หนุ่มนักข่าว สลัดคราบสื่อ กลับบ้านเกิด พลิกผืนดิน ทำ “โคก หนอง นา” สร้างรายได้พอเพียง

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ก่อนกระแสความนิยมการเสพสื่อผ่านออนไลน์จะครอบคลุมเป็นวงกว้างไปทุกวงการ คุณประมวน กองน้อย หนุ่มหน้ามนคนมหาสารคาม เป็นผู้หนึ่งที่มีภูมิลำเนามาจากครอบครัวเกษตรกรรม แต่เจ้าตัวไม่เคยจับงานเกษตรเป็นชิ้นเป็นอันจริงจัง เพราะมีความถนัดในงานเขียนและรักในสายอาชีพผู้สื่อข่าวมากกว่า

สลัดคราบนักข่าว เป็นเกษตรกรเต็มตัว

หลายปีทีเดียวก่อนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น คุณประมวนตัดสินใจบ่ายหน้ากลับบ้านเกิด เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวลง และตั้งใจทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการเปิดร้านสะดวกซื้อ ผ่านไป 1 ปี ความมั่นคงทางรายได้มีไม่มาก จึงหวนกลับไปทำงานสายอาชีพที่ถนัดอีกครั้งในตัวจังหวัดมหาสารคาม แต่เมื่อบวกลบรายได้และค่าใช้จ่ายแล้ว เงินเดือนที่ได้รับแทบไม่เหลืออะไร

ท้ายที่สุด สิ่งที่คุณประมวนคิดได้คือ การกลับไปสู่รากฐานและตัวตนของบรรพบุรุษ เขาซื้อรถไถนาหวังรับจ้างและช่วยพ่อทำนาเท่าที่พอจะทำได้

แซนด์วิชปลา ลดต้นทุนอาหารปลา

ด้วยความเป็นคนไม่หยุดนิ่ง เมื่อมีเปิดรับสมัครสอบบุคคลเข้ารับการอบรมโครงการโคกหนองนาตามแนวทางพระราชดำริ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและเผยแพร่กิจกรรมของ โคก หนอง นา โมเดล ในนามของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จึงสมัครและครั้งนั้นทำให้คุณประมวนสอบได้ลำดับที่ 1

คุณประมวนเข้ารับการอบรมที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นระยะเวลา 5 วัน 4 คืน พร้อมๆ กับเพื่อนที่สอบเข้ารับการอบรมด้วยกันอีก 7 คน

แซนด์วิชปลา วางกลางบ่อน้ำ

“ผมไม่ได้คิดอะไรมาก เห็นว่ามีสอบคิดว่า ถ้าสอบได้ก็จะได้ทำงานใกล้บ้าน ที่ทำการห่างไปเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น แต่พอไปอบรมที่โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ผมได้เรียนรู้หลายอย่างมาก เช่น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำปุ๋ยหมัก การห่มดิน การบำรุงรักษาดิน การอนุรักษ์น้ำ การดูแลสิ่งแวดล้อม และอีกมาก ยิ่งตอนนี้ภาวะโรคระบาดโควิด-19 โครงการนี้สอนให้เราอยู่ในพื้นที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกไปไหน เพราะเราสามารถทำทุกอย่างได้ในพื้นที่และบริเวณบ้านของเรา เพราะเราปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก”

การเข้ารับการอบรมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ คือการรับความรู้แล้วนำไปเผยแพร่ ส่งต่อ ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชน และครัวเรือนที่สนใจ แต่เมื่อคุณประมวนได้เข้าไปศึกษาด้วยตัวเอง เขารู้ทันทีว่า นี่คือสิ่งที่เขาตามหามาโดยตลอด

คุณประมวนสมัครเข้าร่วมโครงการโคกหนองนาตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อลงมือทำด้วยตนเอง แม้เพื่อนที่สอบคัดเลือกด้วยกันอีก 7 คน ไม่มีใครสนใจก็ตาม

จากที่ต้องทำหน้าที่เพียงการเผยแพร่ ส่งต่อ ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ เป็นการลงมือทำด้วยตนเอง แต่หน้าที่เบื้องต้นนั้นก็ละทิ้งไม่ได้ เสมือนการเรียนรู้ด้วยของจริง

พ่อแบ่งพื้นที่ให้คุณประมวน เริ่มทำโครงการโคกหนองนาตามแนวทางพระราชดำริ 1 ไร่ เบื้องต้นได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดมหาสารคาม ในการขุดบ่อน้ำในพื้นที่ จำนวน 2 บ่อ ขุดคลองไส้ไก่ และทำแปลงนา

“ที่ดิน 1 ไร่ ไม่มีอะไรเลยครับ เริ่มขุดบ่อน้ำ 2 บ่อ มีคลองไส้ไก่เชื่อม ดินแถวนี้เป็นดินร่วนปนทราย ต้องเริ่มบำรุงดินใหม่ ผมใช้ฟางคลุมทุกที่ที่เป็นดิน โดยใช้ฟางเก่าจากแปลงนาที่มีอยู่ นำการเรียนรู้เรื่องของการปลูกป่า 5 ระดับมาใช้ และเริ่มลงมือปลูกพืชระยะสั้น”

การขุดบ่อน้ำ มีหลักการสร้างแหล่งน้ำในภาคอีสานว่า ในทุกวันปริมาณน้ำในแหล่งน้ำจะลดลงวันละ 1 เซนติเมตร ตลอดปีปริมาณน้ำจะลดลงโดยเฉลี่ยเกือบ 4 เมตร ดังนั้น แหล่งน้ำแต่ละแหล่งต้องมีความลึกไม่น้อยกว่า 4 เมตร หรือลึก 4-7 เมตร ก่อนขุดบ่อให้ดูทางน้ำไหลผ่านเพื่อรองรับน้ำธรรมชาติ (น้ำฝน) หรือหากมีตาน้ำก็จะมีน้ำธรรมชาติผุดขึ้นมา

การปลูกป่า 5 ระดับ ได้แก่ ไม้สูง เช่น สัก ยางนา มีไว้เสมือนเป็นเงินออม กว่าไม้สูงจะเจริญเติบโตใช้เวลานาน ซึ่งคุณประมวนเลือกปลูกยางนา เพราะต้นยางนาเมื่อโตขึ้นจะเป็นต้นตอของการเพาะเห็ดระโงกได้

ไม้กลาง กลุ่มไม้ผล คุณประมวนเลือกปลูกที่ชอบกิน เช่น มะม่วง ลำไย มังคุด เงาะ ขนุน ปลูกอย่างละจำนวนไม่มาก เป็นแปลงผสมผสาน เพราะพื้นที่ไม่มาก กิ่งที่ตัดแต่งออกนำไปทำฟืนได้ด้วย

ไม้เตี้ย จำพวกพืชอายุสั้น ให้ผลผลิตเร็ว เช่น มะเขือ แตงกวา พริก ข้าวโพด

ไม้เรี่ยดิน อาทิ ฟักทอง บวบ

และไม้กินหัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ มันแกว เป็นต้น

ถังหมักสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

“ผมแบ่งโซนปลูก แต่เพราะพื้นที่น้อยจึงปลูกในลักษณะของผสมผสาน บริเวณคันนาผมปลูกถั่วฝักยาว อีกด้านของคันนาทำโดมขึ้นแล้วปลูกบวบ น้ำเต้า บวบหอม ถั่วขอ รอบขอบบ่อผมปลูกฝรั่งกิมจู ทุกๆ พื้นที่ที่เป็นดินผมทำประโยชน์ได้หมด หากเป็นพื้นที่ว่างระหว่างต้นไม้ ผมจะนำฟางมาคลุมดินไว้ เพื่อให้ดินเก็บความชื้น”

คุณประมวนเริ่มเรียนรู้การปลูกพืชแต่ละชนิดไปพร้อมๆ กับการลงปลูก ระยะแรกมีตายบ้าง แต่ทั้งหมดคือประสบการณ์ที่ก่อร่างสร้างเป็น โคก หนอง นา โมเดล

ไก่พื้นบ้าน 30 ตัว

คุณประมวนนำผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ 5 วัน 4 คืน ที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ มาใช้ได้ทั้งหมด และไม่ลืมทำหน้าที่ของนักพัฒนาต้นแบบ ที่ต้องออกไปพบปะครัวเรือนในชุมชน ถ่ายทอดความรู้ที่อบรมมาให้กับครัวเรือนต้นแบบในพื้นที่ที่รับผิดชอบ นอกเหนือจากการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปให้กับเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบแล้ว คุณประมวนยังได้รับความรู้ในมุมของเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบบางประการกลับมา เป็นการแลกเปลี่ยน

นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มเข้ารับการอบรมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ คุณประมวนไม่ได้นิ่งเฉย เขาลงมือทันที แต่เมื่อเริ่มจากผืนดินโล้นๆ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูและก่อร่าง

เครื่องตัดหญ้าไม่ต้องใช้น้ำมัน

“กว่าผมจะได้ปลูกต้นไม้จริงๆ ราวเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา จริงๆ แล้วผมแทบไม่ได้ลงทุนอะไรเลย แม้กระทั่งพันธุ์ไม้ เพราะการที่ผมทำหน้าที่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เดินเข้าไปถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับเกษตรกรแต่ละครัวเรือน ทำให้ผมได้รับความรู้ในอีกมุมของเกษตรกรกลับมา ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้ที่มีซึ่งกันและกัน ทำให้ต้นทุนของการเริ่มทำ โคก หนอง นา โมเดล ของผมแทบไม่มี”

บ่อน้ำ 2 บ่อ คุณประมวนลงทุนซื้อปลานิล ปลาหมอ และปลาตะเพียน มาลงบ่อไว้ ระยะแรกต้องซื้อหัวอาหารมาเลี้ยงปลา แต่ละเดือนต้องหมดเงินไปกับหัวอาหารเลี้ยงปลาสัปดาห์ละ 80 บาท เมื่อศึกษาพบว่า แหนแดงเป็นพืชที่มีโปรตีนสำหรับสัตว์กินพืชที่ดี จึงลงทุนซื้อแหนแดงมาในราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม แบ่งให้ปลากินและเพาะขยายพันธุ์ไว้เอง ทำให้ปัจจุบันไม่ต้องเสียเงินซื้อหัวอาหาร ทั้งยังมีรายได้เพิ่มจากการขยายพันธุ์และแบ่งขายแหนแดงออกไป

ขยายพันธุ์แหนแดงเอง เอาไว้เป็นอาหารปลา

นอกจากนี้ คุณประมวนยังริเริ่มทำแซนด์วิชปลา เป็นการให้อาหารปลาโดยการนำไม้ไผ่เฉวียนสานเข้าหากัน นำฟางวางลงไปชั้นแรกสลับกับขี้วัวขี้ควาย น้ำหมัก สลับไปเรื่อยๆ หลายๆ ชั้น แล้วปักไว้กลางบ่อ เมื่อฟางเน่าเปื่อยจะเกิดไรแดง หนอน เป็นอาหารปลา เมื่อใกล้หมดก็เติมแซนด์วิชปลาเข้าไปใหม่ ทำอย่างนี้วนไป เป็นการลดต้นทุนที่ดี

ปัญหาโรคและแมลง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งโดยรอบมีการใช้สารเคมี ยิ่งทำให้พื้นที่ปลอดเคมีถูกโจมตีได้ง่าย แต่คุณประมวนก็เลือกใช้วิธีทำน้ำหมักและสารชีวภาพกำจัดแมลงจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในครัวเรือน เช่น น้ำปลา กะปิ พริก ไข่ ผงชูรส เป็นต้น

แหนแดง ขยายพันธุ์จำหน่ายได้

ในพื้นที่ 1 ไร่ ยังมีทั้งที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์รวมอยู่ด้วย ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ มีทั้งไก่พื้นบ้าน 30 ตัว วัว 2 ตัว และควาย 4 ตัว

จากวันที่ลงปลูกพืชในเดือนมิถุนายน ถึงวันนี้ คุณประมวนมีรายได้จากพืชอายุสั้นเพียงอย่างเดียว ตลอด 3 เดือน จนถึงเดือนกันยายนที่จดบันทึกไว้ มีรายได้เข้าครัวเรือนเกือบหมื่นบาท หากนับระยะเวลาอาจจะดูว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่นี่เป็นเพียงพืชกลุ่มเดียวที่สร้างรายได้ ซึ่งยังมีพืชอีกหลายชนิดที่จะผลิดอกออกผล เปลี่ยนเป็นเม็ดเงินอีกมาก และประเมินว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า รายได้ต่อวันหลักพันบาทแน่นอน

ยิ่งฤดูฝนเช่นนี้ ความเป็นคนใฝ่รู้ของคุณประมวน ทำให้เขาลองเจาะไม้เนื้อเบา ใส่เชื้อเห็ดขอนขาวเข้าไป ไม่นานก็ได้เห็ดขอนขาวเป็นอาหารและนำไปจำหน่ายได้

คันนาทองคำ

ทุกอย่างที่คุณประมวนได้รับการอบรมมาและศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง คุณประมวนพร้อมถ่ายทอดให้กับครัวเรือนต้นแบบและผู้ที่สนใจ โคก หนอง นา โมเดล เพราะเขารู้ดีว่า เกษตรแบบพอเพียงที่ดำเนินอยู่นี้ให้สิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตเพียงใด

“การทำเกษตรเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ปลูกแล้วก็แบ่งปัน เหลือค่อยจำหน่าย และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ เมื่อก่อนผมไม่เคยชอบเกษตร เดี๋ยวนี้ชอบมากและสนุกกับมัน ใครที่บอกว่าทำเกษตรแล้วไม่รวย นั่นเพราะไม่รู้จักการลดต้นทุน และหัวใจของการทำการเกษตรคือ ความตั้งใจ ความขยัน ถ้าไม่มีเราจะไม่ประสบความสำเร็จ”

ด้วยความมุ่งมั่นของคุณประมวน จากปีแรกที่กลับบ้านเกิด คุณประมวนกลายเป็นคนเงียบๆ มีเรื่องราวการใช้ชีวิตผ่านโซเชียลให้คนรู้จักได้เห็นหน้าบ้างไม่มากนัก แต่ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา รอยยิ้มของคุณประมวนมีมาให้เห็นหน้าเฟซบุ๊กพร้อมๆ กับผลผลิตที่ได้จากผืนดิน 1 ไร่ เกือบทุกวัน เป็นรอยยิ้มที่แสดงให้เห็นถึงความสุขข้างในใจ

ปัจจุบัน นอกเหนือจากเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแล้ว ความตั้งใจใฝ่รู้ที่คุณประมวนมี ยังทำให้ผืนดินที่ปลุกปั้นเป็นแปลงต้นแบบ และตัวคุณประมวนเองทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับผู้สนใจศึกษา โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดมหาสารคาม นำผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานยังแปลงของคุณประมวนด้วย

ภาพมุมสูง โคก หนอง นา โมเดล

คุณประมวนยินดีและดีใจที่ได้ทำหน้าที่เกษตรกรเต็มตัว แม้จะไม่เคยสัมผัสชีวิตเกษตรกรมาก่อนก็ตาม เขาบอกว่า ยินดีต้อนรับทุกท่านหากต้องการไปเยือน โคก หนอง นา โมเดล ของเขา หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ภายใต้ชื่อ ไร่สลิลทิพย์ ตั้งอยู่เลขที่ 85 หมู่ที่ 3 บ้านเสือกินวัว ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม หรือโทรศัพท์พูดคุยกันได้ที่ 086-218-2199

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2564