ปลัดเกษตร ยิ้มออกฝนท้ายปีทำข้าวฟื้น แต่นาปรังยังลุ้น หลังฝนตกไม่ลงเขื่อน

การทำนาปีในปีนี้ บางพื้นที่อาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากปัญหาฝนทิ้งช่วงนานต่อเนื่อง ทำให้ที่หว่านไว้บางส่วนแห้งตาย แต่เมื่อได้ฝนในช่วงท้ายๆ ฤดูการณ์ ข้าวเริ่มฟื้นตัว และคาดว่าจะสามารถเติบโต ได้ทันในระยะเวลาที่เหลือนับจากนี้ อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำฝนที่ตกดังกล่าว อาจไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังปี 65 เพราะส่วนใหญ่เป็นการตกท้ายเขื่อน

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ตามที่คาดว่าปีนี้จะมีพายุ เข้ามาประเทศไทยอย่างน้อย 2 ลูกนั้น ปริมาณน้ำจะมีมาก กระทรวงเกษตรฯจึงวางแผนเพาะปลูกเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์  เพื่อให้ชาวบางระกำทำนาปีก่อนใคร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564  และมีแผนทยอยทำนาใน 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตามลำดับ เพื่อให้เก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.- ต.ค. ทุกปี เป็นแก้มลิงที่ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำที่ขังอยู่นี้ทำอาชีพประมง ได้ด้วย

อย่างไรก็ตามแผนการเพาะปลูกดังกล่าว สามารถระบายน้ำเพื่อปลูกข้าวในพื้นที่บางระกำเท่านั้นประมาณ 2.65 แสนไร่ น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมาที่เคยส่งน้ำให้ได้มากที่สุดถึง3.8 แสนไร่ ในขณะที่อีก 12 ทุ่งเจ้าพระยา ไม่สามารถส่งน้ำได้เลย เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะได้จากพายุ ไม่มีตามที่คาดเอาไว้ ฝนที่ตกในช่วงนี้เกิดจากร่องมรสุมทั้งสิ้นและเป็นฝนที่ตกตามฤดูกาลปกติ อีกทั้งฝนที่ตกดังกล่าว ยังตกท้ายเขื่อนไม่สามารถกักเก็บได้ ทั้ง 4 เขื่อนหลักปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 50 % ดังนั้นกรมชลประทานจึงเข้มงวดบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนให้มากที่สุดในฤดูแล้งปี 2564/65 ในขณะที่ต้องขอความร่วมมือการทำนาปรังในพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น

“ข้าวนาปี ส่วนใหญ่จะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เกษตรกรจะหว่านก่อนแล้วรอรับน้ำฝน เมื่อฝนทิ้งช่วงนาน ข้าวก็จะเสียหาย ในปีนี้ฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือน ถือว่าเสี่ยงมาก แต่พอฝนตกแล้งช่วงท้ายๆ ฤดู ข้าวก็ฟื้นตัว ซึ่งได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม แก้ไขปัญหาพร้อมให้คำแนะนำเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดีที่สุด” นายทองเปลว กล่าว

นายทองเปลว กล่าวด้วยว่า สำหรับน้ำที่เข้าท่วมในบางพื้นที่ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยาลงมานั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันช่วยเหลือโดยใช้การบริหารเชิงระบบ คลองต่างๆ เพื่อไล่น้ำลงลำเจ้าพระยา และใช้เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาทเป็นเครื่องมือทดน้ำ ซึ่งจากการเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ไหลลงมาปริมาณ 1000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาทีนี้ คาดว่าตัวเขื่อนจะสามารถรับมือได้

“หลังจากนี้ปริมาณฝนจะลดลงและหันหน้าลงทิศใต้กันหมดแล้ว  ฝนในปีนี้จึงถือว่าน้อยมาก ต่อไปต้องจับตาดูการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ที่ต้องเข้มงวดให้เป็นไปตามแผนน้ำที่มีอยู่ใน 4 เขื่อนหลักต้องให้ความสำคัญกับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ ก่อน จากนั้นจึงจะใช้เพื่อรักษาพืชยืนต้น ส่วนข้าวจะเป็นเรื่องหลังๆเพราะใช้น้ำมาก”

สำหรับผลกระทบจากร่องมรสุม ต่อภาคการเกษตรตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 – ปัจจุบัน พบว่า ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 16จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ตาก น่าน แพร่ พิจิตร เพชรบูรณ์พิษณุโลกลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย นครราชสีมา เลย ปราจีนบุรี และจังหวัดระยอง เกษตรกร 17,194ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 135,113 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 116,135ไร่ พืชไร่และพืชผัก 15,072 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 3,906 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน นครราชสีมา เลย และจังหวัดกรุงเทพฯ เกษตรกร 2,626 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 2,508 ไร่ กระชัง 284  ตรม. อยู่ระหว่าง สำรวจความเสียหาย

 

ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 2จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก เกษตรกร 5,001ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 89,200ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 1,446ตัว สุกร 802ตัว แพะ-แกะ561ตัว สัตว์ปีก 86,391ตัว แปลงหญ้า 10 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

สำหรับสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตร 44,735 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุ  เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 20,805 ล้านลบ.ม. หรือ40%ของปริมาตรน้ำในอ่างฯ แต่มากกว่าปี63  จำนวน 7,793 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตร 41,397ล้าน ลบ.ม.  หรือ 58%ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้17,855 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38% ของปริมาตรน้ำในอ่างฯ   มากกว่าปี 2563 จำนวน 6,753 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนสภาพน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณรวม 1.02 หมื่นล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41 % ของความจุ เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 3.5พันล้านลบ.ม.  หรือ 19 % ของปริมาตรน้ำในอ่างฯ  แยกเป็นเขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 5.3 พันล้าน ลบ.ม. หรือ 40 % ของความจุอ่างฯ ปริมาตรที่ใช้การได้ 1.56 พันล้าน ลบ.ม. หรือ 16 % ของปริมาตรน้ำในอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตร 3.9 พันล้านลบ.ม. หรือ 41 % ของความจุ ปริมาตรที่ใช้การได้ 1 พันล้าน ลบ.ม. หรือ 16 % ของปริมาตรน้ำในอ่างฯ

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตร 604 ล้าน หรือ 64 % ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 561 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63 % ของปริมาตรน้ำในอ่าง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  มีปริมาตร 327 ล้านลบ.ม. หรือ 34 % ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 324 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34 % ของปริมาตรน้ำในอ่าง