จ่อใช้ “ปทุมธานีโมเดล” แก้น้ำท่วม รื้อชุมชน 8,442 แห่งรุกล้ำลำคลอง

ระดมสมองภาครัฐดันแผนน้ำ 20 ปี ต้องเร่งแก้การบุกรุกลำน้ำและสาธารณูปโภคที่กีดขวางทางน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมให้เสร็จภายในกลางปีนี้ “สมเกียรติ” เผยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีปัญหามากที่สุด มีสิ่งกีดขวางปลูกสร้างรุกล้ำทางน้ำ 8,442 แห่ง และสาธารณูปโภค 221 แห่ง ชี้ต้องใช้ “ปทุมธานีโมเดล” ย้ายออก 50% ภายในปี 2564

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำและการบูรณาการแผนดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานมีแผนบริหารจัดการน้ำ แต่เนื่องจากแผนยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้จัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 20 ปีขึ้น กระทรวงเกษตรฯจึงต้องทบทวนแผนบริหารฯ 12 ปีของกรมชลประทานใหม่ทั้งหมด โดยให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำรวมอยู่ด้วย โดยสิ่งกีดขวางทางน้ำสามารถแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.การบุกรุก และ 2.ระบบสาธารณูปโภคของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้จึงต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ในกรณีผู้บุกรุกที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัยชุมชนนั้น จะต้องหารือ

กับกระทรวงมหาดไทย ว่าจะย้ายออกได้หรือไม่ อย่างไร กรณีที่ไม่สามารถย้ายออกได้ก็ต้องมีวิธีที่จะทะลวงน้ำผ่านไปให้ได้ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม เช่นเดียวกับระบบสาธารณูปโภคที่ขวางกั้นอยู่จะต้องหารือถึงเทคนิควิธีการเจาะระบายน้ำให้ลอดออกไป ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งขวางกั้นทางน้ำขึ้นมาอีกในอนาคต โดยการวางแผนงานก่อสร้างร่วมระหว่างหน่วยงานหลักอย่างชัดเจน โดยภายในเดือน มิ.ย.นี้ แผนแนวทางแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำนี้ต้องแล้วเสร็จเพื่อเสนอให้ กนช.และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

“ในระยะเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาการระบายน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่รวม 93 แห่ง ประกอบด้วย ระบบระบายน้ำ 38 แห่ง สถานีสูบน้ำ 15 แห่ง ประตูระบายน้ำ 40 แห่ง การทบทวนโครงการที่จะสามารถดำเนินการในระยะเร่งด่วนระหว่างปี 2560-2561 เช่น การปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานทั้งตะวันออกและตะวันตก การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีน เป็นต้น”

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ จำเป็นต้องพิจารณาเป็นภาพรวมของประเทศ แต่จากการประเมินทุกครั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมจะพบว่า สิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือเขตภาคกลางหรือลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จึงจำเป็นต้องหาแนวทางแก้กลุ่มที่เป็นสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเขตคลอง แยกเป็นชุมชนกว่า 8,442 ชุมชน และสาธารณูปโภค221 แห่ง โดยที่ชุมชน แยกเป็นผู้รุกล้ำเขตตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 5,290 ชุมชน และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3,152 ชุมชน มีเป้าหมายต้องย้ายออกอย่างน้อย 50% ภายในปี 2564 โดยยึดตามรูปแบบของปทุมธานีโมเดล ด้วยการสร้างที่อยู่ใหม่ให้ผ่อนจ่ายในอัตราที่เหมาะสม ส่วนงบประมาณนั้นต้องหารืออีกครั้ง

สอดคล้องกับนายสมเกียรติ สิริพิทักษ์เดช ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมโยธา กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในเขตภาคกลางมีการเปลี่ยนแปลงที่ดินจากกิจกรรมด้านการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัยที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และยังเป็นสาเหตุให้ท่วมมากขึ้น ดังนั้น กรมโยธาฯมี 3 พ.ร.บ.ที่สามารถควบคุมได้ คือ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.ขุดดินถมดิน แต่ต้องวางแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย เพื่อผังจังหวัดอย่างลงตัวทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งที่ผ่านมากรมโยธาฯมีแผนสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้ว 500 กม. ส่วนใหญ่เพื่อป้องกันแม่น้ำตามเขตแดนเพื่อลดการสูญเสียอาณาเขตประเทศ และตั้งแต่ปี”61 มีแผนจะดำเนินการอีก 1,500 กม. ภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 75 กม. โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ออกแบบแล้ว 14 โครงการ 69 ชุมชน แผนที่อยู่ระหว่างออกแบบ 134 โครงการ แล้วเสร็จ 90 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 42 โครงการ