บริษัท เฟรช พาสเจอไรซ์ ทุเรียน จำกัด @ ตราด ทำทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ บุกตลาดจีน

ปริมาณทุเรียนของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาในช่วงระยะ 6-7 ปี จากข้อมูล กรมวิชาการเกษตร ปี 2564 ประมาณการทุเรียนภาคตะวันออกมีปริมาณผลผลิต 575,542 ตัน และทุเรียนภาคใต้ 594,439 ตัน รวมแล้วกว่า 1,000,000 ตัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นทั้งผลผลิตที่ยังไม่ให้ผลและปลูกใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากและปริมาณทุเรียนในเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ทำให้การส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเติบโต โดยสัดส่วนตลาดส่งออก 70% ตลาดภายในประเทศ 20% และแปรรูป 10% ซึ่งพัฒนาการส่งผลสด มีทั้งทุเรียนแช่แข็ง (Frozen Durian) รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารต่างๆ

คุณสุวรรณ ภักดีวงศ์

คุณสุวรรณ ภักดีวงศ์ หรือ แดน วีรวงศ์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรช พาสเจอไรซ์ ทุเรียน จำกัด ที่จังหวัดตราด ผู้ผลิต ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ (Fresh Pasteurized Durian) นวัตกรรมใหม่ เปิดตลาดต่างประเทศจีน อเมริกา ยุโรป แคนาดา ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียนสดคุณภาพพรีเมี่ยม รวมทั้งผู้บริโภคยุคใหม่ Gen Y ที่ต้องการความสะดวกสบายประเภท Ready To Eat รวมทั้งความพยายามสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยแข่งขันกับทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซีย

จากธุรกิจเนื้อปูพาสเจอไรซ์

สู่ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์

เส้นทางขนส่งทุเรียนไทย-จีน

คุณสุวรรณ เล่าว่า เป็นทหารนักบินอเมริกันมาก่อน ไม่ได้จบด้านการบริหารธุรกิจ แต่มีประสบการณ์ผลิตเนื้อปูม้ากระป๋องพาสเจอไรซ์ ส่งอเมริกามาร่วม 30 ปี โรงงานตั้งอยู่ที่ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ผลิตในนามบริษัทของตัวเอง 2 บริษัท คือ Gulf.coast Crab International Co.Ltd. และ Grandbay Seafood และผลิตให้แบรนด์อื่นอีก 5 แบรนด์ โดยใช้วัตถุดิบปูม้าในไทยและประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ แต่ปี 2557 โรงงานต้องปิดตัวเพราะไม่มีวัตถุดิบ จากนั้นด้วยประสบการณ์ทำเนื้อปูสดพาสเจอไรซ์ มองเห็นว่าทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมากทั้งในไทยและเพื่อนบ้านรอบๆ และตลาดจีนยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนสดพรีเมี่ยม

แกะเมล็ดออก

โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองที่มีรสชาติเทียบเคียงกับมูซังคิงของมาเลเซีย จึงมีเป้าหมายผลิตทุเรียนสดพาสเจอไรซ์มีกระบวนการเดียวกับเนื้อปู และโอกาสของทุเรียนพาสเจอไรซ์ที่ตลาดยังไม่มีการแข่งขันเหมือนทุเรียนผลสด ทุเรียนแช่แข็ง (Frozen Durian) จึงใช้เวลา 3 ปีเต็ม ทุ่มเทกับงานวิจัยทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ให้มีคุณภาพเหมือนทุเรียนสด ทั้งมหาวิทยาลัยในไทย ต่างประเทศ ปี 2562 ได้จดสิทธิบัตรในประเทศไทยกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อเมริกา เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และปี 2563 โรงงานในไทยเริ่มผลิตและทำการตลาดส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ตลาดต่างประเทศมีผลกระทบภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ทุเรียนการทำตลาดยากขึ้น แต่อีกมุมกลับเป็นโอกาสของทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ทำตลาดได้ง่ายขึ้นกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

“ด้วยประสบการณ์ทำธุรกิจปูสดพาสเจอไรซ์ส่งตลาดอเมริกาประสบความสำเร็จ เปรียบเสมือนมีต้นทุนสูง จึงใช้คอนเน็กชั่นกับผู้ที่เคยร่วมกันทำการค้า ทำตลาดด้วยกันทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดปลายทางอย่างอเมริกา ซึ่งไลน์การผลิตเนื้อปูสดและทุเรียนสดพาสเจอไรซ์เหมือนกัน ค่า pH ของทุเรียนและปูเท่ากัน คือ 7.2-7.6 (การทำพาสเจอไรซ์ค่า pH ต้องสูงกว่า 4.6) รวมทั้งมีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย สถาบันในสหรัฐอเมริกา การจดทะเบียนสิทธิบัตร รับรองมาตรฐานการผลิต คุณภาพ ทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น” คุณสุวรรณ กล่าว

แกะเนื้อขาวตรงไส้ออก

ตั้งเป้าทุเรียนหมอนทอง

เทียบเท่ามูซังคิง

คุณสุวรรณ กล่าวถึงเป้าหมายการวิจัยว่า การทำทุเรียนหมอนทองสดคุณภาพพรีเมี่ยมให้เทียบเท่ามูซังคิงของมาเลเซีย โดยเปรียบเทียบรสชาติทุเรียนหมอนทองสดพาสเจอไรซ์กับผลสดทุเรียนมูซังคิง ซึ่งในกระบวนการพาสเจอไรซ์ ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกผลทุเรียนสดพรีเมี่ยม การฆ่าเชื้อทำความสะอาด กระบวนการพาสเจอไรซ์จะมี 2 เวอร์ชั่น คือ อายุการบริโภคเก็บไว้ไม่เกิน 3 เดือนและ 6 เดือนในรายละเอียดของรสชาติและเท็กเจอร์จะต่างกัน จีนจะชอบอายุ 6 เดือนเพราะมีความหวานกว่า เนื้อนุ่มกว่าที่เรียกว่ากรอบนอกนุ่มใน ส่วนอายุ 3 เดือนจะเหมาะกับคนไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีที่อยู่ในอเมริกา เพราะหวานน้อยกว่า กระบวนการพาสเจอไรซ์ต้องควบคุมอุณหภูมิความร้อน ความเย็นตามกำหนดเวลา

ทดสอบค่าความหวาน 31.9 บริกซ์

“มูซังคิงโปรดักส์เป็นที่ยอมรับในตลาดจีนและมีราคาสูงกว่าหมอนทอง เป็นทุเรียนสุก หากคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพทุเรียนหมอนทองของไทยให้คุณภาพเทียบเคียงกับมูซังคิงได้ ทั้งรสชาติ เนื้อสำผัส ความหวาน นุ่มละมุน แต่ราคาถูกกว่ามูซังคิงครึ่งหนึ่ง ต้นทุนจะต่ำกว่าและคิดว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนสดที่สะดวกสบาย ง่ายขึ้นเหมาะกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและดีต่อสุขภาพ มีความปลอดภัยจากแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ได้ทำวิจัยในห้องแล็บ จะคงคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกับทุเรียนสด แต่การทำตลาดใช้ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ ไม่เจาะจงพันธุ์หมอนทองเพราะคนจีนเปรียบเทียบหมอนทองเป็นโลว์ควอลิตี้หากเทียบกับมูซังคิง” คุณสุวรรณ กล่าว

ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์

เสียบช่องว่างตลาดทุเรียนผลสด แช่แข็ง

บรรจุในถุง pouch เคลือบ 3 ชั้น และใส่ถาดรองทนความร้อน

ปีนี้หน่วยราชการมีมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน ทำให้โรงงานคัดคุณภาพง่ายขึ้น กระบวนการผลิตเน้นทุเรียนสด ดังนั้น ทุเรียนที่เข้าไลน์การผลิตสำคัญตั้งแต่ต้นทาง สวนต้องมีใบรับรอง GAP ไม่เน้นทรง แก่จัด 90% อายุ 120 วัน เมล็ดสีแดง ถ้าสีเหลืองขาวต้องคัดออก จะนำมาบ่มให้สุกก่อน 2-3 วัน เริ่มจากนำมาแกะเป็นพูและนำเมล็ดออก (Seedless) และบริเวณติดไส้สีขาวออก ทดสอบความหวาน 27-35 บริกซ์ ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ที่รักษาไม่ให้ทุเรียนสุกเกินไป ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนอุณหภูมิ 91 องศาเซียลเซียส ใช้เวลา 1-2.30 ชั่วโมง ระยะเวลาตามอายุการเก็บรักษา และน็อกด้วยความเย็นไม่ให้สุกต่อเนื่อง

จากนั้นบรรจุแพ็กเกจจิ้งในถุง pouch เคลือบ 3 ชั้นให้พอดีกับพูทุเรียนไม่ให้เสียรูปทรง ซีลปากถุงด้วยระบบ Vacuam Pack กระบวนการต้องเสร็จภายใน 4 ชั่วโมง จะได้เนื้อทุเรียนสด สีเหลืองนวล เนื้อนุ่ม คงความหวาน และเก็บรักษาในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ 1-4 องศาเซียลเซียสเช่นเดียวกับตู้ขนส่งคอนเทรนเนอร์

คุณสุวรรณกล่าวถึงการตลาดทุเรียน โดยเฉพาะกับตลาดจีนที่เป็นตลาดหลักว่าการขายผลสดมีการแข่งขันสูงเพราะชาวจีนเริ่มเข้ามาทำตลาดเองถึงสวนทุเรียนในเมืองไทย การแข่งขันสูงมาก เราค้าขายสู้คนจีนไม่ได้ และพฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของคนจีนเปลี่ยนไปโดยเฉพาะคนรุ่น GEN Y ที่ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสะดวกรวดเร็ว และราคาที่จับต้องได้ ดังนั้น การทำตลาดทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ได้จดสิทธิบัตรในจีนไว้แล้ว ไม่ต้องแข่งขันกับคนจีน และช่วงที่ไม่มีทุเรียน 6 เดือน เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ สามารถส่งไปขายได้ตลอดปี ซึ่งลูกค้าตอบรับดีเพราะไม่มีเปลือก ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคและแมลง และเชื้อโควิด-19 และมี 4 ไซซ์ 400 กรัม 300 กรัม 200 กรัม 150 กรัมให้ลูกค้าได้เลือก

เปรียบทุเรียนแช่แข็งพรีเมี่ยม กิโลกรัมละ 500 บาท ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ 800 บาท แต่ยังต่ำกว่าทุเรียนสดเกรดพรีเมี่ยมแกะเปลือก กิโลกรัมละ 1,000 บาท แต่ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ไร้เมล็ดปลอดเชื้อ และยังคงคุณค่าทางโภชนาการ จึงเป็นช่องว่างที่ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์จะทำตลาดได้ และมีขนาด 150 กรัม 200 กรัม เด็กๆ นักศึกษามีกำลังซื้อรับประทานได้” คุณสุวรรณ กล่าว

ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์

เปิดตลาดหลักจีน

อนาคตแฟรนไชส์ทำตลาดโลก

คุณสุวรรณ กล่าวตอนท้ายว่า ได้เปิดตลาดปลายปี 2563 ตลาดหลักกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงในตลาดจีนและชาวจีนที่อยู่ในอเมริกา ยุโรป แคนาดา เพราะคนจีนชื่นชอบทุเรียนมากนอกจากทุเรียนสดพาสเจอไรซ์แล้ว ยังผลิต Duriand Pulp เพื่อใช้ประกอบหรือปรุงอาหาร โดยเป็นผู้ผลิตโดยตรง ตอนนี้ส่งไปที่ห้างเหอมา (Herma) ซุปเปอร์มาร์เก็ตของอาลีบาบา ที่เมืองคุนหมิง ห้างนี้มีอยู่ทุกเมือง จะกระจายสินค้าออกไป ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อแข่งขันกับมูซังคิง และได้ทำข้อตกลงกับบริษัท Vet Products Group เป็นตัวแทนขายในจีนและบริษัทได้ทำสัญญากับบริษัท Esenagro และอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท Pure Energy พยายามให้บริษัทรายเล็กซื้อโดยตรงและกระจายสินค้าออกไป เพราะมูลค่าของทุเรียนสดพาสเจอไรซ์แต่ละตู้ประมาณ 20 ล้านบาท การขนส่งใช้ทางบกน่าจะสะดวกที่สุด เพราะเครื่องบินต้องจองนานหรือทางรถไฟจะส่งได้ปริมาณน้อย ครั้งละไม่เกิน 1 ตัน

อนาคตประเทศต่างๆ ที่จดสิทธิบัตรไว้ จะผลิตแบบแฟรนไชส์และมีการทำตลาด e-commerce ให้ลูกค้ารายเล็กรายใหญ่มาซื้อโดยตรงเพื่อกระจายสินค้าออกไป เป้าหมายการตลาดกลุ่มผู้บริโภคต่อไปคือ อเมริกา ยุโรป ต้องสร้างความเข้าใจการบริโภคทุเรียนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะเส้นใยสูงถึง 21% คอเลสตอรอล 0% ส่วนวัตถุดิบได้ประสานกับเกษตรกรและองค์กรภาคใต้ ภาคตะวันออกเป็นซัพพลายเออร์ส่งทุเรียนให้ และโรงงานมีขีดการผลิตอย่างต่ำ 500-1,000 แพ็กต่อวัน ขีดสูงสุด 10,000 แพ็กต่อวัน