ชีวิตลุ่มน้ำปิง เมืองกล้วยไข่ (ตอนแรก) ก่อน-หลัง สร้างเขื่อนยันฮี วิกฤตภัยแล้ง น้ำแห้งเร็วจนหาดทรายผุดขึ้นมาเหมือนน้ำที่อำเภอคลองขลุง

ถ้าหากย้อนอดีตในช่วงชีวิตยังเยาว์วัยของคนเกิดตามลุ่มแม่น้ำปิง ยุคก่อนสร้างเขื่อนยันฮี ราวกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น การเดินทางยังนิยมใช้เรือเป็นพาหนะ ระยะไกลใช้เรือโดยสาร ถ้าข้ามฟากใช้เรือพาย เพราะเหตุยังไม่มีถนนที่ดี หรือสะพานข้ามแม่น้ำก็ยังไม่ได้สร้าง ผู้คนสัญจรยังอาศัยลำน้ำเป็นการไปมาหาสู่โดยเรือเป็นส่วนใหญ่

สมัยที่ถนนพหลโยธิน เส้นทางจากจังหวัดนครสวรรค์ไปจรดจังหวัดกำแพงเพชร มีเพียงถนนลูกรังและไม่สะดวก การเดินทางลำบาก ไม่เป็นที่นิยมกัน จึงมีเรือโดยสารแล่นมาจากนครสวรรค์ กำแพงเพชร หรือที่อำเภอคลองขลุง และจังหวัดใกล้เคียงที่มีแม่น้ำหลายสายทางภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน

.สส.อนันต์ ผลอำนวย ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภา สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ คุณสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมประชุมปรึกษาน้ำแล้ง

เส้นทางแม่น้ำหลายสายดังกล่าวมุ่งไปยังปากน้ำโพ หรือนครสวรรค์ ที่เป็นจังหวัดเศรษฐกิจในยุคนั้น ที่มีการค้าขายกับจังหวัดที่มาจากแม่น้ำ แล้วไปบรรจบพบกันที่ปากน้ำโพ กลายเป็นเมืองสี่แคว จนเกิดต้นน้ำเจ้าพระยา สร้างความเจริญเติบโต มีการค้าขายเกิดขึ้นมากมาย สะท้อนให้เห็นว่า วิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำหลายสายคงไม่แตกต่างกัน อำเภอใครที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำ ย่อมได้เปรียบทั้งการค้าขายและการเกษตรกรรม ที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่ทำมาหากินกัน

และได้เห็นความแตกต่างกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำที่กล่าวมานั้น โดยเฉพาะจะกล่าวถึงลำน้ำแม่ปิง ที่ใสสะอาด ไม่สกปรก หรือเน่าเหม็น หรือมีน้ำเสียจากโรงงานแต่ประการใด เรียกว่าเอามาอุปโภคบริโภคดื่มกินที่ปลอดภัย ว่างั้นเถอะ

การหมุนเวียนตามฤดูกาลทางธรรมชาติของแม่น้ำที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน จะเกิดการน้ำท่วม น้ำลด น้ำแห้ง ไปตามฤดูฝนที่ตกลงมา บวกกับน้ำป่าตามแหล่งเขาที่รับน้ำไม่ไหว ก็จะพัดพาเอามวลน้ำป่าไหลทะลักท่วมบ้านเรือน ท้องทุ่งนามีประจำทุกปี เหมือนเป็นวัฏจักรอย่างนั้นเชียว คนท้องที่รู้ดี

คณะกรรมาธิการกิจการสภา ล้วนห่วงใยลำน้ำปิงจะแห้งแล้วนัดประชุมถกปัญหากับผู้เกี่ยวข้องทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง

เหตุผลเพราะยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนเหนือแม่น้ำที่ถูกกักเก็บน้ำไว้ไม่ให้ไปท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน จนถึงนาข้าว พืชสวนไร่นาทำนองนั้น ต่างประสบปัญหาจนชาชิน

เมื่อผู้เขียนเป็นชาวเมืองกำแพงเพชร ถิ่นกล้วยไข่ที่คนรู้จักกันทั่วประเทศ เกิดริมแม่น้ำปิง คลองขลุง ยังเห็นและจำลองเหตุการณ์ในสมัยยุค 70 ปีที่ผ่านมาได้อย่างแม่นยำเลยทีเดียว

ตามสัญชาตญาณคนริมฝั่งว่ายน้ำเป็นโดยไม่มีใครสอน ตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ เกือบจะมอดม้วยเพราะน้ำในแม่น้ำก็หลายครั้ง ได้ทันเห็นเหตุการณ์สถานการณ์จากน้ำท่วม น้ำลด และน้ำแห้ง ก่อนปี 2506-2507 หลังจากสร้างเขื่อนยันฮี หรือเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก สร้างใช้งานได้แล้ววิถีชีวิตของคนอยู่ใต้เขื่อนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

เพราะน้ำไม่ท่วมแล้ว เขื่อนจะปล่อยและเก็บกักน้ำไม่ให้น้ำแห้งที่ใต้เขื่อนลงมา ปริมาณน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนถูกเก็บไว้เพียงพอ ว่างั้นเถอะ หากน้ำใต้เขื่อนลดลงก็จะปล่อยน้ำในเขื่อนออกมา

จึงขอย้อนวิถีชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำแม่ปิงก่อนมีเขื่อนมาเล่าให้คนรุ่นหลัง หรือคนพื้นที่อำเภอคลองขลุง ที่ผู้เขียนเล่นน้ำ ว่ายน้ำมาแต่เด็ก หากเป็นสมัยนี้ แชมป์ว่ายน้ำสระน้ำที่โรงเรียนหรือแข่งขันกีฬา มาเจอสายน้ำแม่ปิงไหลเชี่ยว หรือหากมาว่ายแข่งกับพวกเราในวัย 8-10 ขวบ เชื่อว่าสู้พวกเราไม่ได้แน่นอน เพราะเขาหัดว่ายในบ่อหรือสระน้ำนิ่งนะสิ ต่างกัน

ตอนปลายปี หรือธันวาคม 2563 แม่น้ำปิงเมืองกล้วยไข่เกิดวิกฤตน้ำแห้งเร็วผิดปกติ สงสัยน้ำในเขื่อนยันฮีคงไม่มีน้ำเก็บไว้เพียงพอปริมาณ น้ำฝนคงตกลงมาน้อยติดต่อมาหลายปี ตามฤดูกาลฝนตก

อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้รับผลกระทบน้ำแห้งเร็วจนผู้แทนราษฎรในจังหวัดร้อนรุ่ม เกรงประชาชนเดือดร้อน หาน้ำมาบริโภคอุปโภคไม่ได้ จึงได้มีการหารือมาประชุมยังที่ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับคณะกรรมาธิการกิจการสภา จากรัฐสภา ผู้แทนราษฎร หัวหน้าส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานเรื่องน้ำชลประทาน

ผลการแก้ไขในวงประชุมเมื่อปลายปี 2563 คงจะมาสรุปให้อ่านตอนจบ

แต่ตอนนี้จะนำเรื่องราววิถีชีวิตของชาวลุ่มลำน้ำแม่ปิงที่มีอยู่ในตามริมน้ำอยู่ทั้งหมด 3 อำเภอ กล่าวคือ อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอขาณุวรลักษบุรี หรือชื่อเดิม “แสนตอ” ส่วนอำเภอพรานกระต่าย ไม่ติดริมน้ำ

เรื่องราวอำเภอคลองขลุง คนรุ่นเก่าเล่าว่า เดิมเป็นชื่อคลองโขลง เพราะสมัยหลายร้อยปี มีช้างป่าฝูงใหญ่มาเป็นโขลงลงมาเล่นน้ำในคลอง ที่ปากคลองมาบรรจบเชื่อมกับแม่น้ำปิง

นอกจากมีโขลงช้างแล้ว คลองโขลง ยังมีปลาชุกชุม และมีจระเข้อาศัยตามลำคลองอีกมากมาย เพราะลำน้ำต้นคลองอยู่ในเขตภูเขาลึกเลยไปเหนือตำบลวังไทร ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ทอดยาวไปหลายกิโลเมตร

สมัยยังเด็ก บิดาผู้เขียนยังยิงจระเข้ ลำตัวขนาดเกือบ 2 เมตร ที่ริมน้ำปิงหน้าวัดอำเภอ แล้วนำมาสตัฟฟ์ไว้ ยังทันได้เห็นซากมันเมื่อเติบโตขึ้นมา คงมีเค้าโครงจริงแน่เลย

ด้วยความมีลำคลองไว้อาบน้ำ เชื่อมกับลำน้ำปิงในฤดูน้ำลด จะมีลูกมะกอกลอยน้ำมาให้ว่ายไปเก็บกินกัน

วิถีชีวิตของชาวคลองขลุง ได้มองเห็นของคนที่อาศัยลำน้ำ ลำคลองตามธรรมชาติหมุนเวียนไปตามวัฏจักรของฤดูกาลเปลี่ยนแปลงของลำน้ำปิง ที่มีน้ำหลาก หรือน้ำท่วม น้ำลด แต่ยังไม่มีหาด และน้ำแห้งที่มีหาดทรายผุดขึ้นมาบนผิวน้ำปิง ปกคลุมด้วยหาดทรายอันกว้างใหญ่ไพศาล ดุจดังทะเลทราย เป็นที่ของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้อ่านหรือคนรุ่นหลังที่เกิดมาไม่ทันได้เห็นวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่า

อดีตการล่องแพซุงไม้สักชักลากลงแม่น้ำปิงของพ่อค้าไม้ภาคเหนือมาปักหลักหยุดพักที่คลองขลุง ปลายทางคือปากน้ำโพ

ในรอบ 1 ปี สมัยผู้เขียนเป็นเด็กริมน้ำปิง และอาบน้ำปิงมาแต่ยังเด็ก เห็นสภาพลำน้ำแม่ปิงตั้งแต่ฤดูน้ำหลาก น้ำลด และจนน้ำแห้ง เป็นวัฏจักร ตั้งแต่เล็กจนโต ก่อนจะสร้างเขื่อนยันฮี

กล่าวถึงฤดูน้ำหลากจากฤดูฝนตก แต่น้ำจะเริ่มมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ลำน้ำปิงจะไหลหลากมาตั้งแต่ต้นน้ำ มีสีน้ำขุ่น ฟองน้ำไหลเอ่อท่วมตลิ่ง ตามลำดับความสูงต่ำของระดับไม่เท่ากัน แม่น้ำพัดพาสิ่งปฏิกูลมาด้วย การไหลเชี่ยวของแม่น้ำน่ากลัว ไม่มีใครกล้าไปว่ายน้ำออกจากฝั่งไกล

อาชีพค้าไม้สมัยมีป่าไม้จำนวนมากในภาคเหนือ ธุรกิจค้าไม้รุ่งเรือง มีพ่อค้าไม้ร่ำรวยจากการค้าไม้หลายจังหวัดในภาคเหนือเรียกกันว่า “พ่อเลี้ยง” ที่ทรงอิทธิพล มีทั้งรถยนต์ ช้าง เรือ

ยุคป่าไม้เฟื่องฟู การล่องแพซุงไม้เพื่อให้เรือชักลากมาจากการรวมหมอนไม้ ก่อนน้ำจะลดลงจากการไหลเชี่ยวจะเกิดอันตราย แพซุงอาจจะแตกได้

ที่อำเภอคลองขลุง ชาวบ้านตระเตรียมเพื่อป้องกันน้ำท่วมกลับมาอีกในทุกปี ทั้งน้ำป่าที่ไหลบ่าจากด้านตะวันตก เกิดจากน้ำท่วมฝนตก ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงทางลำคลองและบนพื้นดินผ่านเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านจนท่วมล้นปรี่เลยทีเดียว

จนกว่าน้ำจะเริ่มลดลง การละเล่นในภาวะน้ำท่วมบ้านมีทั้งพายเรือ ว่ายน้ำในท้องตลาด และที่อำเภอ ระดับน้ำจะไม่ลึก หรือเป็นอันตราย ต่างจากไปเล่นแม่น้ำลำคลองที่มีความลึกระดับน้ำ จะรอจนกว่าระดับน้ำจะลดลง

ระดับน้ำลดของลำน้ำแม่ปิง จังหวัดกำแพงเพชร ยังพอให้ปริมาณยังเหลืออยู่ (ธันวาคม 2563)

พอเข้าสู่เดือนตุลาคมปลายเดือน ถึงเดือนธันวาคม กระแสน้ำเริ่มลดระดับ น้ำป่าหมดไป ตามทุ่งนาจะมีบ่อน้ำและสระน้ำที่ถูกน้ำท่วม น้ำป่าเคยพัดพาเอากุ้ง หอย ปู ปลา มากับน้ำช่วงน้ำป่าไหลมา ทำให้เกิดมีปลาชุกชุม ตั้งแต่น้ำไหลบ่าจนมีการตกเบ็ดหาปลากันบนท้องนาข้าว มีทั้งปลาดุก ปลาหมอ ชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายปลา

ครั้นน้ำลดลง ปลาที่มาจากสายน้ำก็จะอยู่ตามแอ่งน้ำ บ่อ บึง ตามธรรมชาติ ให้คนไปตกเบ็ดหรือจับปลาทอดแหได้

ในส่วนของลำน้ำแม่ปิง แพซุงไม้ท่อนที่พ่อค้าไม้ได้ตระเตรียมไว้แล้ว ได้มีการล่องแพซุงลงตามลำน้ำเพื่อนำไปขายไม้ยังจุดหมายนครสวรรค์ และกรุงเทพฯ ของอาชีพค้าไม้

ระหว่างการล่องแพซุงมาตามลำน้ำแม่ปิงจากเหนือผ่านมาตามลำน้ำปิง โดยเรือโยงชักลากจูงแพซุงมาทอดยาวถึงกลางแม่น้ำปิง เพื่อหยุดพักแรมเพื่อมุ่งหน้าสู่ปากน้ำโพหรือนครสวรรค์ บนแพซุงที่มีกระท่อมหรือกระต๊อบ ปลูกเป็นที่พักแรมของคนงานค้าไม้ ที่สร้างขึ้นมาบนแพซุง เพื่อพักอาศัยและเฝ้าดูแลไปด้วย

จุดประสงค์การหยุดค้างที่กลางน้ำแม่ปิงของแพซุงไม้ท่อนยาวมีราคา จะต้องทำการขออนุญาตผ่านด่านป่าไม้คลองขลุง ที่มีพนักงานตรวจตรา การค้าไม้เป็นไปอย่างถูกต้องของธุรกิจค้าขายไม้ทั้งบนบกและทางน้ำก่อน โดยเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาคหลวง หรือเสียภาษีให้รัฐก่อนตามขบวนค้าไม้ตามกฎหมาย

ในระหว่างคอยและปักหลักแพซุงไม้ยาวเป็นแบบคาราวาน มันท้าทายการว่ายน้ำของพวกเราที่มีก๊วนเด็กว่ายน้ำ ทุกเวลาตอนเลิกเรียนหันมาเล่นน้ำที่ท่าแพ ซึ่งมีทั้งลำคลองไหลมาชนกับลำน้ำปิง ช่วงเวลาเย็น เหมาะกับการว่ายน้ำจากท่าแพ ว่ายไปเล่นบนแพซุงที่จอดไว้กลางน้ำ ระยะห่างพอควร ใครว่ายไม่ถึงก็ต้องลอยคอกลับเข้าท่าฝั่งริมตลิ่ง เล่นเอาเหนื่อยจนน้ำลายเหนียวกว่าจะถึงแพซุงที่เราฝันว่าจะวิ่งเล่นบนขอนซุงไม้ให้สนุก

วิถีชีวิตหลังน้ำลดลงในลำคลองขลุง จะมีปลาชุกชุม มีปลากด ปลาช่อน ที่มีนักตกเบ็ดมาล่ากันทุกวัน ปลาช่อนจะชอบกินเหยื่อลูกปลาหมอ ที่นักตกเบ็ดจะไปหามาตามบ่อน้ำ บึง ที่มีอยู่ชุกชุมเพื่อนำเอาปลาหมอมาเป็นเหยื่อปลาช่อน ว่างั้นเถอะ เป็นที่นิยมกันหลังน้ำลดลง

ส่วนลำน้ำปิงที่กว้างกว่าลำคลองมากมาย น้ำยังคงไหลเชี่ยว แต่ไม่อันตรายเท่าน้ำหลากช่วงฤดูของมัน ปลาตัวใหญ่จะอาศัยลำน้ำปิง มีทั้งปลากราย ปลากะโห้ ปลาค้าว ขนาดลำตัวมีน้ำหนักหลายกิโลกรัม ต้องใช้อวนใหญ่ชักลาก เป็นวิธีของการจับปลาของมืออาชีพที่ล่องเรือกลางแม่น้ำ

ครั้นได้ปลามาก็จะมาขายยังตลาด นำมาส่งพ่อค้าแม่ค้า ต้องหั่นตัวปลาเป็นชิ้นมาขายปลีกกันถึงจะขายได้คล่องแก่ผู้บริโภค เป็นวิถีชีวิตของอาชีพจับปลาในช่วงนี้จากลำน้ำปิง พวกบรรดาพรานตกเบ็ดทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น

แม้ว่าผู้เขียนจะเป็นนักตกปลามือสมัครเล่น สมัยยังเรียนหนังสืออยู่บ้านนอกได้โลดเล่นการจับปลากับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน แต่ไม่เคยไปเห็นเขาจับปลาในหมู่กลางแม่น้ำปิง จนปลาดังกล่าวที่เขียนมาให้อ่านนั้น มันน่าจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้วในท้องที่อำเภอคลองขลุง ทำให้นักประมงทั้งหลายเปลี่ยนอาชีพการทำมาหากินกันหมด…แต่ทำไมสุโขทัยจึงมีการจับปลากันอย่างต่อเนื่อง มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง ช่างแตกต่างจากกำแพงเพชร ที่ติดต่อกันทางพื้นที่

ผู้เขียนมีเพื่อนอยู่จังหวัดสุโขทัย เขาเล่าให้ฟังว่า

“หากปีใด ถ้าแม่น้ำจังหวัดสุโขทัยไม่มีน้ำท่วม จะทำให้ชาวบ้านยากจนลง เพราะไม่มีปลาจะจับหากินนะสิ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจฝืดเคือง” เป็นอย่างงั้นไป

แต่ยังคงเหลือวิถีชีวิตน้ำแห้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมิถุนายน ถือได้ว่าเป็นฤดูแล้งก่อนสร้างเขื่อน ที่ชาวอำเภอคลองขลุงรอคอยกันมานาน ต่างกับการมีสร้างเขื่อนยันฮีแล้ว

เพราะลำน้ำปิง นอกจากจะนำมาไปใช้ประโยชน์นานัปการแล้ว การอาบ การดื่ม การอุปโภคการเกษตรกรรมแล้ว ยังมีหาดทรายที่สวยงามมีคุณค่าอนันต์หลากหลาย ทั้งประเพณีและวัฒนธรรมการกีฬา สร้างความบันเทิงมากมาย

ลำน้ำปิงเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษและผู้เขียนในอดีตราว ปี พ.ศ. 2452 ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นมาแล้วที่ลำน้ำปิง เป็นประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ และเคยนำมาเล่าขานทางโทรทัศน์เมื่อไม่นานมานี้

ความทรงจำของผู้เขียนได้นำมาถ่ายทอดตามเนื้อเรื่องในราวปี พ.ศ. 2494-2504 สมัยยังเป็นเด็กอายุ 7-16 ปี ที่สร้างประสบการณ์แก่ผู้เขียนได้รำลึกถึงในอดีตเสมอมา