โรงเรียนทัพราชวิทยา สอนเกษตรให้นักเรียน บ่มเพาะอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน

แม้วิกฤตโควิด-19 จะยังคงอยู่คู่ขนานไปกับการดำรงชีวิตของคนทุกที่ แต่สถานที่หนึ่งซึ่งจะขาดตอน ไม่มีความเคลื่อนไหวคงไม่ได้ คือ สถานศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้กับเยาวชน ให้ได้รับไว้เป็นรากฐานของการดำรงชีวิตในทุกช่วงอายุ

ครูสุวรรณี สุโทษา ครูสอนเกษตร ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ครูและนักเรียนจำเป็นต้องสื่อสารการเรียนการสอนทางออนไลน์ เป็นความโชคดีที่โรงเรียนทัพราชวิทยา ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย ทั้งยังมีระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มเข้ามาเป็นสายอาชีพให้กับนักเรียน เห็นได้ว่านักเรียนเกือบทั้งหมดอยู่ในวัยที่รับผิดชอบการเรียนด้วยตนเองได้ การเรียนการสอนออนไลน์ในวิชาในเชิงวิชาการ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีระบบ ส่วนการเรียนการสอนในวิชากิจกรรมที่ต้องปฏิบัติ เช่น การงานพื้นฐานอาชีพ หรือวิชาเศรษฐกิจพอเพียง มีนักเรียนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถปฏิบัติจริง

โรงเรือนเมล่อน
โรงเรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ

ครูสุวรรณี สุโทษา ครูสอนเกษตร ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 800 คน เด็กนักเรียนทุกคนได้ลงสัมผัสกับกิจกรรมเกษตรทุกกิจกรรมแน่นอน เพราะทุกระดับชั้นมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกษตร เช่น ระดับมัธยมศึกษา เป็นวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นวิชาเศรษฐกิจพอเพียง และในแต่ละวิชาก็มีวิชาที่เกี่ยวข้องการเกษตรรวมอยู่ด้วย

“โดยหลักแล้ว ทุกห้องเรียนจะได้เรียนเชิงวิชาการในห้อง และได้ลงแปลงในชั่วโมงเรียนทุกห้อง ซึ่งเด็กนักเรียนแต่ละห้องจัดแบ่งกลุ่มกันเพื่อดูแลกิจกรรมเกษตรแต่ละกิจกรรม โดยใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนและเย็นหลังเลิกเรียนลงแปลง แต่ละรอบการผลิตของกิจกรรม จะสลับสับเปลี่ยนไปยังนักเรียนห้องอื่นๆ ทำให้ทุกๆ ห้องได้ดูแลกิจกรรมเกษตรครบถ้วน แต่ทั้งนี้ จะมีพี่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 เป็นพี่คอยดูแลน้องๆ ในการทำกิจกรรมไปด้วย”

เด็กๆ หัดเพาะชำ

พื้นที่ทำเกษตรของโรงเรียนมีประมาณ 3 ไร่เศษ แบ่งเป็นโรงเรือนเมล่อน โรงเรือนแค็กตัส โรงเรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ แปลงผักสวนครัวและพืชอายุสั้น บ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลาดุกในกระชัง และการทำนา ซึ่งก่อนหน้านี้มีโรงเรือนเพาะเห็ดด้วย

กิจกรรมบางกิจกรรมไม่ได้เป็นกิจกรรมที่เริ่มต้นจากแนวคิดของนักเรียนเอง แต่เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่มีจิตสาธารณะให้ความช่วยเหลือในส่วนของเมล็ดพันธุ์และงบประมาณเฉพาะด้าน เช่น โรงเรือนแค็กตัส และโรงเรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งต่อเนื่องมาจากโครงการธนาคารต้นไม้ แต่ก็เป็นกิจกรรมที่นักเรียนให้ความสนใจมาก เพราะแค็กตัส และไม้ดอกไม้ประดับอื่นในเรือนเพาะชำ ทำให้เด็กนักเรียนได้ฝึกการขยายพันธุ์ที่มีความแตกต่างจากพืชทั่วไป และยังนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียนระหว่างเรียน

กิจกรรมในวิชาเรียนเมื่อลงแปลง

สำหรับโรงเรือนเมล่อน เกิดขึ้นเนื่องจากหมู่บ้านที่ตั้งของโรงเรียนมีศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการสนับสนุนด้านวิทยากรและการศึกษาดูงาน เด็กนักเรียนเคยเห็นการทำโรงเรือนเมล่อนบ้าง จึงต่อยอดด้วยการทำโรงเรือนเมล่อน ศึกษาและทดลองปลูก เมื่อได้ผลผลิตก็นำไปจำหน่าย

“การขยายพันธุ์แค็กตัสและไม้ดอกไม้ประดับบางชนิด เราได้วิทยากรจากศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้านมาสอนให้ ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมกัน กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่มีนักเรียนให้ความสนใจมาก นักเรียนบางคนถึงกับเพาะพันธุ์เองที่บ้านและขายสร้างรายได้ให้กับตนเองด้วย”

ศึกษาการเพาะแค็กตัส
ทำนาปีละครั้ง

การทำนา เป็นกิจกรรมประจำปี ที่ให้นักเรียนได้ทดลองปฏิบัติเองทุกกระบวนการ นับตั้งแต่การไถนา ดำนา ไปจนถึงการเกี่ยวข้าว ฟัดข้าว และนำไปจำหน่าย

ผลผลิตที่ได้จากแปลงผักสวนครัว พืชอายุสั้น เช่น ผักสลัด ถั่วงอก ผักบุ้ง เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว นักเรียนจะนำไปจำหน่ายให้กับแม่ค้าในโรงอาหารของโรงเรียนก่อน จากนั้นจะนำไปจำหน่ายยังตลาดนัดชุมชนของหมู่บ้าน ที่มีทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ของเดือน นอกจากนี้ เด็กนักเรียนยังรวมกลุ่มกันสร้างเฟซบุ๊กสำหรับจำหน่ายแค็กตัสและไม้ดอกไม้ประดับออนไลน์

ทุกครั้งที่เด็กนักเรียนนำผลผลิตไปจำหน่าย แต่ละกลุ่มจะแบ่งรายได้เก็บไว้เป็นทุน ส่วนกำไรแบ่งปันไปตามการทำหน้าที่ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเด็กนักเรียนจะนำรายได้ที่ได้รับจากการจำหน่ายผลผลิตฝากธนาคารโรงเรียน

ถั่วงอก เพาะขายให้กับแม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวในโรงเรียน

ครูสุวรรณี บอกด้วยว่า กิจกรรมเกษตรทั้งหมด นักเรียนได้ลงมือทำและได้กำไรเป็นรายได้เสริมระหว่างเรียน ซึ่งผลพวงจากการได้วิชาความรู้ เปรียบเสมือนอาชีพติดตัวไป นักเรียนยังได้ฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัยในการดำรงชีวิตด้วย

เมื่อถามถึง วัยของเด็กนักเรียนที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต (วัยรุ่น) มีการต่อต้านการทำเกษตรไหม ครูสุวรรณี ตอบได้ทันทีว่า ด้วยวัยของเด็กนักเรียน เมื่อให้ได้ลงมือทำจริง ไม่ได้เป็นการบังคับ สังเกตได้ว่าเด็กนักเรียนทำด้วยความสมัครใจ และเสมือนว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมธรรมชาติที่สามารถสอนเด็กได้โดยไม่ต้องฝืนใจ

ทำก้อนเชื้อเห็ด เมื่อครั้งยังทำโรงเรือนเห็ด

กิจกรรมทุกกิจกรรมจะกระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป

หากต้องการส่งเสริมกิจกรรมเกษตรให้กับเด็กนักเรียนไว้เป็นอาชีพติดตัว สามารถติดต่อสอบถามเพื่อส่งเสริมกิจกรรมได้ที่ โรงเรียนทัพราชวิทยา ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โทรศัพท์ 037-247-898

ขายผักในตลาดชุมชน
ต้นไม้ที่เพาะขยายพันธุ์ ก็นำมาขายได้เช่นกัน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2564