‘อคส.’ เล็งพลิกโฉมคลังสินค้า 3 จว. ถอดโมเดลฟาร์มโชคชัย-ตั้ง ดี.ซี. สินค้ารองรับ AEC

ประธานบอร์ด อคส. แง้มไอเดียพัฒนาคลังสินค้าต่างจังหวัด 3 แห่ง ต่อยอดธุรกิจชูคลังสระบุรีถอดแบบฟาร์มโชคชัย-คลังขอนแก่น เป็นศูนย์กลางสินค้ารับ เออีซี-คลังบัวใหญ่ เป็นศูนย์บริการด้านการเกษตร หลังตั้งไข่โครงการเอเชียทีค 2 คาดก่อสร้างปลายปี’60

พล.ต.ต. ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อคส.มีแผนจะพัฒนาพื้นที่คลังสินค้าในต่างจังหวัดอีก 3 แปลง เพื่อต่อยอดทำธุรกิจ โดยแห่งแรกคลังสินค้าทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีเนื้อที่ 5.97 ไร่ อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของเกษตรกร ภายใต้โครงการประชารัฐคล้ายกับฟาร์มโชคชัย เพื่อส่งเสริมในการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากปัจจุบันพื้นที่นี้เปิดให้เอกชนเช่าเหมาเป็นสถานที่จอดรถบรรทุกปูนซีเมนต์

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่คลังสินค้าบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 30.8 ไร่ อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนเป็นพื้นที่ให้บริการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เช่น ลานตาก, เครื่องนวด, เครื่องเก็บเกี่ยว คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท และการพัฒนาที่ดินในคลังสินค้าที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 18.25 ไร่ ให้เป็นคลังสินค้ารองรับการค้าการลงทุนในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพราะสามารถเชื่อมโยงการค้ากับ สปป.ลาว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เก็บข้าวสารของรัฐบาล ทั้งหมดนี้จะเห็นความชัดเจนหลังจากพัฒนาโครงการคลังสินค้า 1 ธนบุรี เป็นศูนย์การค้าคล้ายเอเชียทีค 2 สำเร็จแล้ว

พล.ต.ต. ไกรบุญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการเอเชียทีค 2 ว่า เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ทาง อคส.ได้ทำหนังสือว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาที่ดินผืนดังกล่าวแล้ว และมีกำหนดให้ที่ปรึกษาจัดทำแผนการพัฒนาศูนย์การค้าในพื้นที่ธนบุรี และส่งกลับให้ อคส.ภายใน 60 วัน นับจากทำสัญญา เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด อคส. ก่อนที่จะเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

เบื้องต้นที่ปรึกษาโครงการต้องจัดทำแผนพัฒนาศูนย์การค้าธนบุรี โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้สามารถนำไปสร้างรายได้หลักให้กับ อคส.ให้ได้ ต้องเป็นพื้นที่ที่จะเชื่อมโยงสินค้าให้กับชุมชน โอท็อป สินค้าเกษตรกร พื้นที่จำหน่ายสินค้า และร้านอาหาร รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

“การเดินหน้าศูนย์การค้าธนบุรีนี้ต้องการผลักดันให้เกิดโดยเร็ว ไม่ใช่จะไปแข่งขันกับเอกชน แต่ต้องการพัฒนาเป็นสถานที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีความแตกต่าง ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้อสินค้าเกษตร โอท็อป  หรือเข้ามาร่วมทำกิจกรรมให้ความรู้ทางด้านการเกษตร และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าประกอบกิจการค้า ซึ่งอาจจะคล้ายตลาดกลางบ้างในบางส่วน”

อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาโครงการจะต้องศึกษาด้วยว่า สินค้าที่จะนำเข้าไปขายนั้นควรจะเป็นสินค้าแบบไหน รูปแบบใด เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยว หรือมาจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ที่ศูนย์การค้ากำหนดไว้ เพื่อให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหลังจากนี้ อคส.จะติดตามความก้าวหน้าของโครงการทุกเดือน ก่อนที่จะเสนอรูปแบบที่สมบูรณ์กลับมาให้คณะกรรมการบอร์ดพิจารณา และคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างให้ได้ภายในปลายปี 2560 พร้อมกันนี้ที่ปรึกษาจะต้องนำเสนอรูปแบบของการประกาศภายใต้ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือ PPP เพื่อดึงดูดนักลงทุนด้วย

รายงานข่าวระบุว่า คลังสินค้า 1 ธนบุรี มีพื้นที่ 7,884 ตารางวา มูลค่าที่ดินประมาณ 1,206 ล้านบาท คิดจากราคาตลาดที่ดินอยู่ที่ 1.53 แสนบาท/ตารางวา ที่มีการประเมินไว้งบประมาณลงทุนคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000-5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากสามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวสำเร็จจะช่วยสร้างรายได้ให้องค์กรถึง 20 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ