อธิบดี พช.มั่นใจ เศรษฐกิจฐานรากกำลังฟื้นตัว เผย “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี” ปี 2564 ผลตอบรับดีมาก

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บอกเล่าถึง จัดงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี” ปี 2564 ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย การส่งเสริมอาชีพการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพที่เป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพฯ และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย จึงได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน (พช.)  ซึ่งรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ดำเนินการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพควบคู่ไปกับสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

สำหรับความพิเศษในการจัดงานของปีนี้ เนื่องจากว่าเรามีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้คน ออกมาจับจ่ายใช้สอยรวมกลุ่มพบปะกันได้ลำบาก มีมาตรการควบคุมเข้มงวด ปีนี้เราเลยได้จัดงานในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) เป็นครั้งแรก โดยนำระบบออนไลน์ หรือ Virtual Event หรือที่เราเรียกว่ารูปแบบ  เสมือนจริง ก็คือผู้ที่มีความสนใจ สามารถ ที่จะเลือกชมสินค้าซื้อสินค้าได้ และสั่งได้ทันที และการจัดงานแบบออฟไลน์ หรือ On Site ซึ่งเป็นการจัดงานในห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง คือ ที่ เมกา บางนา / ไอคอนสยาม / เจเจ มอลล์ ทั้ง3 จุด รวมกันแล้วมากกว่า 200 บูท ที่มาออกงาน ตรงจุดนี้เองเป็นลักษณะพิเศษของปีนี้ที่มีการจัดแบบคู่ขนาน เพื่อให้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันมากขึ้น

อธิบดี พช.เผยว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาคนไทย ประการต่อมาเราอยากนำผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ทุกคนรู้จักกันดีแล้วเป็นแบรนด์ที่ติดตลาด ผู้คนจดจำได้ ออกมาจัดจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งผลตอบรับถือว่าดีมาก ต้องเรียนว่า ถ้าพูดถึง OTOP พูดถึงงานศิลปาชีพ เป็นงานที่ผู้คน ต่างเฝ้ารอ ประชาชนหลายคนเขาถามว่าเมื่อไหร่จะจัดอีก จะมีกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ เขาจะจดจำได้ว่าจะมีงานทุกช่วงกลางปีและช่วงปลายปี แต่ว่าพอเกิดเหตุการณ์โควิดขึ้นมา คนก็ยังตั้งตารออยู่  เราจึงปรับให้มีการจัดในรูปแบบออนไลน์เนื่องจากเป็นครั้งแรก หลังจากนี้เราก็จะมีการประเมินและถอดบทเรียนเพื่อพัฒนารูปแบบให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในโอกาสถัดไป

จากปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าสินค้า OTOP ยังคงเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของประชาชน และทำให้ผู้ประกอบการได้รับฟังความคิดเห็นของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อผู้บริโภคต่อไปด้วย สำหรับในส่วนของออนไลน์  ที่เป็นช่องทางที่กรมฯ ได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเรามีสินค้าให้ได้เลือกกว่า 1,800 ร้านค้า รวมกว่า 10,000 รายการ  นอกจากนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ผ่านตลาดออนไลน์  ซึ่งเป็นช่องทางที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน  นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการจำหน่ายสินค้า OTOP บนแพลตฟอร์มออนไลน์  ที่ดีมาก

อธิบดี พช. เผยความในใจว่า ผมอยากเห็นพี่น้องประชาชนที่ระดับฐานราก มีรอยยิ้มจากการที่เขาได้มีโอกาสได้ค้าขาย มีรอยยิ้มจากการที่เขาเริ่มมีรายได้มากขึ้น นี่คือภาพที่ผมอยากเห็นในส่วนผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผมก็อยากเห็นพี่น้องประชาชนทั่วไป จับจ่ายใช้สอยได้มีโอกาสที่จะเลือกซื้อสินค้า มีความพึงพอใจและได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ  ผมเองได้มีโอกาสเดินทางไปพบ และให้กำลังใจกับชาวบ้านด้วยตัวเองหลายแห่งได้รับเสียงสะท้อน บอกว่าขอบคุณที่จัดโครงการลักษณะนี้ขึ้นมา เนื่องจากว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเขาเพราะว่า 1 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต่างได้รับผลกระทบกันหมด พอมีโครงการนี้ก็เลยได้มีการนำผลผลิตตัวเองออกมาจำหน่ายตรงนี้ผมคิดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างดียิ่ง

สำหรับงานของศูนย์ศิลปาชีพและงาน OTOP ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะต้องเข้าใจว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด เศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบอย่างมาก ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนการค้าขาย การจับจ่ายใช้สอย แม้กระทั่งการเดินทางก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก พอมีโครงการนี้ขึ้นมาจึงเป็นการกระตุ้น เศรษฐกิจฐานราก ได้อย่างมาก และสำหรับสถานการณ์โควิด ที่จะเริ่มคลี่คลาย ผมเองเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในการที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเริ่มจะดีขึ้น ผมอยากจะเรียนว่า ตลอดเวลาที่เราเจอสถานการณ์ทุกคนได้รับผลกระทบกันทั้งหมด แต่กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบหลักๆก็คือ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก พวกเขาจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ และจะเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่จะฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้น กรมการพัฒนาชุมชน และ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงรัฐบาล ได้มีหลายโครงการที่จะช่วยดูแล และขับเคลื่อนในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ามีผลดีและจะทำให้พวกเขาฟื้นตัวขึ้นมาได้ จึงมั่นใจว่าหลังจากนี้ไปจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

ขณะเดียวกัน พช.เรายังคงให้ความสำคัญกับการ ยกระดับและพัฒนาทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ และตัวผู้ประกอบการ โดยเฉพาะทักษะด้าน การตลาดออนไลน์  เพราะต้องยอมรับว่า โลกในยุคหลังโควิด  เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ดังนั้น กรมฯ ต้องสร้างให้ผู้ประกอบการ มีศักยภาพ เพียงพอที่จะมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ คือโอกาสอย่างไร ต้องตีโจทย์ให้แตกเพราะไลฟ์สไตล์คนเริ่มเปลี่ยน จะผลิตสินค้าในรูปแบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอ  สินค้าต้องมีดีไซน์ ต้องตอบ  โจทย์การใช้ประโยชน์ของผู้ใช้ได้มากขึ้น  ฉะนั้น ถ้าเราช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้เร็ว ก็จะส่งผลต่อรายได้ของพวกเขา ของชุมชน และภาพรวมของประเทศในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ขนาดใหญ่ในอนาคต  กรมฯ มองว่า เมื่อสถานการณ์โควิดผ่อนคลายมากกว่านี้ เราจะจัดอยู่แน่นอน เพราะจากการพูดคุยกับผู้ซื้อผู้บริโภคในงาน  ส่วนใหญ่มองว่า สินค้าจำพวกผ้าเครื่องแต่งกาย ยังต้องอาศัยการมาชม มาสัมผัสของจริง

ทั้งนี้ ในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน  กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งดำเนินงานตามพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการดำเนินงาน โดยกรมฯ ได้บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อเสริมศักยภาพให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ สามารถปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ และสร้างธุรกิจให้แข็งแรง เติบโตได้อย่างยั่งยืน