หนุ่มนครปฐม ปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม โกย 2-3 แสน/ไร่

คนไทยจำนวนมากใช้หลักการรับประทานสมุนไพรและอาหารไทยเพื่อรักษาสมดุลของธาตุ สร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้คนไทยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยใช้พืชสมุนไพรและอาหารไทยที่มี “รสเย็น” เป็นพื้นฐานเพื่อลดความร้อนในร่างกาย (ลดไข้) ใช้สมุนไพรและอาหารไทยที่มี “รสสุขุม” เพื่อปรับสมดุลธาตุ และใช้สมุนไพรและอาหารไทยที่มี “รสเปรี้ยว” เพื่อกัดเสมหะ ฟอกโลหิต เป็นต้น

กระชายพร้อมเหง้า

กระชาย  สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

กระชาย ได้ชื่อว่าเป็นโสมของคนไทย “Thai ginseng” และเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า กระชาย มีสรรพคุณทางยา แก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย ปากเป็นแผล ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง รักษาอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย แก้ลมวิงเวียน

ด้าน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับทุนวิจัยจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านไวรัสก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) ของกระชาย พบว่า สารสกัดกระชายและสาร Panduratin A มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของไวรัสที่แรงกว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ Andrographolide อย่างไรก็ดี ยังเป็นเพียงผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ที่ยังต้องมีการวิจัยประสิทธิผลในมนุษย์ต่อไป หากได้ผลดี สามารถใช้รักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ช่วยบรรเทาอาการของโรค และเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

แปลงปลูกกระชายพันธุ์รากกล้วย ของคุณทวี แสงสุริย์ฉาย

ปลูกกระชายรายได้ดี

ปัจจุบัน กระชายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายดี เป็นที่นิยมในท้องตลาดอย่างมาก เนื่องจากมีผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า สารสกัดกระชายมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคหรือยับยั้งไวรัสโควิดได้ด้วยหลอดทดลอง ทำให้กระชายขายได้ราคาดี สร้างแรงจูงใจให้มีเกษตรกรสนใจปลูกกระชายกันอย่างกว้างขวาง

คุณทวี แสงสุรีย์ฉาย วัย 52 ปี โทร. 081-651-5694 เจ้าของกิจการร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกกระชายเป็นอาชีพเสริมรายได้มานานกว่า 5 ปี ปัจจุบัน รายได้จากการขายกระชายสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำแซงหน้ากิจการร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์หลายเท่าตัว

กระชายพันธุ์รากกล้วย

คุณทวี กล่าวว่า เดิมผมเปิดร้านรับซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ และมีที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวน 3 ไร่ จึงสนใจปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม ซึ่งการปลูกกระชายไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผม เพราะเคยช่วยพ่อแม่ปลูกกระชายมานานกว่าสิบปีแล้ว สำหรับการลงทุนปลูกกระชายครั้งแรก มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน ค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช ค่าแรงงาน ฯลฯ ใชเงินลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 15,000-20,000 บาท/ไร่ หลังปลูกสามารถเก็บผลผลิตรุ่นแรกออกขายได้ใน 7 เดือน หลังหักค่าใช้จ่าย ผมมีรายได้เท่าทุนหรือเสมอตัว การปลูกกระชายรุ่น 2 ในพื้นที่เดิม ประหยัดต้นทุนค่าเตรียมดิน ทำให้มีผลกำไรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น หากใครมีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ คุณทวีแนะนำให้หันมาปลูกกระชายเป็นอาชีพเสริม กระชายสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี กระชายเติบโตได้ดีในพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี ดินลักษณะร่วนซุย หากมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูก หากแหล่งที่ปลูกเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงเจอปัญหาน้ำท่วมขัง ควรปลูกแบบยกร่องสูง เพราะกระชายเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง

แปลงปลูกกระชายต้องยกร่องสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม

หลังปลูก ต้องรดน้ำเช้า-เย็น ใส่ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยคอก บำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ และใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 เร่งราก เร่งใบ ปีละ 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยประมาณ 3 ลูก ต่อไร่ ปัจจุบัน คุณทวี ปลูกกระชายพันธุ์รากกล้วย ซึ่งเป็นกระชายพันธุ์ดี เป็นที่นิยมในท้องตลาดพื้นที่ปลูก 1 ไร่ สามารถเก็บกระชายขายได้ 2-3 ตัน เรื่องตลาดไม่น่าห่วงเพราะมีแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตถึงไร่ในราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 100 บาท ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกกระชาย 1 ไร่ สามารถสร้างเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนบาททีเดียว หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไรก้อนโต เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังขยายตัวในวงกว้าง ทำให้กระชายเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาซื้อขายกระชายทุกสายพันธุ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100 บาท/กิโลกรัม

เทคนิค ปลูกกระชายให้ได้ผลผลิตที่ดี

กระชายสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ ราชบุรี จากสถิติของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งปลูกกระชายมาก โดยเฉพาะอำเภอดอนตูม มีพื้นที่รวม 1,141 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ มีช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน

เหง้ากระชายที่มีตาแดงๆ เหมาะสำหรับปลูกทำพันธุ์

สายพันธุ์กระชายที่นิยมปลูกในประเทศไทยได้แก่ 1. พันธุ์ที่ใช้เป็นยา คือ กระชายพันธุ์พื้นเมือง มีรากสั้น หรือเรียกว่า กระชายปุ้ม นิยมปลูกไว้ทำยา หรือเป็นส่วนประกอบเครื่องแกง เพราะมีกลิ่นหอม 2. กระชายพันธุ์เกษตร มีรากยาว มีขนมาก หรือเรียกว่ากระชายรากกล้วย มีน้ำหนักมาก นิยมปลูกเพื่อการค้า 3. กระชายป่า พบได้ตามป่าเขาตามธรรมชาติ เกษตรกรนิยมเก็บผลผลิตออกขายในช่วงฤดูฝน

กระชายนิยมขยายพันธุ์ด้วยหัว หรือเหง้าที่ติดกับลำต้น เมื่อผ่าดูจะพบสีเหลืองฉุน จะติดกันเป็นกลุ่มแยกออกได้   หัวกระชาย ทิ้งไว้สัก 2-3 สัปดาห์ จะเห็นหน่อสีแดงงอกมาจากหัวกระชาย สามารถนำลงแปลงปลูกได้เลย เกษตรกรนิยมปลูกกระชายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพราะช่วงฤดูฝนกระชายเจริญเติบโตงอกงามดี

ต้นพันธุ์กระชายกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

กระชายนิยมปลูกในแปลงแบบยกร่อง โดยการเตรียมดินให้เรียบร้อยผสมปุ๋ยและขี้เถ้าแกลบ แล้วยกร่อง นำพันธุ์เหง้ากระชายที่เตรียมไว้นำมาฝังดินเป็นแถวห่างกัน ประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยฟางควรรดน้ำสม่ำเสมอ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ กระชายจะงอกออกมา

โรคพืชที่สำคัญของกระชายคือ โรคเหง้าเน่า มักพบการแพร่ระบาดในช่วงอากาศร้อนและมีฝนตกหนัก กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกระชายให้เฝ้าระวังโรคเหง้าเน่า ที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตของต้นกระชาย อาการเริ่มแรกใบแสดงอาการม้วนห่อ สีของใบซีด ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้ง บริเวณโคนต้นมีอาการฉ่ำน้ำ ลำต้นเน่าหลุดออกจากเหง้าได้ง่าย หักพับ แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น หากตรวจดูที่ลำต้นจะพบส่วนของท่อลำเลียงน้ำและอาหารมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อผ่าลำต้นตัดตามขวางและนำมาแช่ในน้ำสะอาด ประมาณ 5-10 นาที จะพบของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกม

ต้นกระชายที่มีอาการโรคเหง้าเน่า

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นกระชายที่เริ่มแสดงอาการของโรคเหง้าเน่า ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค จากนั้นให้โรยด้วยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง ส่วนในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรเก็บส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที

การป้องกันกำจัดโรคเหง้าเน่าในฤดูปลูกถัดไป เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยพบการระบาดของโรคนี้มาก่อน และควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี อีกทั้งเกษตรกรควรเตรียมดินก่อนปลูก โดยการไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก

นอกจากนี้ กรณีในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ก่อนปลูก ให้อบดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยการโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80:800 กิโลกรัม ต่อไร่ จากนั้นให้ไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้นและทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกกระชาย อีกทั้งให้เลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

 

แหล่งที่มาข้อมูล : เเนวทางปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (หน้า 14 และ หน้า 18)  

…………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

……………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354