เผยแพร่ |
---|
โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial หรือ OPOAI (โอ-ปอย) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นโครงการที่เกิดจากความพยายามของภาครัฐที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 มาปรับใช้นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ โดยดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องการ ก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ที่จะสร้างความมั่นคั่งยั่งยืนให้กับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการ OPOAI ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่เยี่ยมสถานประกอบการภาคกลาง 2 แห่งประกอบด้วย
- เข้าเยี่ยม บริษัท พงษ์-ศราแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 39/1 หมู่ 6 ต.สามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม ประกอบกิจการประเภทแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ เช่น ลูกชิ้นปิ้ง
- เข้าเยี่ยม บริษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) ตั้งอยู่เลขที่ 336 หมู่ 6 ถ.สุรศักดิ์ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกอบกิจการประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจากจระเข้
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการโอ-ปอย ได้จัดทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแผนงานพัฒนาที่ครอบคลุมตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) ใน 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.แผนงานการบริการจัดการโลจิสติกส์ 2.แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.แผนการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4.แผนการลดต้นทุนพลังงาน 5.แผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด 7.แผนการบริหารจัดการด้านการเงิน และ 8.แผนการจัดการสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งการทำงานของทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อดูว่าสมควรที่เข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด เมื่อได้ข้อสรุปทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผลพร้อมทั้งคำปรึกษาเป็นระยะๆ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยประมาณ 4-6 เดือนจึงจะเสร็จสิ้นโครงการ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2259 ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการในระยะเวลา 1 ปี สามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สถานประกอบการโดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 326 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนา 31.6 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 10.32 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 135 ราย เฉลี่ยได้แล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ยรายละ 2.41 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2559 สามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถานประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 4,455 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับ 354.6 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 12.56 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 1,334 ราย เฉลี่ยได้แล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ย 3.34 ล้านบาท
นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่ทางสถานประกอบการได้รับโดยตรงที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือ ได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสถานประกอบการเอง ว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไมว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การบริหารงาน และอื่นๆ ที่บางครั้งสถานประกอบการเอง อาจจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องนั้นๆ นอกจากนี้ยังได้รับการพัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องนั้นเป็นการเฉพาะจุดจริงๆ
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 มีสถานประกอบการ sMEs อุตสาหกรรมแปรรุปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 171 รายจำนวนแผนงาน 260 แผนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างตรวจติดตามการดำเนินโครงการ โดยในวันนี้ได้มีการเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ บริษัท พงษ์-ศราแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จังหวัดนครปฐม และบรัษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) จำกัด จังหวัดชลบุรี ทั้ง 2 รายเป็นสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปี 2560 และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำองคืความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม