กระทรวงเกษตรฯ ตั้งรับโจทย์การค้าหลังโควิด-19 ยกระดับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อในสินค้าเกษตรทุกมิติ

เป็นไปไม่ได้เลยที่เชื้อโควิด-19 จะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อไก่ กุ้ง ปลา ไข่ หรือแม้แต่ผักและผลไม้ แต่การปนเปื้อนมีโอกาสสูงซึ่งมาจากการสัมผัสของผู้ติดเชื้อหรือเชื้อที่ยังอยู่ในสภาพอากาศ อย่างเช่นกรณีที่ตรวจพบการปนเปื้อนทุเรียนของไทยในจีน ที่สุดแล้วก็พิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เกิดจากห่วงโซ่กระบวนการผลิตของไทยแต่อย่างใด

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โจทย์การค้าหลังโควิด-19นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคาดว่าจะมีกฎเกณฑ์ของประเทศผู้นำเข้าต่างๆตามมาอีกมากมาย แต่ปัจจัยหลักๆแล้วคาดว่าจะเป็นในด้านของความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงต้องยกระดับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อของสินค้าเกษตรในทุกกระบวนการให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายทองเปลว กองจันทร์

เริ่มตั้งแต่ การผลิต โดยตัวของเกษตรกรเอง ต้องบริหารจัดการฟาร์มทำความสะอาดพื้นที่และสวนเกษตร มาตรการสำหรับผู้ประกอบการสถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร มีการเฝ้าระวัง ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อตั้งแต่ต้นทางจากสวน จนถึงระบบขนส่ง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร ติดตามกำกับดูแลที่โรงคัดบรรจุให้ปฏิบัติตามมาตรการ และตรวจสอบใบรับรองการทำเกษตรที่ดีและเหมาะสม GAP และศัตรูพืช เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกอย่างเคร่งครัด โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

ด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้ประสานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการ ให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการเก็บสินค้าตัวอย่าง หากพบมีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อ กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้ทำการจำหน่ายหรือส่งออกในทันที

นอกจากนี้โรงานผลิตที่มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน หากพบการติดเชื้อของพนักงาน ให้คัดแยกผู้ติดเชื้อออกได้อย่างรวดเร็ว เพื่อกักตัวในพื้นที่ที่จัดไว้เพื่อเป็นการยกระดับความเข้มข้นของการเฝ้าระวังและป้องกันเพื่อควบคุมเชื้อและการปนเปื้อนต่างๆภายใต้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal)

สำหรับสินค้าประมง กรมประมงได้เข้มงวดระบบการควบคุมตรวจสอบ ตั้งแต่ต้นทาง เช่น เรือประมง มีการผ่านการตรวจสอบ มาตรฐานสุขอนามัย มีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) โดยสินค้าประมงส่งออก มีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการในการแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice หรือ GMP และ Hazard Analysis Critical Control Point หรือ HACCP เพื่อให้ระบบคุณภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ กรมประมงได้ร่วมกับผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการ ในการเฝ้าระวัง ติดตามและดูแลแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ทั้งมาตรการ Bubble and seal และอื่นๆ ที่จำเป็น

“ การเฝ้าระวังทั้งหมด ไม่ได้เฉพาะสินค้าที่จะส่งออกไปจีนเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดในทุกตลาด กรณีที่จีนแจ้งเตือนมานั้นเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องนำมาวิเคราะห์ หาแนวทางแก้ไข รวมทั้งคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป เพื่อปรับกระบวนการเตรียมรับผลกระทบในทุกทาง” นายทองเปลว กล่าว

นายทองเปลว กล่าวด้วยว่า ล่าสุดได้กำชับให้สำนักงานเกษตรในต่างประเทศ ประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ เร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไทยปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19อย่างแน่นอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบการปนเปื้อนเกิดขึ้นแต่อย่างใด

รวมทั้งได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ เพื่อควบคุม กำกับดูแล ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้ออย่างเข้มงวดให้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบเชื้อปนเปื้อนในกระบวนการผลิต กระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และผู้ประกอบการเราจะร่วมมือกันในการตรวจสอบย้อนกลับ ถึงสาเหตุการปนเปื้อนอย่างเร่งด่วนและเร่งแก้ปัญหาในทันที

“หลังจากนี้การสุ่มตรวจสินค้าเกษตรส่งออกทุกชนิด จะต้องมากกว่าที่ตกลงไว้ในพิธีสารของแต่ละประเทศ อย่างกรณีการส่งออกลำไย ในตลาดจีนกำหนดให้สุ่มตรวจ 3 % แต่หลังจากนี้จะสุ่ม 10 % เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าและผู้บริโภค เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เราจะมาโทษใคร แต่หลังจากนี้ไป ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” นายทองเปลว กล่าวย้ำทิ้งท้าย

ทั้งหมดคือโจทย์ที่ท้าท้ายของกระทรวงเกษตรฯในการเดินหน้ายกระดับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อในสินค้าเกษตรทั้งระบบ เพื่อปกป้องและรักษาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกแบบยั่งยืนในอนาคต