เรื่องน่ารู้ของว่านหอม เปราะหอม ว่านเสน่ห์จันทร์ แก้อักเสบ คลายเครียด แก้สิว ฝ้า บำรุงผิว

เมื่อไม่นานมานี้ คนทางอีสานแทบทุกจังหวัดจะนิยมปลูกว่านหอมไว้หน้าบ้าน เป็นทั้งว่านศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตามหานิยม เป็นเครื่องหอม เป็นสมุนไพร และเป็นอาหาร เชื่อกันว่าว่านหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ มีพลังในการปราบมารหรือภูตผีปีศาจ โดยเล่าว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ มีมารมาผจญ พระแม่ธรณีต้องบีบมวยผมเพื่อให้น้ำท่วมมาร พระพุทธเจ้าได้ประทานว่านหอมนี้ลงไปในน้ำเพื่อปราบมารนั้นด้วย ดังนั้น ในการขับไล่ผีของชาวบ้านอีสานในสมัยก่อนจะใช้ว่านหอมแช่น้ำให้คนไข้กิน และเชื่อกันว่าไม้ที่มีกลิ่นหอมเป็นไม้ของเทพ ว่านหอมจึงเป็นพืชสิริมงคลที่คนทางอีสานจะผสมใส่ลงในน้ำเพื่อสรงน้ำพระหรือสรงน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และใช้ผสมในพระเครื่อง เด่นในทางเมตตามหานิยม ว่านหอมยังใช้เป็นว่านมหาเสน่ห์เวลาชายหนุ่มจะไปจีบสาว นิยมนำว่านหอมมาปลุกเสกด้วยคาถา แล้วใช้เขียนคิ้ว ทาปาก และอาจหุงใส่น้ำมันหรือสีผึ้งเก็บไว้ใช้ทาปากเพื่อให้ได้รับความเมตตา ความรักใคร่เอ็นดู จากเพื่อนฝูง ญาติมิตร เจ้านาย หรือเพศตรงข้าม

ว่านหอม ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านหอมมงคล กล่าวคือในงานมงคลจะขาดว่านหอมไม่ได้ โดนเฉพาะในงานแต่งงาน จะมีสูตรเครื่องหอมที่ทำจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมชนิดต่างๆ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้คือ ว่านหอมมงคล คนทางอีสานใต้ เช่น ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ จัดพิธีการเล่นออ (แกลออ) ประมาณเดือนสาม เดือนสี่ มีการรำผีฟ้ากันอย่างสนุกสนาน มีแคน กลอง และฉิ่ง โดยจะมีขันน้ำใส่เปราะหอมแช่ไว้ พอร้องรำกันจนเหนื่อยแล้ว ก็จะดื่มน้ำในขันนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล บำรุงหัวใจ ขับลม และทำให้มีเรี่ยวแรง

ว่านหอม อาหารสุขภาพ

บำรุงกระเพาะอาหารและลำไส้

ใบของว่านหอมสามารถที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารได้ กินเป็นผักแกล้มมีกลิ่นหอม หรือหั่นเป็นฝอยใส่ผัดเผ็ดปลา ปลาไหล หัวนำมาตำใส่เครื่องแกง หรือนำมาหั่นเหมือนกระชายใส่ผัดเผ็ดต่างๆ ถ้าเป็นใบอ่อนจะใช้ทำหมกปลาและใส่แกงปลา

ว่านหอม

เครื่องหอม บำรุงผิวและผม

ว่านหอมเป็นเครื่องหอมมาแต่โบราณ นิยมใช้หุงน้ำมันว่านหอม เครื่องปรุงกระแจะจันทน์และอบร่ำประทินผิว ว่านหอมเป็นเครื่องสำอางในการบำรุงผมชั้นยอด ยาสระผมของคนอีสานจะมีการใช้ว่านหอม ผสมกับใบส้มโมง (ใบชะมวง) แน่งหอม (เร่วขน) เนียม ขมิ้น ต้มกับน้ำมวก (น้ำแช่ข้าวเหนียวก่อนที่จะนำไปนึ่ง) ใช้น้ำที่ได้ไปสระผมโดยไม่ต้องใช้ยาสระผมในท้องตลาดแต่อย่างใด ผมจะดกดำเป็นเงางามและมีกลิ่นหอมติดเส้นผม อันเป็นที่มาของตำนานนางผมหอมอันโด่งดังของเมืองเลย อีกทั้งว่านหอมยังเป็นยาแก้รังแคชั้นดี โดยโขลกทั้งหัวและใบคั้นเอาแต่น้ำใช้บำรุงผมกำจัดรังแค

ว่านหอม

แก้สิว ฝ้า รักษาผิวพรรณ

ว่านหอมยังใช้เป็นเครื่องสำอางประทินผิวแก้สิว ฝ้า จากการที่ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการเก็บรวบรวมภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เราทราบว่าผู้หญิงในแถบนี้นิยมฝานว่านหอมทาหน้าแก้สิว แก้ฝ้า ทำให้ผิวหน้าสดใส

ว่านหอม

ยาแก้ปวด แก้อักเสบ

เป็นยาแก้ปวดบวม ในสมัยก่อนถ้ามีอาการปวดบวม จะนำหัวว่านหอมมาโขลกหรือทุบใส่น้ำพอชุ่ม เอาผ้ามาชุบแล้วเอามาพันบริเวณที่ปวดบวม ซึ่งจากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า ว่านหอมมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งเปราะหอมเป็นพืชตระกูลขิง ข่า พืชตระกูลนี้มักจะมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ จึงนิยมใช้ทำลูกประคบหรือเคี่ยวกับน้ำมันไว้ทาแก้ปวดเมื่อย ซึ่งอาจจะใช้ว่านหอมเดี่ยวๆ หรือใช้ผสมกับสมุนไพรตัวอื่นก็ได้ เช่น ไพล ขมิ้น หรือว่านอื่นๆ เป็นต้น

ว่านหอม

ยาแก้ปวดหัว คลายเครียด บำรุงหัวใจ

การใช้เป็นยาสมุนไพรจะใช้ส่วนหัว เช่น เป็นยาแก้ปวดหัว คลายเครียด คนสมัยก่อนใช้ว่านหอมรักษาอาการปวดหัวดิบ (ปวดหัวตึบๆ ไม่ทราบสาเหตุ) หรือมีความเครียด จะโขลกทั้งหัวและใบใส่น้ำลงไปพอชุ่มเอาผ้าไปชุบ แล้วนำผ้าไปคลุมหัวไว้ (ซึ่งน่าจะเป็นการรักษาด้วยอโรมาเธอราปีแบบไทยๆ) หรือใช้หัวตำคั้นเอาน้ำผสมแป้งหรือผสมกับว่านหูเสือเป็นแป้งหรือดินสอพองทาที่ขมับแก้ปวดหัว รวมทั้งมีการผสมใส่ลงในยาหอมเพื่อบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ทั้งยังมีการแนะนำให้ใช้หัวว่านหอมต้มหรือชงกินเพื่อช่วยทำให้นอนหลับ คลายเครียด

ว่านหอม

ยาคลายเครียด แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง

หมอยาทุกภาคจะรู้ดีว่าว่านหอมถือเป็นยาขับลม แก้ปวดท้องชั้นยอด โดยการใช้หัวสดๆ คั้นน้ำหรือต้มกินก็ได้ จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า สารสกัดจากหัวเปราะหอม ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว บรรเทาอาการปวดท้องได้

ว่านหอม

ยาแก้หวัด คัดจมูก สำหรับเด็กเล็ก

หมอยาไทยในภาคกลางนิยมใช้ว่านหอม ซึ่งในภาคกลางมักจะเรียกว่า เปราะหอม เป็นยาแก้หวัดคัดจมูกในเด็กเล็ก โดยใช้โขลกสุมหัว (เอาไปไว้บนกระหม่อมเด็ก) แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก และยังเชื่อว่าเปราะหอมจะทำให้กระหม่อมปิดเร็วขึ้น

ว่านหอม

ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเปราะหอมพบว่า เปราะหอมมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดการอักเสบ ฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์ดูดกลืนแสง UV มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและรา เป็นต้น ทำให้ได้คิดว่าว่านหอมสามารถออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกมากมาย เช่น ครีมกันแดดจากเปราะหอม น้ำยาบ้วนปากเพื่อดับกลิ่นปากจากเปราะหอม เป็นต้น

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้พัฒนาว่านหอมเป็นเครื่องหอมใช้ในการประทินผิว เช่น ทำเป็นสบู่ก้อน “สบู่นางพญา” และผสมใส่ในผงขัดหน้า ใช้ประกอบในการนวดหน้าคลายเครียด ผสมลงในแป้งพัฟฟ์และแป้งฝุ่น ซึ่งเป็นเครื่องประทินผิว

จากคุณค่าทั้งทางการเป็นเครื่องหอม เป็นอาหาร เป็นยา ที่มีประโยชน์มากมายเป็นภูมิปัญญาไทยควรค่าแก่การสืบสาน ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้พัฒนาการผลิตต้นกล้าในเชิงอุตสาหกรรมจากการทำ Tissue culture โดยร่วมมือกับภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบันได้ปลูกไว้ที่ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ห้วยน้ำใส อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

ขอบคุณ คุณพรเทพ กาบบัวน้อย เลขที่ 257/12 ถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่กรุณาส่งข้อมูลการใช้ว่านหอม ในการแก้ปวดหัวดิบ แก้ปวดแข้งปวดขา มาให้ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ขอบคุณข้อมูลจาก www.abhaishop.com