สวนไผ่ซางหม่น แปลงใหญ่ทำเงิน ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง

ผู้เขียนและทีมงานได้มีโอกาสขึ้นเหนือไปที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง อำเภองาว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปาง ประมาณ 80 กิโลเมตร หมายถึงในเขตของตัวอำเภองาว แต่สำหรับสวนไผ่ซางหม่น และไผ่หวาน ของ น้องเปา จะอยู่กึ่งกลาง ระหว่างตัวจังหวัดลำปางและอำเภอ คืออยู่ห่างจากอำเภองาว ประมาณ 25 กิโลเมตร คือตำบลบ้านหวด หมู่ที่ 5 สมัยแต่ก่อนนั้นในละแวกนี้เรียกว่าเป็นป่าดงดิบเลยก็ว่าได้ เพราะอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดลำปาง เกือบ 100 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดพะเยา ประมาณ 50 กิโลเมตร

น้องเปา หรือชื่อจริงว่า คุณสุสาณี นันท์ตา เธอเล่าให้ฟังว่า พ่อแม่ของเธอเป็นคนจังหวัดแพร่ อยู่ที่อำเภอร้องกวาง เธอได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนร้องกวางอนุสรณ์ ชั้น ม.3 แล้วต้องออกจากการเรียน ตามพ่อแม่มาทำไร่ข้าวโพดและค้าขายที่อำเภองาว อยู่ห่างจากจังหวัดแพร่ ประมาณ 140 กิโลเมตร น้องเปา เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (อายุ 34 ปี) เธอเล่าว่า ตอนอพยพมาทำไร่ข้าวโพด พ่อได้เช่าที่ดินเขา 10 ไร่ ทำพืชไร่ คือ ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ซึ่งค่าเช่าสมัยนั้นราคาไม่กี่บาท เป็นที่ดินติดถนนใหญ่

สมัยนี้เป็นถนนลาดยาง แต่ก่อนนั้น (20 กว่าปี) เป็นถนนลูกรัง มีฝุ่นแดง ที่ดินละแวกนี้จึงราคาไม่สูงเหมือนในปัจจุบัน ลุงประดิษฐ์ นันท์ตา พ่อของน้องเปา ได้รับการชักชวนจากญาติๆ มาทำไร่ข้าวโพด บริเวณพื้นที่เสื่อมโทรม พ่อของน้องเปาปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ทุกปี เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ปลูกข้าวโพดได้ปีละ 2 ครั้ง สมัยนั้นทางราชการไม่เข้มงวด ใครอยากปลูกพืช เกษตรกรก็จับจองเอาได้เลย

สวนไผ่ซางหม่น จำนวน 6 ไร่

เวลาผ่านไป 20 กว่าปี ตอนหลังทางราชการได้ออกเอกสารให้เป็นที่ดินเพื่อเกษตร คือ เอกสาร ส.ป.ก.4-01 จำนวน 20 ไร่ น้องเปาก็เลยชวนพ่อกับพี่ชายปลูกพืชยืนต้นแทนพืชไร่ อย่าง ข้าวโพด เพราะข้าวโพดนั้นได้เงินเร็วก็จริง แต่ต้นทุนในการปลูกก็เยอะ เช่น ค่าไถพรวนดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะค่าปุ๋ย (เคมี) รวมต้นทุนแล้วไม่ใช่น้อย

ถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีก็จะไม่ได้ฝักข้าวโพดมาขายได้ หักลบต้นทุนแล้ว ชาวไร่ข้าวโพดเหลือกำไรเพียง 10% หรือ 20% เท่านั้น ถ้าปีไหนข้าวโพดราคาถูกก็แทบไม่เหลืออะไร ชีวิตชาวไร่ข้าวโพดก็ต้องจมอยู่กับความยากจนตลอดไป แต่มีข้อดีอยู่ คือ กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้เขาอยู่ใกล้ป่า หาของป่ามาขายเป็นรายได้เสริม เช่น ไข่มดแดง เห็ด หน่อไม้ ฯลฯ ในฤดูฝน

น้องเปา เล่าว่า พ่อแม่ได้พาเธอมาเป็นเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด อาศัยข้าวโพดอย่างเดียวตายแน่ แม่ก็เลยเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้าน อาศัยขายได้เล็กๆ น้อยๆ เพราะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในป่า ต่อมาเธอได้แต่งงานกับข้าราชการกรมป่าไม้ มีตำแหน่งเป็นป่าไม้อำเภอ คือ คุณอภิชาติ อรรถพร

ปัจจุบัน คุณอภิชาติ อายุได้ 51 ปี กินตำแหน่งป่าไม้อำเภอ ที่อำเภอสบปราบ และอำเภอแจ้ห่ม คุณอภิชาติ เป็นคนภาคใต้ แต่ได้มาหลงรักสาวเหนือที่จังหวัดแพร่ คุณอภิชาติ จบที่โรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่ เป็นรุ่นก่อนสุดท้าย หลังจากนั้นโรงเรียนป่าไม้แพร่ถูกยุบไป และจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อได้คุณอภิชาติมาช่วยงานก็เลยทำให้งานเกษตรของน้องเปาสำเร็จก้าวหน้า

น้องเปา คุณสุสาณี นันท์ตา เจ้าของสวนไผ่ซางหม่น จังหวัดลำปาง

เธอจึงปลูกไผ่ซางหม่น ทั้งหมด 6 ไร่ ที่ 6 ไร่นี้แต่ก่อนเคยเช่าเขาทำข้าวโพด เป็นเอกสาร นส.3 ก ติดถนนใหญ่ เธอได้ซื้อเอาไว้เป็นของตนเอง 6 ไร่ ปลูกไผ่ซางหม่น 600-700 กอ ไผ่หวานช่อแฮ 2 ไร่ ไผ่บงหวาน 1 ไร่ เต็มพื้นที่…มีสระน้ำอยู่ตรงกลาง การขุดสระน้ำ เนื้อที่ 1 ไร่ ขุดโดยกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของราชการ ขุดให้ฟรี แต่ต้องรอคิวนานเป็นปี

ตอนนี้สวนของน้องเปามีไผ่ซางหม่น 600 กอ และไผ่หวาน ส่วนอีก 20 ไร่ เป็นสวนมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักใหญ่ ขายได้กิโลกรัมละ 25-30 ขายฝักสด แต่น้องเปาเอามาแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่มได้เพิ่มเป็นราคากิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป มะขามเปรี้ยวยักษ์ ปีหนึ่งก็เก็บได้ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ถ้าขายฝักสดได้กิโลกรัมละ 30 บาท ได้เงินปีละ 1.5 แสนบาท เป็นรายได้ประจำปี

ส่วนไผ่ซางหม่นที่ปลูกไว้ทั้งหมดก็แยกแขนงทำต้นพันธุ์จำหน่ายได้หลายหมื่นต้น โดยกรมป่าไม้ จะสั่งซื้อเพื่อเอาไปแจกให้ชาวบ้านปลูกบนดอยหัวโล้น เขตเมืองลำปาง จำนวนหลายหมื่นต้น ทำให้สวนไผ่ซางหม่น หรือไผ่ราชินีของน้องเปา มีรายได้จากการเพาะกิ่งพันธุ์ไผ่ซางหม่นเป็นรายได้ประจำวันของสวนไผ่ซางหม่น

หากต้องการกิ่งพันธุ์ไผ่ซางหม่น หรือกิ่งพันธุ์ไผ่หวานช่อแฮ ในราคาย่อมเยา ติดต่อน้องเปา หรือ คุณสุสาณี นันท์ตา ได้ที่ เลขที่ 113 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง โทร. 081-287-0089, 064-429-8814

เพาะชำกิ่งพันธุ์จำหน่าย

คุณสมบัติพิเศษของไผ่ซางหม่น คือ มีลำต้นสวยงาม ออกหน่อตลอดปี ให้ผลผลิตหลังจากลงปลูก 1 ปี เก็บหน่อขายได้ เมื่ออายุ 2 ปี ตัดลำขายได้ เมื่ออายุ 3 ปี ลำไผ่ชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ลำต้นแข็ง มีความหนา ลำตรงสวยงาม ราคาขายก็จะเพิ่มขึ้นอีก นิยมนำไปแปรรูปทำเครื่องเรือนระดับคุณภาพ นอกจากนี้ ลำต้นจะมีกิ่งแขนงไม่มาก ต้นและแปลงที่ปลูกจึงดูโปร่ง ส่วนหน่อให้รสชาติดี มีกรดยูริกน้อย

การปลูกและการดูแลไผ่ซางหม่นในภาพรวมนั้นง่าย เพราะทนแล้ง แมลงและศัตรูพืชไม่มากวนใจ ปลูกได้ทุกสภาพดิน ใช้ประโยชน์เป็นแนวกันลมไปพร้อมกับให้ความร่มรื่นและสวยงาม คุณสมบัติทั้งหมดเป็นลักษณะเด่นของไผ่ซางหม่น ซึ่งตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรได้ครบ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลาดยังเปิดกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

สวนไผ่หวานช่อแฮ ตัดหน่อขายได้ครั้งละ 80 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 60 บาท

เมื่อลำไผ่ซางหม่นเป็นที่ต้องการของตลาดด้วยคุณสมบัติโดดเด่นในหลายด้าน เกษตรกรจึงเกรงว่าจะขาดเสถียรภาพในเรื่องราคา เพราะระหว่าง พ.ศ. 2540-2545 เป็นช่วงเวลาที่ไผ่ซางหม่นเป็นที่ต้องการสูง เคยเกิดกระบวนการนายหน้าซื้อขาย เกษตรกรเองกลัวว่าจะกำหนดราคาเองไม่ได้ จึงมีความคิดที่รวมตัวกันเพื่อกำหนดราคา เพราะไม่ต้องการให้ราคาถูก กำหนดโดยนายหน้า เกษตรกรจึงตัดสินใจรวมกลุ่มกัน

เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ตัดลำขายอยู่แล้ว และเปิดพื้นที่เกษตรกรรมของตนเป็นตลาดกลางซื้อขายไผ่ตัดลำ จนเป็นศูนย์รวมของไผ่ตัดลำของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก เป็นตลาดที่ผู้ขายมาเจรจากับผู้ซื้อ ทำให้ทั้งผู้ขายกับผู้ซื้อทำธุรกิจซื้อขายไผ่ตัดลำเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันของเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ตัดลำเพื่อต้องการให้ราคาไผ่นิ่งมีเสถียรภาพแล้ว ทางชมรมไผ่ยังศึกษาทิศทางของตลาดว่ามีความต้องการไผ่ตัดลำปริมาณมากน้อยเพียงใด ตลาดต้องการไผ่สายพันธุ์อะไร มีคุณสมบัติอย่างไร ทำให้นอกจากปลูกไผ่ซางหม่น สมาชิกบางรายก็ปลูกไผ่หลายๆ ชนิดควบคู่ไปด้วย เช่น ไผ่กิมซุ่ง ซึ่งเป็นไผ่กินหน่อ ไผ่กาบแดง ใช้ทำกระบอกข้าวหลาม ไผ่ตงยักษ์ หรือไผ่หก ที่ให้ลำใหญ่ ยาว เนื้อหนา เหมาะไปทำเสาค้ำยัน เสาเรือนพัก หรือแปรรูปทำเครื่องเรือน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของการรวมลำไผ่กรณีมีการสั่งซื้อจำนวนมากๆ เช่น หลักหมื่นลำขึ้นไป ชมรมจะเป็นคนกลางรวบรวมจากเกษตรกรรายย่อย

น้องเปา โชว์หน่อไผ่หวานช่อแฮ

ต้นพันธุ์ ความต้องการสูง

นอกจากการตัดลำไผ่ขายแล้ว ชมรมไผ่ยังรวมตัวกันจำหน่ายกิ่งพันธุ์ไผ่โดยเฉพาะสายพันธุ์ซางหม่น เพราะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศสั่งซื้อกิ่งพันธุ์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของชมรมทำให้ไม่ทัน เพราะแต่ละรายมีจำหน่ายเพียงหลักร้อย แต่ยอดสั่งซื้อไปไกลถึงหลักพันหลักหมื่น เพราะการตอนกิ่งไผ่ขายก็ต้องใช้เวลาปลูกแยกแปลงต่างหากเพื่อขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ไผ่ซางหม่นทำได้ด้วยการตอน โดยต้องรอให้ไผ่ตั้งกอได้ปีครึ่งขึ้นไปจึงเริ่มตอนกิ่งได้ ถ้าอายุน้อยกิ่งตอนที่ได้จะไม่แข็งแรง การตอนกิ่งไผ่ เกษตรกรต้องเลือกกิ่งที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุด ตอนด้วยตุ้มขุยมะพร้าว มัดให้กิ่งที่เป็นปมตาไผ่ไว้ 20 วัน เป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นเมื่อรากเดินเต็มถุง จึงตัดถุงชำไว้อีก 30 วัน จะเห็นว่าการทำกิ่งไผ่เพื่อจำหน่ายเป็นกิ่งพันธุ์ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร

ดังนั้น การขยายกิ่งพันธุ์เพื่อจำหน่ายก็ต้องใช้พื้นที่ปลูกและใช้เวลาอยู่พอสมควร เกษตรกรรายย่อยจึงต้องขยันและลงแรงกันพอสมควร การขยายกิ่งพันธุ์จำหน่ายคราวละมากๆ จึงเป็นปัญหาไม่พอกับความต้องการของลูกค้า เมื่อลูกค้าต้องการคราวละมากๆ ชมรมจึงต้องเป็นจุดศูนย์รวมกิ่งพันธุ์ไผ่ซางหม่น

เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อจำนวนมาก ชมรมจะระดมกิ่งพันธุ์จากเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิก จะเห็นว่าภารกิจหลักๆ ของชมรมไผ่ คือทำหน้าที่รวบรวมไผ่ตัดลำและกิ่งไผ่จำหน่ายให้กับลูกค้า ควบคุมราคาให้เป็นไปตามกลไกของตลาด สร้างความพอใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย  นอกจากนี้ ยังคอยวิเคราะห์ทิศทางของตลาดในแต่ละปีว่าตลาดไม้ไผ่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกไผ่จะได้ปรับตัวให้ทันกับทิศทางการตลาด

ไผ่ซางหม่น อายุได้ 4 ปี พร้อมใช้งาน

ตลาดไผ่ขายลำ ที่จับต้องได้จริง

จากการเป็นศูนย์รวมไผ่ตัดลำและกิ่งพันธุ์แล้ว ชมรมไผ่ยังมีการปลูกไผ่ให้กับเกษตรกรที่สนใจจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกไผ่ตัดลำ พร้อมเป็นที่ปรึกษาดูแลสวนไผ่ของเกษตรกรรายใหม่ อีกทั้งยังจัดฝึกอบรมการปลูกไผ่ตัดลำให้กับเกษตรกรที่ต้องการปลูกไผ่เป็นอาชีพ ชมรมไผ่ยังมีกิจกรรมด้านการเพาะปลูก การจำหน่ายไผ่ตัดลำให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ตลาดยังเปิดกว้างมีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยจำแนกความความต้องการของตลาดไผ่ขายลำได้ ดังนี้

1.ตลาดที่ต้องการรับซื้อลำไผ่ ขนาดความยาว 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 นิ้ว ส่วนมากลำไผ่ขนาดนี้หน่วยงานภาครัฐจะซื้อเพื่อไปสร้างเป็นกำแพงป้องกันคลื่นกัดเซาะผิวดินตามป่าชายเลน หรือพื้นที่ชายหาดที่มีการกัดเซาะตลิ่งชายฝั่งทะเล ซึ่งหน่วยงานภาครัฐยังมีความต้องการอีกมาก

2.ตลาดต้องการลำไผ่ไปแปรรูปเป็นไม้เส้น หรือไม้แปรรูป ขนาดความยาว 30-40 เซนติเมตร หน้ากว้างและสูง 5×5 เซนติเมตร หรือตามแต่ลูกค้าจะสั่ง ไม้เส้นนี้จะนำไปเข้าเครื่องแปรรูปอีกต่อหนึ่ง เพื่อไปทำตะเกียบสำเร็จรูปที่ใช้ทั้งในประเทศ และยังส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งยังมีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด

นอกจากตะเกียบแล้ว ยังนำไปทำวัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ เช่น ไม้เสียบอาหารปิ้งย่าง ไม้จิ้มฟัน ก้านธูป เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการแปรรูปไม้เส้นนี้ยังมีความต้องการอีกมากเช่นกัน และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลำไม้ไผ่ที่ปกติตัดขายกันลำละ 40-50 บาท แต่ถ้านำไปแปรรูปเป็นไม้เส้นด้วยเครื่องแปรรูปแบบง่ายๆ จะเพิ่มมูลค่าจากลำละ 40 เป็นลำละ 150 บาท โดยไม้ไผ่เส้น ขายกิโลกรัมละ 30-35 บาท

ไม้ไผ่ที่นำไปแปรรูปที่เป็นไม้เส้นใช้ได้ตั้งแต่โคนต้นจนเกือบถึงยอด แทบไม่ต้องตัดส่วนเกินทิ้ง ทำให้ลำไผ่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าขายลำตามปกติถึง 3 เท่า ผลจากการแปรรูปจากลำไผ่เป็นไม้เส้นได้ไม่ยาก ทำให้ไผ่ตัดลำยิ่งขาดตลาดมากขึ้นไปอีก เพราะเกษตรกรเลือกปลูกแล้วแปรรูปจำหน่ายเอง

ราคาลำละ 100 บาท ความยาว 20 เมตร

3.ตลาดแปรรูปไม้ลำส่งออก การแปรรูปลำไผ่เพื่อส่งออกมีการผลิตกันที่จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยการนำลำไผ่มาตัดแต่ง ผ่านกระบวนการอบ และเคลือบยากันมด มอด ให้คงรูป คงคุณภาพ ส่งออกไปต่างประเทศที่มีความต้องการนำไผ่ลำไปสร้างเครื่องเรือนคุณภาพสูง โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน จากเดิมขายลำละ 40 บาท เมื่อผ่านกระบวนการตัดแต่งและอบให้คงสภาพจะกลายเป็นลำละ 450 บาท ซึ่งโรงงานแปรรูปลำไผ่ตัดแต่งให้มีคุณภาพก็ยังต้องการลำไผ่อีกมากเพื่อการส่งออก

4.ไผ่ตัดลำยังต้องการนำไปผลิตเครื่องเรือนในประเทศ รวมทั้งทำเครื่องใช้อื่นๆ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังตัดหน่อไว้กิน หรือจำหน่ายได้อีก แต่การตัดหน่อไผ่ซางหม่นขายเป็นรายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนปลูกไผ่ตัดลำขาย จึงไม่ค่อยสนใจที่จะตัดหน่อไผ่ซางหม่น แต่จะปล่อยให้โตแล้วตัดขายเป็นลำจะมีรายได้ดีกว่า