในการดูแลจัดการทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร ดังนั้นสิ่งแรกที่เราตั้งธงไว้คือทำอย่างไรให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มศักยภาพ ซึ่งก็ต้องทำให้เกษตรกรทราบตัวตนของดินของผืนดินที่เขาใช้ประโยชน์อยู่ โดยกรมฯ มีข้อมูลชุดดินทั้งประเทศ แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน และบริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน เกษตรกรจะรู้ได้ทันทีว่าสภาพของดินเป็นอย่างไร มีระดับความอุดมสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้างหรือเหมาะกับการปลูกพืชชนิดใด เกษตรกรสามารถวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า

ที่สำคัญคือมีผืนดินทำกินสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้พยายามพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ผ่านกลไกหมอดินอาสา ซึ่งเป็นผู้แทนของกรมพัฒนาที่ดินช่วยถ่ายทอดขยายผลภารกิจงานพัฒนาที่ดินทุกแขนงสู่พี่น้องเกษตรกรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

หมอดินอาสากว่า 70,000 คนที่ประจำอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีความรู้ความชำนาญด้านดิน เปรียบกับหมอก็เป็นหมอที่เก่งด้านรักษาดิน ปรับปรุงฟื้นฟูดิน เข้าใจระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ผ่านการสั่งสมความรู้ที่ได้รับจากกรมพัฒนาที่ดิน ผนวกกับประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติเอง จนประสบความสำเร็จสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้คัดเลือกหมอดินอาสาที่มีผลงานโดดเด่นในแต่ละสาขา เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะหมอดินอาสาดีเด่น และถอดบทเรียนจากหมอดินดีเด่นเหล่านี้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้นำไปปรับใช้พัฒนาที่ดินของตนเองให้ดีขึ้นต่อไป


“วิเชียร บุญรอด” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2564 เป็นตัวอย่างความสำเร็จในฐานะหมอดินอาสาประจำตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนและเงาะ ในพื้นที่แห้งแล้งและดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

นายวิเชียร เล่าว่า กว่าจะประสบความสำเร็จจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตนต้องฝ่าฝันอุปสรรคมามากมายจนท้อและเกือบจะหันหลังให้กับอาชีพเกษตรไปแล้ว ซึ่งตั้งแต่เด็กหลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ไม่ได้ศึกษาต่อ ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาเนื่องจากทางครอบครัวมีพี่น้องหลายคนและมีฐานะยากจน จะเห็นมาตลอดว่าการทำนาจะต้องประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ตลอด ทั้งฝนแล้งและทิ้งช่วง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นเช่นนี้ซ้ำๆ ตลอดหลายปี ผลผลิตข้าวที่ได้ก็จำนวนน้อยมากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทำให้ขาดทุนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จนต้องตัดสินใจเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน ทำได้ไม่นานก็เจอปัญหาเหมือนเช่นเคย เป็นวงจรที่ไม่สามารถหลุดพ้นได้


พออายุได้ 18 ปี ได้รับการแบ่งสรรที่ดินจากพ่อแม่ จำนวน 19 ไร่ ได้ปลูกมันสาปะหลังก็ไม่พ้นวงจรเดิมคือปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ไปต่อไม่ไหวจนตัดสินใจปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างแล้วไปค้าขายผลไม้ โดยเดินทางไปซื้อผลไม้ตามฤดูกาลจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรี แล้วนำมาขายที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เมื่อได้เห็นพื้นที่สวนของเกษตรกรที่ไปซื้อผลไม้บ่อยครั้ง

จุดประกายความคิดอยากจะมีสวนผลไม้ในพื้นที่ของตัวเองบ้าง ก็เริ่มหาความรู้จากเกษตรกรในพื้นที่และข้อมูลจากสื่อต่างๆ จนมั่นใจว่าตัวเองมีความรู้มากพอประมาณหนึ่งและตัดสินใจมาทำการเกษตรอีกครั้ง โดยเริ่มบุกเบิกที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรผสมผสาน แบ่งเป็นที่พักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ จำนวน 1 ไร่ 2 งาน ขุดเป็นสระเก็บน้ำ 3 ไร่ ส่วนที่เหลือ 14 ไร่ 2 งาน ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นและพืชผักสวนครัว


“ตอนที่เริ่มกลับมาทำเกษตรผสมผสานศึกษาหาความรู้มาอย่างดีคิดว่ามาถูกทางแล้วแน่ๆ แต่ก็ยังเจออุปสรรคเรื่องดินเสื่อมสภาพ และขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา รู้สึกท้อจนเกือบจะถอดใจอีกครั้ง แต่ในที่สุดได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านของสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับการอบรมเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ พาไปศึกษาดูงานจากหมอดินอาสาที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้ศึกษาเรียนรู้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การขุดคูระบายน้ำ การรสร้างฝายชะลอน้ำแบบง่าย การติดตั้งระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้” นายวิเชียร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ


หลังจากนั้น นายวิเชียร ได้นำความรู้จากการเป็นหมอดินอาสา มาพัฒนาพื้นที่ทำกินพลิกผืนดินแห้งแล้งความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ดินดีและมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สามารถทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก และเลี้ยงสัตว์ เพื่อบริโภคเองและจำหน่ายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะทุเรียน เงาะ และปาล์ม ที่ถือเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้ดีมาก ซึ่งเขาจะเน้นจำหน่ายผลผลิตในพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้แห่งใหม่ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ปัจจุบัน วิเชียร บุญรอด คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นได้หากไม่ล้มเลิกความพยายาม ล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นมาสู้จนมีวันนี้วันที่เขามีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสานเพิ่มขึ้นเป็น 38 ไร่ นอกจากนี้ เขายังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานที่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาเยี่ยมชมแปลงเป็นจำนวนมาก และได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องเกษตรผสมผสานในที่ต่างๆ อีกทั้งยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติและเกียรติคุณจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มากมาย

ผู้สนใจสามารถไปศึกษาเรียนรู้เคล็ดลับความสำเร็จในแบบฉบับ หมอดินวิเชียร บุญรอด ได้ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เบอร์โทรศัพท์ 080 –4595573 , 087 –1565956