“หญ้าหวายข้อ” ใช้เลี้ยงสัตว์ ปลูกง่าย รายได้ดี

จุดเริ่มต้น หญ้าหวายข้อ ณ ตำบลนาหมื่นศรี

คุณนิคม เสนี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านนาจิก ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เกษตรกรผู้ปลูกหญ้าหวายข้อ เล่าว่า เมื่อปี 2547 จุดเริ่มต้นของการปลูกหญ้าหวายข้อนั้นเริ่มจาก คุณวีรศักดิ์ ดำชุม หรือ น้าลา เกษตรกรหมู่ที่ 6 บ้านหัวเขา ตำบลนาหมื่นศรี เป็นผู้นำพันธุ์หญ้าหวายข้อจากจังหวัดกระบี่เข้ามาปลูกในพื้นที่ตำบลนาหมื่นศรีเป็นคนแรก และได้แบ่งพันธุ์ให้เกษตรกรที่สนใจนำไปขยายพันธุ์ปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์และจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงวัวชนมาจนถึงปัจจุบัน

คุณนิคม เสนี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านนาจิก ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เกษตรกร     ผู้ปลูกหญ้าหวายข้อ

คุณนิคม กล่าวว่า นอกจากงานประจำแล้ว ตนเองและภรรยาทำสวนยางพารา ทำนาปี ปลูกผักสวนครัว และสนใจทำอาชีพเสริมหารายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว โดยปลูกหญ้าหวายข้อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งเช่าพื้นที่ประมาณกว่า 1 ไร่ นำพันธุ์หญ้าหวายข้อมาปลูก เนื่องจากปลูกง่าย รายได้ดี ปลูกครั้งเดียวสามารถตัดขายได้ ทุก 40 วัน หมุนเวียนตลอดทั้งปี หลังจากตัดแล้วหมั่นดูแลกำจัดวัชพืช เน้นการบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพที่ทำใช้เอง ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ให้น้ำโดยวางระบบแบบสปริงเกลอร์วันละครั้ง หลังจากตัดหญ้าขายแล้วใช้เวลาประมาณ 18 วัน หญ้าจะงอกมาใหม่

ทั้งนี้ “หญ้าหวายข้อ” เป็นพันธุ์หญ้าที่มีโปรตีนสูง วัวชนและวัวพื้นบ้านชอบกิน เป็นที่ต้องการของตลาด โดยลูกค้าจะเหมาซื้อเป็นล็อก ขนาดล็อกกว้าง 5 เมตร ยาว 60 เมตร ในช่วงฤดูแล้ง ขายราคาล็อกละ 1,200-1,500 บาท ในช่วงฤดูฝน ขายราคาล็อกละ 1,000 บาท ลูกค้าจะเข้ามาตัดหญ้าเองเมื่อครบกำหนดวันตัด

ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและสื่อมวลชน

วิธีการปลูกหญ้าหวายข้อ

หญ้าหวายข้อ ชอบดินพรุ น้ำแฉะ ถ้าปลูกบนโคกต้องมีระบบให้น้ำ

  1. เริ่มจากการเตรียมพื้นที่

ใช้วิธีปิดหน้าดิน โดยตัดหญ้าในแปลงให้ผงแล้วปิดหน้าดินไว้ (หลักการ คือเมล็ดพืชทุกชนิดจะงอกเมื่อมีแสงแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสม ถ้าแสงแดดและอุณหภูมิไม่เหมาะสม เมล็ดก็จะไม่งอก) หลังจากนั้น พ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช ทิ้งไว้จนหญ้าแห้งแล้วทำการเผา ซึ่งความร้อนจะทำให้เมล็ดหญ้างอก เมื่อเมล็ดเริ่มงอกให้หว่านปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต หลังจากนั้น พ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชทิ้งไว้จนหญ้าแห้งแล้วทำการเผาซ้ำ เป็นการกำจัดวัชพืชสำหรับการปลูกหญ้าในปีแรก หลังจากนั้น เตรียมดินให้ละเอียดร่วนซุย

  1. ขั้นตอนการปลูก

นำพันธุ์หญ้าสับเป็นท่อน ยาวประมาณ 1 คืบ ฉีดน้ำให้ชุ่ม บ่มทิ้งไว้ในร่ม 7-10 วัน เพื่อให้รากมันงอก แล้วนำไปโปรยลงในแปลงปลูก ไถกลบด้วยจอบหมุนเพื่อให้รากจมลงไปในดิน

  1. การให้น้ำ

โดยทั่วไปหญ้าหวายข้อจะทนแล้งได้ดีมาก เกษตรกรมักปล่อยให้เติบโตด้วยการอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ในช่วงฤดูแล้งให้น้ำโดยวางระบบแบบสปริงเกลอร์กระจายน้ำทั่วทั้งแปลงวันละครั้ง ช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้น้ำเนื่องจากอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ

  1. การใส่ปุ๋ย

– เมื่อปลูกครั้งแรก ใส่ปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับใส่ปุ๋ยเคมี โดยปุ๋ยเคมีแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 เมื่อหญ้าเริ่มงอกอายุได้ 15 วัน ให้หว่านปุ๋ยสูตร 18-4-5 ปริมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปริมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่

ครั้งที่ 2 ก่อนตัดหญ้าขาย 15 วัน ให้หว่านปุ๋ยสูตร 18-4-5 ปริมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยยูเรีย   (46-0-0) ปริมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่

– หลังจากตัดหญ้ารุ่นแรกแล้ว รอหญ้ารุ่นที่ 2 ให้สังเกตหญ้าเริ่มแตกตายาว 10-15 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 10 วัน หว่านปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัมต่อไร่ และหว่านปุ๋ยสูตร 18-4-5 ปริมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ และปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปริมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยเพียงรอบเดียว อีก 40-45 วัน สามารถตัดหญ้าขายได้เป็นรุ่นที่ 2 ได้ ส่วนในรุ่นต่อๆ ไป ดูแลบำรุงต้นหญ้าใส่ปุ๋ยเพียงครั้งเดียว 40-45 วัน สามารถตัดขายได้

  1. การตัดหญ้า

โดยหญ้ารุ่นแรกสามารถตัดขายได้เมื่ออายุ 60 วัน ส่วนการตัดหญ้าหวายข้อครั้งต่อไปจะตัดทุกๆ 40-45 วัน เพราะเป็นช่วงที่หญ้าหวายข้อมีโปรตีนมากที่สุด ทั้งนี้ ควรตัดในระยะก่อนหญ้าหวายข้อออกดอกทุกครั้ง และควรตัดให้เหลือตอที่สูงจากพื้นไม่มาก ประมาณ 3-6 เซนติเมตรเท่านั้น ในรอบ 1 ปี สามารถตัดหญ้าขายได้สูงสุด 8 ครั้ง

ลักษณะหญ้าหวายข้อ

ต้นทุนการปลูกหญ้า

ค่าไถ 2 ครั้ง คือ ไถ 7 จานเพื่อพลิกหน้าดิน

และไถจอบหมุนบดดินให้ร่วน พร้อมกลบท่อนพันธุ์ เป็นเงิน 1,000 บาท ต่อไร่

ค่าพันธุ์หญ้า 1 รถกระบะรั้วตอนเดียว เป็นเงิน 5,000 บาท ต่อไร่

ติดตั้งระบบน้ำ พร้อมปั๊มน้ำเครื่องยนต์เบนซิน เป็นเงิน 4,000 บาท ต่อไร่

ค่าแรงหว่านท่อนพันธุ์ เป็นเงิน 1,000 บาท ต่อไร่

ค่าปุ๋ยหมัก ไร่ละ 50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 6 บาท ใช้ 8 ครั้ง เป็นเงิน 2,400 บาท ต่อไร่

ค่าปุ๋ยเคมี สูตร 18-4-5 หว่านไร่ละ 50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 11 บาท ใช้ 8 ครั้ง เป็นเงิน 4,400 บาท ต่อไร่

ค่าปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 หว่านไร่ละ 50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 14 บาท ใช้ 8 ครั้ง เป็นเงิน 5,600 บาท ต่อไร่

รวมทั้งสิ้น 23,400 บาท ต่อไร่

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ

สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ สามารถขายหญ้าได้ 16,000 บาทต่อไร่ต่อครั้ง (คิดจาก 1 ไร่ ได้หญ้าจำนวน 80 เข่ง เข่งละ 200 บาท) ตัดหญ้าขายจำนวน 8 ครั้ง จะได้รายรับประมาณ 128,000 บาท เมื่อหักลบออกจากต้นทุน (128,000-23,400) จะทำให้คงเหลือผลกำไรสุทธิกว่า 104,600 บาทต่อไร่ต่อปี

คุณสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ลงพื้นที่เยี่ยมแปลงเกษตรกรพร้อมกล่าวว่า จังหวัดตรังพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทางเกษตรจังหวัดตรัง กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ระยะเก็บเกี่ยวสั้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงการปลูกหญ้าจำหน่ายให้กับผู้ที่เลี้ยงวัวชน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ฝ่าฟันวิกฤตช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง

หากท่านใดสนใจ ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการปลูก การจัดการแปลงหญ้าหวายข้อ สามารถติดต่อได้ที่ คุณนิคม เสนี โทร. 094-317-7132 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง โทร. 075-299-788

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354