เผยแพร่ |
---|
จากเหตุการณ์ต้นยางนาอายุกว่าร้อยปี เส้นถนนเชียงใหม่-ลำพูน นับ 10 ต้น ได้โค่นล้มทับทาง เสาไฟฟ้า และบ้านเรือนเสียหาย เนื่องจากเกิดฝนตกฟ้าคะนองอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อบ่ายวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เบื้องต้น ทีมโดรนจิตอาสาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำโดย อาจารย์ ดร. จักรพงษ์ ไชยวงศ์ อาจารย์ประจำคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้าบินโดรนบันทึกภาพมุมสูง พร้อมเก็บข้อมูลปัจจัยต่างๆ ประเมินความเสียหายให้กับทางจังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อาจารย์ ดร. จักรพงษ์ ไชยวงศ์ ให้ข้อมูลว่า “สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุปัจจัย หลายประเด็น ทั้งเรื่องของอายุของต้นไม้ซึ่งต้นยางที่โค่นล้มมีอายุมากกว่า 100 ปี ก็เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้สำหรับต้นไม้แก่ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคม บ้านเรือน การขยายถนนต่างๆ จากการสำรวจพบว่า ต้นยางนามีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 เมตร ไม่มีต้นไม้อื่นหรือสิ่งก่อสร้างอื่นช่วยลดแรงปะทะเมื่อมีลมแรง ระบบรากขาดความสมบูรณ์ ไม่มี ความสมดุล ไม่สามารถแผ่ขยายได้รอบทิศทางให้รับกับลำต้นที่สูงใหญ่ เนื่องจากฝั่งถนนมีการบดอัดแน่น ไม่มีช่องว่างให้รากสามารถ หาอาหารและน้ำได้ ประกอบกับลักษณะดินแถบนั้นได้รับอิทธิพลจากตะกอนลำน้ำเก่า มีอนุภาคทรายและทรายแป้งเป็นองค์ประกอบในสัดส่วนที่สูง เมื่อเกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้ดิน ขาดการยึดตัวกับรากที่มีอยู่น้อยและไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้นไม้โค่นล้มได้ง่ายสร้างความเสียหายให้เกิดกับบ้านเรือนในบริเวณนั้น ข้อมูลการสำรวจชุดนี้ ก็จะส่งให้กับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ประกอบการตัดสินในการหาแนวทางแก้ปัญหา และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมต่อไปในอนาคต”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายกสมาคมยางนา ขี้เหล็กสยาม กล่าวว่า “ถึงแม้อดีตกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้ถนนสายต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางอันซีนการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันมีต้นยางนาเหลือ 949 ต้น จากที่เคยมีอยู่ 2,000 ต้น ซึ่งหลายต้นมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี แต่การขยายเมือง ตามแนวถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เป็นโจทย์ที่ท้าทายของนักอนุรักษ์ ที่จะรักษาต้นยางนาอายุกว่า 100 ปี ควบคู่กับความปลอดภัยของคนที่อาศัยและสัญจรผ่านถนนเส้นนี้ จากเหตุการณ์ล่าสุด ต้นยางนานับ 10 ต้น ได้ล้มทับเส้นทางสัญจร บ้านเรือน ยิ่งสร้างความกังวลให้กับ
ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมยางนาฯ รวมถึงทีมงานหมอต้นไม้อาสา ซึ่งได้ทำงานร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพต้นยางนา และประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งได้เสนอแผนงานในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ คือ อบจ. ชม น่าจะได้เครื่องสแกนรากลำต้น Tree radar scan ตามมติที่ประชุมการป้องกันแก้ไขปัญหาต้นยางนาเร่งด่วน และจะต้องมีการตัดแต่ง ทอนยอด ลดความสูงของต้นยางนา ลงมา 1 ใน 4 ส่วนของความสูงตลอดสายทั้ง 900 กว่าต้น ในช่วงแรกจะเป็นโมเดลของการทอนยอด เสนอไปจำนวน 30 ต้น เป็นต้นที่เสี่ยงอยู่ข้างเคียงต้นที่ล้ม อาจจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้เพื่อบรรเทาความวิตกหวาดกลัวของชาวบ้าน แต่ส่วนที่เหลือควรรีบดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรหาแนวทางด้านประกันวินาศภัย เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบเหตุ จัดการด้านจราจร ขนส่ง ของพาหนะที่เข้าออกพื้นที่ถนนต้นยางนาด้วยการจำกัดน้ำหนัก จำกัดเวลา และเร่งดำเนินด้านวิศกรรมการทาง เปลี่ยนพื้นผิวถนนเป็นพื้นพรุนให้ระบบรากต้นยางนา ได้รับอากาศ น้ำธาตุอาหาร ต้นยางนาอยู่รอด คนปลอดภัย”
ในส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธีระ เหิมฮึก อาจารย์ประจำคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “โดยปกติต้นยางนาในธรรมชาติจะมีอายุเฉลี่ยได้ประมาณ 100-200 ปี ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นระบบรากแก้วจะผุพังและค่อยๆ สลายไป การหาอาหารก็ยาก ต้นไม้จะขาดความสมบูรณ์ เกิดการโค่นล้มในธรรมชาติได้เช่นกัน และถ้าต้นไม้ไม่ได้อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกับต้นไม้อื่นในธรรมชาติ หรือถูกรบกวนจากการพัฒนาพื้นที่ก็จะยิ่งส่งผลให้ต้นไม้มีอายุสั้นลง ดังนั้น ในมุมมองของนักนิเวศวิทยาป่าไม้ด้านวนศาสตร์ หากเราต้องการที่จะอนุรักษ์พันธุ์ไม้หรือบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นมาของต้นยางนาเหล่านี้ เสนอแนะว่า 1. ต้นยางนาเดิมควรมีการตัดแต่งกิ่ง (pruning) ให้ถูกหลักการ จัดทรงพุ่มให้ไม่รับแรงปะทะมาก เพื่อป้องกันลมพายุ และไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของยางนา และ 2. การเก็บผล (เมล็ด) ของต้นยางนาซึ่งได้มีการระบุหมายเลขประจำต้นที่ยังคงอยู่นำไปเพาะ พร้อมทั้งหาแหล่งปลูกแหล่งใหม่เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรม พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของต้นลูก-ต้นหลานยางนา จากต้นยางเส้นทางประวัติศาสตร์เดิม ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากต้นไม้ที่หมดอายุขัยและยังช่วยบันทึกเรื่องราวในอดีตปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องการสภาพแวดล้อมในปัจจุบันได้”
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง ทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน และหาลู่ทางในอนาคต ที่จะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการดำรงอยู่ของต้นยางนาทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป