สศก. โชว์ผล Zoning Agri-Map ช่วยเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้แก่เกษตรกร

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) เพื่อสนับสนุนบริหารจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) หรือเหมาะสมน้อย (S3) ให้ได้รับการปรับเปลี่ยนการผลิต ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และส่งเสริมสนับสนุน จูงใจ ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ตามความสมัครใจ ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินโครงการ ฯ จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก ซึ่งเป็นแผนที่ทางเลือกพืชเศรษฐกิจแสดงชั้นข้อมูลความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลายหน่วยงานร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อาทิ การถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนสำหรับการปรับเปลี่ยน เช่น พันธุ์ไม้ผล พันธุ์อ้อย เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ปลา ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ อาหารและอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงปลา รวมถึงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และเงินอุดหนุนปัจจัยการผลิตสำหรับปรับเปลี่ยนเป็นพืชอาหารสัตว์

รองเลขาธิการ สศก

สศก. ได้ประเมินผลการดำเนินโครงการ ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 63 จังหวัด พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 17,611 ราย ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม 133,758 ไร่ เป็นการเลี้ยงปลา พืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้า ข้าวโพด หม่อนไหม และพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงเกษตรผสมผสาน เช่น ผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ผล โดยในฤดูการผลิต ปี 2563/64 เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมอื่นข้างต้น ร้อยละ 37.53 ได้รับผลผลิตทั้งหมดแล้ว เช่น หญ้า อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนร้อยละ 30.96 ได้ผลผลิตบางส่วน อีกร้อยละ 31.51 ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากอยู่ในระหว่างรอการเก็บเกี่ยว หรือเป็นไม้ผลไม้ยืนต้นซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 93 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

จากการติดตาม พบว่า เกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปี ไปทำการเกษตรอื่น ๆ จะมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น (อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) จะได้ผลตอบแทนมากที่สุด รองลงมาคือ พืชอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม การจะปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าใด ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม องค์ความรู้ ของเกษตรกร และสภาพภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ เกิดผลตอบแทนสุทธิในภาพรวมของโครงการ (ไม่รวมไม้ผล ไม้ยืนต้น) คิดเป็นมูลค่า 56 ล้านบาท ซึ่งในปีต่อไป คาดว่า จะมีพื้นที่ได้รับผลผลิตพืชระยะสั้นเพิ่มขึ้นและมีผลตอบแทนสุทธิ 187 ล้านบาท โดยภาพรวมเกษตรกรมีความ พึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากมีทางเลือกในการผลิตเพิ่มจากการผลิตข้าวเพียงอย่างเดียว ได้ลองปรับเป็นการผลิตสินค้าอื่นที่ไม่เคยทำมาก่อน สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีความพึงพอใจในการดำเนินงาน เนื่องจากพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น และสามารถใช้น้ำในการทำเกษตรผสมผสานได้เมื่อได้รับผลผลิตแล้วช่วยลดรายจ่ายการบริโภคในครัวเรือนและค่าอาหารสัตว์อีกทั้งมีรายได้เพิ่ม โดยเกษตรกรต้องการให้มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับ หลังปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map